ปี64ปัจจัยรุมศก.อื้อ ศูนย์พยากรณ์หอค้า หั่นจีดีพีเหลือ 2.8% จี้รัฐเติมเงิน1-2แสนล้านทุก3เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จากเดิมคาดขยายตัว 3-4% เหลือขยายตัว 2.8% ผลจากปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีสูงและโอกาสผันผวนมาก ซึ่งปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มียังมีทิศทางยืดเยื้อ กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชะลอตัว 2. การเปราะบางทางการเมืองในประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง 3. เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติ และมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อาจถึง 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 4. ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงนานกว่าปี2563 จะกระทบต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าวนาปรังผลผลิตอาจหายไป 5 ล้านตันข้าวเปลือก จากผลผลิตปกติ 10 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 30,000-50,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า 5. ตัวเลขการส่งออกลดลง เดิมคาดไว้บวก 5% ลดเหลือบวก 3.5% เนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออก และค่าระวางขนสินค้าปรับขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งภาคเอกชนประเมินว่ากว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหลังเดือนพฤษภาคม ผนวกกับค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลต่อราคาส่งออกสินค้าไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง กดดันขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก 6. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน จากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ปัจจัยบวกที่จะหนุนการเศรษฐกิจขยายตัวได้เกิน 2.8% และไม่ให้แย่ลงกว่าถึง 1.8 % ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30% คือ การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ก้าวหน้าและสามารถใช้ได้จริงกลางปีหน้าเป็นต้นไป เศรษฐกิจจีนเร็วกว่าที่คาดการณ์จะดึงกำลังซื้อและการค้าโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เกินซ้ำหรือรุนแรงจนปิดประเทศหรือลอ็กดาวน์ธุรกิจไปทั่วโลก จะช่วยให้การผลิตและการบริการได้ตามปกติ ที่สำคัญรัฐบาลไทยยังต้องออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย เยียวยา และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น การต่อโครงการคนละครึ่งเฟส3-4 ซึ่งระดับคนได้สิทธิ 15-20 ล้านคน คนละ 3,500 บาทนั้นเหมาะสม รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทั้งกระตุ้นเดินทางหรือจัดสัมมนาในวันธรรมดา หยุดยาวเพื่อการท่องเที่ยว และมอบสิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่มที่เดินทางวันธรรมดา เพราะคาดว่าปี 2564 น่จะมีนักท่องเที่ยวแค่ 4 ล้านคน แต่หากสถานการณ์โควิดแย่ลงอาจเหลือแค่ 2 ล้านคน ซึ่งขณะนี้จำนวนห้องพักยังต่ำเฉลี่ยแค่ 30% ซึ่งหากจะให้ธุรกิจอยู่ได้ต้องเกิน 40-50%

” มาตรการรัฐยังเป็นปัจจัยบวกแรกที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐควรออกมาตรการต่างๆและช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจให้อยู่รอดได้ อย่างน้อยต่อเนื่อง 2ไตรมาสในปีหน้า ไตรมาสละ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยังเชื่อวงเงินกู้4แสนล้านบาท อีกกว่า 2.8 แสนล้านบาท เพราะปัจจับลบต่างๆกว่าจะคลี่คลายก็เข้าไตรมาส 3 หรืออาจถึงต้นไตรมาส 4 โดยที่รัฐต้องระวังคือปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานอาจสูงขึ้น พร้อมกันนี้รัฐบาลควรเตรียมพร้อมเรื่องการกู้เงินเติมอีก 1-1.5 ล้านล้านบาท เพื่ออัดฉีดหลังโควิดคลี่คลาย หรือสำรองหากสถานการณ์โควิดเลวร้ายลงอีก ประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ใกล้เคียงก่อนโควิดระบาดก็ปี 2565 ”

ADVERTISMENT

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจากนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ที่ติดลบถึง 12.5% ดังนั้นการประชุมนโยบายการเงิน(กนง.)ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ส่วนเรื่องที่ไทยถูกจับสหรัฐจับตาเรื่องการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น หากเป็นการดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท จนกระทบต่อภาคเกษตรที่ขายสินค้าได้ลดลง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ควรจะยังดูแลต่อเนื่อง ซึ่งการแทรกแซงเพื่อปกป้องคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ใช่การบิดเบือนค่าบาทก็ไม่น่าจะต้องกังวล ซึ่งเชื่อว่าธปท.ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปจะกระทบต่อส่งออกและภาคเกษตรไทยมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image