ม็อบพัก รัฐบาลฮึด การเมือง ท้าทาย ความชอบธรรม

ม็อบพัก รัฐบาลฮึด การเมือง ท้าทาย ความชอบธรรม

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นข้อกล่าวหาเรื่องพักบ้านหลวง ดูเหมือนว่าการให้ความสำคัญต่อกาาระงับความขัดแย้งกับกลุ่มราษฎรจะแผ่วลง

สัมผัสได้จากความกระตือรือร้นในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งมีข่าวว่าจะส่ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้ อีสาน และ นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นตัวแทน

แต่ภายหลังรายชื่อที่เสนอให้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เปลี่ยนแปลง

จากชื่อ นายสุภรณ์ กับ นายธนกร กลายเป็นชื่อ พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ จากพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

เช่นเดียวกับการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เกิดการปะทะกันระหว่างตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน ตัวแทนจาก ส.ว. และตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล

กระทั่งการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม เมื่อ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการขอให้ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ขึ้นเป็นประธานแทน ที่ประชุมได้เกิดข้อถกเถียงกันเรื่องทำประชามติในหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 หรือไม่

การโต้แย้งดำเนินไปจนประธานในที่ประชุมขณะนั้นต้องสั่งปิดการประชุม

Advertisement

ขณะที่ในสภามีความเคลื่อนไหวในทำนองดังกล่าว ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ดำเนินการออกหมายเรียกกลุ่มราษฎรมารับข้อกล่าวหา

ทั้งข้อกล่าวหา ม.112 และข้อกล่าวหา ม.116

หมายเรียกที่แจ้งให้บรรดาแกนนำเข้ามอบตัวว่อนไปทั่ว ทั้ง นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน

น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล น.ส.จุฑาทิพย์ หรือ อั๋ว ศิริขันธ์ นายทัตเทพ หรือ ฟอร์ด เรืองประไพกิจเสรี นายชนินทร์ หรือ บอล วงษ์ศรี นายเกียรติชัย หรือ บิ๊ก ตั้งภรณ์พรรณ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ารับข้อกล่าวหา

นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ กลุ่มขอนแก่นพอกันที ได้รับหมายเรียก

แม้แต่ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย ที่นำอาหารเข้าไปช่วยม็อบก็โดนข้อหา ม.112

นอกจากนี้บรรดานักเรียนอายุ 16 ปี ก็ต้องเข้ารับข้อหา ม.112 เจ้าหน้าที่ส่งตัวให้ศาลเยาวชนพิจารณา และได้รับการประกันตัวออกมา

น่าสังเกตว่าการดำเนินการทั้งในสภาและนอกสภามักเกิดขึ้นหลังจากที่ภาครัฐประเมินว่าม็อบแผ่ว

หลังจากที่กลุ่มราษฎรชุมนุมกันวันที่ 10 ธันวาคม และประกาศจะนัดชุมนุมกันใหม่ปีหน้า ทำให้มีการประเมินว่าม็อบเริ่มถดถอย

เมื่อม็อบเริ่มถดถอย ตัวแทนฝ่ายมีอำนาจในสภาก็เริ่มเกี่ยงงอนกับข้อเสนอเพื่อลดความขัดแย้งของที่ประชุมรัฐสภา

ความสำคัญของคณะกรรมการสมานฉันท์ลดน้อยถอยลง ขณะที่คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มมีกระแสงัดข้อขัดแย้ง

ขณะที่ภายนอกสภา เจ้าหน้าที่รัฐเดินเครื่องดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราจัดการกับม็อบที่กระทำผิด

เจ้าหน้าที่ยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งในการแจ้งข้อหาและดำเนินคดี

ทุกอย่างที่ปรากฏสะท้อนภาพของการดำเนินการจากภาครัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล

ภาพที่ปรากฏคือการดำรงอยู่ของความขัดแย้งที่มิได้ลดน้อยลงไป

ภาครัฐเมื่อประเมินว่าม็อบแผ่ว และไม่มีศักยภาพในการโค่นล้มรัฐบาลได้ จึงดำเนินการตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม

ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาขับเคลื่อน ใช้อำนาจกฎหมายจัดการ

หวังให้เกิดความกลัว และปิดหนทางเอาชนะรัฐบาลได้

การดำเนินยุทธวิธีเช่นนี้ ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไร

แต่หากรัฐบาลเห็นชอบวิธีการดังกล่าว ความยุ่งยากอาจเกิดขึ้นมาในภายหลัง

ทั้งนี้เพราะ แม้ม็อบจะไม่มีศักยภาพในการล้มรัฐบาล แต่ม็อบก็มิได้มีเจตนาจะยึดอำนาจจากรัฐบาลอยู่แล้ว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการระดมกำลังกันมาแสดงออกทางความคิด

ความคิดที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล

กลุ่มผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการปะทะ แม้จะมีความพยายามวางกับดักให้เกิดความรุนแรง แต่การชุมนุมทุกครั้งฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บและถูกกระทำกลับกลายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม

ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถนนราชดำเนิน ที่หน้ารัฐสภา เป็นต้น ล้วนมีตัวอย่างดังว่า

เช่นเดียวกับ การใช้กฎหมายดำเนินการกับแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายกับนักเรียน อายุ 16 ปี

คือ การบังคับใช้กฎหมายกับคนเห็นต่าง

กลายเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยิบยกขึ้นมาฟ้องต่อโลก

นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ถึงกับโพสต์ข้อความ

การเอาตัวเด็กอายุ 16 ไปสถานพินิจด้วยข้อหา 112 คืออาการป่วยที่เกิดขึ้นกับประเทศเรา

การดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐ ดูเหมือนกับว่าจะเป็นฝ่ายรุกกลุ่มราษฎร แต่ทุกครั้งที่ข้อวิพากษ์จบลง ประเด็นที่ทิ้งไว้ให้สังคมมองเห็นเสมอ กลับทำให้กลุ่มราษฎรมีราศีขึ้น

ทำให้กลุ่มราษฎรพบกับข้อโต้แย้งเรื่องความชอบธรรม

เมื่อใดที่สังคมมองเห็นว่า เสียงในรัฐสภาที่มีมากนั้นหมดความชอบธรรม การดำเนินการของรัฐสภาย่อมมีปัญหา

เมื่อใดที่สังคมมองว่า รัฐบาลใช้อำนาจกฎหมายแบบไม่ชอบธรรม การดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายที่รัฐบาลกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ ย่อมมีปัญหา

เมื่อใดที่ประชาชนเห็นว่ากฎหมายไม่ชอบธรรม อำนาจที่มีอยู่ไม่ชอบธรรม เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมบริหารประเทศด้วยความลำบาก

ดังนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภา ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อความชอบธรรม

กฎหมายที่ชอบธรรม วิธีการบังคับใช้กฎหมายที่ชอบธรรม

ถ้ามีอะไรที่เกินกว่าเหตุ จำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเรื่องดุลพินิจการบังคับใช้กฎหมาย หรือการแก้ไขตัวบทกฎหมายที่สร้างความไม่ชอบธรรมขึ้นมา

แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่นับวันจะมีคนเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายที่ชอบธรรม

จึงต้องเร่งแก้ไขและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ และผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ได้รับการยอมรับ

เมื่อใดทำได้เช่นนี้ เมื่อนั้นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะเบาบาง

แต่ถ้าไม่ ความชอบธรรมจะกลายเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาต่อไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image