เดินหน้าไปด้วยกัน ‘สัมพันธ์ไทย-ลาว’ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ 2 ฝั่งโขง จากวันวานถึงพรุ่งนี้

เดินหน้าไปด้วยกัน ‘สัมพันธ์ไทย-ลาว’ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ 2 ฝั่งโขง จากวันวานถึงพรุ่งนี้
ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน อาทิ นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน กลุ่มธุรกิจ ร่วมเวทีเสวนา “70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว : ก้าวสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ผูกพันแนบแน่นช้านานนับร้อยนับพันปีตั้งแต่ยังไม่ก่อเกิดรัฐชาติ สำหรับผู้คน 2 ฝั่งโขง ไทย-ลาว กระทั่งเป็นมิตรประเทศซึ่งพัฒนาความสัมพันธ์ทางทูตอย่างเป็นทางการครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2563

นั่นคือวันนี้เมื่อ 7 ทศวรรษที่แล้ว

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระสำคัญยิ่งระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพและกระทรวงการต่างประเทศ จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการ “70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว : ก้าวสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ดอกไม้ ธงชาติ พระธาตุ ‘ศรีสองรัก’สัญลักษณ์สัมพันธ์ ‘หมั้นยืน’

Advertisement

เริ่มต้นด้วยการย้อนประวัติศาสตร์ยาวไกล โดย วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเล่าว่า ไทยและ สปป.ลาวเป็นสองประเทศที่มีความใกล้ชิดอย่างแนบแน่นทั้งทางภูมิศาสตร์และทางสังคมวัฒนธรรม โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้พัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วิชาวัฒน์ให้คำมั่นว่าไทยจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลลาวเพื่อต่อยอดความสัมพันธ์โดยมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ยังเปิดตัวสัญลักษณ์ 70 ปี การทูตไทย-ลาว ซึ่งประกอบไปด้วยภาพของพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งสร้างโดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้างและพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของทั้งสองประเทศ พร้อมด้วยธงชาติและดอกไม้ประจำประเทศไทยคือ ราชพฤกษ์ และลาวคือ จำปาลาว

Advertisement
(จากซ้าย) แสง สุขะทิวง, วิชาวัฒน์ อิศรภักดี และเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ

ด้าน แสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย เล่าถึงสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นว่า ตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ของไทยและ สปป.ลาวเมื่อปี 2493 ประชาชนทั้งสองประเทศก็ได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและไปมาหาสู่กันตลอดมา นอกจากนี้พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยได้เสด็จเยือน สปป.ลาว เพื่อเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริอยู่เสมอ และทั้งสองประเทศยังได้เผชิญวิกฤตร่วมกันทั้งภัยแล้ง อุทกภัยและล่าสุดคือโควิด-19 โดยหวังว่าด้วยความร่วมมือของไทยและ สปป.ลาวจะทำให้พวกเราก้าวผ่านวิกฤตไปได้อีกครั้งพร้อมขอบคุณรัฐบาลและประชาชนไทยที่ช่วยเหลือชาว สปป.ลาวเสมอมา โดยหวังว่าการร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะดำเนินต่อไป และขอให้ความสัมพันธ์ของไทย-ลาวมั่นคงต่อไป

ในขณะที่ เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้งานนี้ดำเนินต่อไปแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม และหวังว่าจะมีการจัดงานสัมมนาซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต่อไป

ห้วยซอน-ห้วยซั้ว และโพนโฮง อนาคตยั่งยืนบน ‘แคมทางเลข 13’

จากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ มาถึงภาพความร่วมมือในยุคร่วมสมัย พร้อมมองไกลสู่อนาคต อย่าง ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเลขที่ 13 เมืองนาทรายทอง ถือกำเนิดขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง ร.9 เมื่อ พ.ศ.2537 โดยมีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของลาวและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการในพระราชดำริ (กปร.) สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ ร่วมดูแล นำไปสู่การพัฒนาและบริการด้านกสิกรรม หนองเต่า บ้านโนนสิม สะหวันนะเขต โรงพยาบาลโพนโฮงซึ่งเป็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและประเทศลาว ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 13 เช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลลาวได้เสนอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการพัฒนา เช่น การสร้างศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและศูนย์รับรองผู้ป่วยอุบัติเหตุเบื้องต้นและส่งต่อ

ลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า โครงการนี้ ดำเนินมามากกว่า 27 ปี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พัฒนาด้านกสิกรรมและด้านอื่นๆ ส่งผลให้คนลาวมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือของฝ่ายไทยต้องตรงกับความต้องการของชาวลาว

ด้าน ดำรง ใคร่ครวญ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ ระบุว่า โพนโฮงตั้งอยู่บนถนนสาย 13 ที่มีประชากรอาศัยอยู่และสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดโรงพยาบาล ไทยจึงได้เข้าช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-ลาวประสบความสำเร็จ นอกจากเรื่องกสิกรรมและสาธารณสุขแล้ว การพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ และหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนแพทย์ระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลคู่ขนานเช่น รพ.เวียงจันทน์และหนองคาย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในไทยมีการให้ทุนเป็นจำนวนมากในด้านสาธารณสุข และมีการให้ข้อมูลด้านดังกล่าวแก่ประชาชนลาวอย่างต่อเนื่อง

จากมุมมองฝั่งไทย มาฟังความเห็นฝั่งลาวกันบ้าง

(จากซ้าย) กาวีพด ยะพิจิด, ดำรง ใคร่ครวญ และลลิต ถนอมสิงห์

กาวีพด ยะพิจิด เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย เผยว่า โครงการห้วยซอนห้วยซั้วได้ช่วยให้ชาวลาวมีงานทำ ส่วนโครงการโพนโฮงได้ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด

“สิ่งที่ชาวลาวต้องการคือทั้งโครงสร้างพื้นฐานอย่างอาคารและทรัพยากรมนุษย์ ขาดสิ่งอื่นสิ่งใดไปไม่ได้ โดยในแต่ละปีมีแพทย์จากลาวได้ไปศึกษาในไทยเพื่อกลับมาพัฒนาโรงพยาบาลในลาวต่อไป นอกจากนี้การเรียนรู้จากไทยดีกว่าชาติตะวันตกเพราะสามารถนำมาใช้กับ สปป.ลาวได้เลย เพราะไทยและลาวมีวัฒนธรรมการกินการอยู่การพูดที่คล้ายกัน” กาวีพดกล่าว

ลงทุน ร่วมธุรกิจ สร้างชีวิต 2 มิตรประเทศ

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องมีในเวทีเสวนา นั่นคือความร่วมมือด้านธุรกิจ ซึ่งในวันนี้พัฒนาไปไกล และมีข้อมูลน่าสนใจให้เกาะติดความคืบหน้า

ทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด คือหนึ่งในวิทยากรที่มาบอกเล่าถึงการเริ่มทำธุรกิจในลาวตั้งแต่ ค.ศ.2008 โดยเริ่มจากปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาล เนื่องจากลาวมีภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมในการปลูกอ้อย ส่วนการลงทุนในลาวก็มีความน่าสนใจ

“เนื่องจากยุโรปให้ priority ในการนำเข้าน้ำตาล แต่ก่อนจะเข้าไปลงทุนเราต้องมีผู้เชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจในวัฒนธรรม แจกจ่ายให้ stakeholder ทุกคน เช่น ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพในมาตรฐานสากล ต่อมาคือชาวไร่ มิตรผลในลาวซึ่งมีมากกว่า 1,100 ครัวเรือน จะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและได้รับองค์ความรู้ ส่วนพนักงานของมิตรผลอีก 400 คน ในลาวจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและมีการพัฒนาเพื่อให้มีองค์ความรู้ให้บริหารตนเองได้ ส่วนชุมชนโดยรอบจะต้องได้รับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และประเทศลาวยังมีข้อได้เปรียบเรื่องดินที่ยังอุดมสมบูรณ์ซึ่งเหมาะกับการปลูกน้ำตาลออร์แกนิก ส่วนฝั่งราชการบริษัทมิตรผลมีการจ่ายภาษีท้องถิ่นกว่า 22 ล้านบาท นอกจากนี้มิตรผลยังได้ให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีแก่ชาวลาวคือ จีพีเอสซึ่งสามารถบอกที่มาของน้ำตาลได้ด้วย” ตัวแทนจากมิตรผลกล่าว

ด้าน ณรงค์ ตนานุวัตน์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทตนานุวัฒน์ จำกัด ซึ่งเข้าไปลงทุนในธุรกิจ “คอมมูนิตี้มอลล์” ที่ สปป.ลาวเมื่อปี 2004 เล่าว่า ก่อนหน้านั้นทำคอมมูนิตี้มอลล์อยู่แล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ประกอบกับมีเพื่อนลงทุนทำธุรกิจในลาว และเห็นว่าที่ลาวกับไทยสามารถพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจดี นอกจากนี้ตนก็มีความเข้าใจในท้องถิ่น จึงได้ตัดสินใจไปลงทุนในลาว โดยทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมด้วย

“ก่อนจะเข้าไปต้องศึกษาความเป็นมาของลาวก่อน เพราะแม้จะมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันแต่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ข้อดีของ สปป.ลาวคือเป็นแลนด์ลิงก์ที่สามารถเชื่อมต่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและไทยได้ มีทรัพยากรมากมายทั้งถ่านหินและพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเหมือนแบตเตอรี่ของเอเชีย นอกจากนี้ถนนของลาวสามารถเชื่อมไปได้ทั่วเอเชียและมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังสร้างอยู่ กลุ่มตนานุวัฒน์ได้ตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ทำโรงแรมและสร้างคอมมูนิตี้มอลล์เมื่อปี 2013 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากประชาชนไม่คุ้นเคย แต่สุดท้ายก็สามารถเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ที่ประสบผลสำเร็จได้หลังจากถอดบทเรียนเพื่อแก้ปัญหา ต่างชาติเข้าไปลงทุนในลาวเยอะเพราะเห็นโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผมได้ไปลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยและลาว” นักธุรกิจตัวจริงเผยข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ชี้ให้เห็นมิติหลากหลาย

ในขณะที่ บุนถอง โสพาวันดี อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ-การค้า สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในการทำธุรกิจต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง และรู้เขารู้เรา การพัฒนาต้องพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสังคมและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องปรับและเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากไม่ปรับเปลี่ยนก็อาจประสบความสำเร็จได้ยาก ส่วนความร่วมมือของไทย-ลาวมี 3 ระดับ คือระดับประเทศ ระดับกระทรวงซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมการค้าของลาว และระดับแขวง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ต้องมีความสมดุลระหว่างสังคมที่เจริญและทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องได้รับการปกปักรักษา

นอกจากวิทยากรบนเวที ยังมีผู้ร่วมแสดงความเห็นน่าฟัง ดังเช่น จตุรงค์ บุนนาค จากสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งลุกขึ้นสะท้อนปัญหาบางประการที่อยากให้มีผู้มีอำนาจพิจารณาประเด็นเชิงกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อคนลาวข้ามแดนมาอบรมอาชีพในไทย วีซ่าอยู่ได้เพียงเดือนเดียวซึ่งไม่เพียงพอ หากจะอยู่ต่อ พูดง่ายๆ คือต้องข้ามกลับไป “ปั๊ม”

(จากซ้าย) ณรงค์ ตนานุวัฒน์, บุนถอง โสพาวันดี และทักษ์ ศรีรัตโนภาส

“ขณะนี้รัฐบาลลาวกำลังผลักดันให้มีการพัฒนาด้านอาชีวศึกษา แต่ชาวลาวยังคงขาดทักษะอยู่ ทางไทยมีทักษะและวิทยากรหลายท่านก็แนะนำให้มาฝึกอบรมที่ไทย แต่ยังมีปัญหาในข้อกฎหมายอยู่มาก เช่น เรื่องวีซ่าเข้ามาฝึกอบรมเดือนหนึ่งก็ต้องกลับประเทศไปปั๊มทีหนึ่ง ซึ่งการฝึกอบรมเดือนเดียวมันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการฝึกอบรมด้านอาชีวะ” จตุรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-10 นักศึกษาลาวที่เรียนในไทย ทุกวันนี้ก็ยังมีบางส่วน ไม่สามารถข้ามกลับมาเรียนได้ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากในเวลาที่เสียไป

จาก ‘สะบายดีหลวงพะบาง’ ถึง WOW เบิ่งมิตรภาพบนแผ่นฟิล์มและแฟชั่น

ปิดท้ายด้วยประเด็นด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความบันเทิง ซึ่งหนึ่งในหนังดังในความทรงจำทั้งของคนไทยและลาว ไม่พ้น “สะบายดีหลวงพะบาง” นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม ดาราหนุ่มชื่อดังชาวไทย และ อาลี่ คำลี่ พิลาวง ดาราสาวดาวรุ่งชาวลาวที่แสดงภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องแรก

ศักดิ์ชาย ดีนาน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ย้อนเล่าถึงกระบวนการผลิตว่า การจะสร้างภาพยนตร์ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ก่อนจึงจะสามารถถ่ายทำได้ จากการทำภาพยนตร์ว่าทำให้ชาวไทยสนใจและรู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ลาวคือคนเริ่มทำหนังมากขี้นหลังจากเห็นว่าหนังที่คนไทยทำได้รับความสนใจจากชาวลาว และหลังจากที่อุปกรณ์การถ่ายทำอย่างกล้องมีราคาถูกลง ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวลาวทำภาพยนตร์มากขึ้น ราว 4-5 เรื่อง ซึ่งเพิ่มจากในอดีตที่มีปีละ 1-2 เรื่องเท่านั้น

ด้าน ปัญญาสิทธิ์ ธรรมวงศา เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สะบายดีหลวงพะบาง” ทำให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของวงการภาพยนตร์มากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยัง สปป.ลาวมากขึ้น

“หากมีผู้ทำภาพยนตร์ที่สนใจเข้าไปถ่ายทำในลาวก็สามารถยื่นเจตจำนงได้เลยและหากมีความจริงใจการทำงานจะเป็นไปอย่างราบรื่น” ปัญญาสิทธิ์ทิ้งท้าย

ส่วนงานด้านนิตยสารที่ชัดเจนอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ไทย-ลาว นั่นคือ นิตยสาร 2 ภาษา Wow Magazine Society ซึ่งฮิตมากใน สปป.ลาว โดยมีผู้บริหารเป็นคนไทย

สุวัฒน์ เทศน์สาลี ผู้บริหารนิตยสารฉบับดังกล่าว ระบุว่า เป้าหมายในการทำนิตยสารภาษาไทย-ลาวคืออยากให้ดาราและผู้มีชื่อเสียงของไทยและลาวเป็นที่รู้จัก อยากให้ทั้งสองประเทศเชื่อมต่อกันรู้จักกัน เช่น นำดีไซเนอร์ไทยกับนางแบบลาวมาทำงานร่วมกัน ส่วนแฟชั่นมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ไทย-ลาวแน่นแฟ้นขึ้นโดยการเปิดแฟชั่นโชว์ของดีไซเนอร์ไทยในลาว นอกจากนี้วัฒนธรรมระหว่างไทยและลาวที่มีความใกล้เคียงกันยังมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นับเป็นเวทีที่มีแง่มุมหลากหลายให้ทบทวนความทรงจำในความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเกาะติดสถานการณ์ปัจจุบันในความร่วมมือของสองชาติ และฉายภาพอนาคตที่จะยังมั่นคงบนก้าวต่อไปในวันพรุ่งนี้

ณัฐณิชา นิจผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image