คนเลี้ยงหมูแฉไม่ส่งออกเขมร เสียหายเดือนละ4,500ล้าน ไม่มีคนรับผิดชอบ นัดชุมนุมหน้าทำเนียบ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาการส่งออกสุกรมีชีวิตไปประเทศกัมพูชา ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งออกได้อันเนื่องมาจากความขัดแย้ง ของโบรคเกอร์ ระหว่าง กลุ่มที่ได้รีบสิทธิ์ในการทำการค้ากับทางกัมพูชา กับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ์ ที่ใช้รถยนต์และรถบรรทุกปิดกั้นถนนไม่ให้รถขนสุกรผ่านจุดผ่านแดนได้ เป็นปัญหามานานมากกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ปริมาณสุกรล้นตลาด กระทบต่อราคาหมูที่ตกต่ำลงอย่างมาก จากราคาสุกรหน้าฟาร์มที่เคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้ราคาตกต่ำอย่างหนักราคาขายจริงบางภูมิภาคหล่นลงไปถึง60 กว่าบาทต่อก.ก. แล้ว

ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ที่ สศก. คำนวณสูงถึง 75 บาทต่อก.ก. เท่ากับเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องมารับผลกรรมที่ไม่ได้ก่อ ทั้งๆที่ต้องจำยอมกับภาวะขาดทุนมานานกว่า 3 ปี และยังต้องก้มหน้าแบกรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) จนไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ปลอดจากโรคนี้ คนไทยไม่ต้องกินหมูแพงเหมือนประเทศอื่นที่มีปัญหา ASF

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 4,500 ล้านบาท จากราคาสุกรที่ลดลงคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท จากการผลิต1.85 ล้านตัวต่อเดือนและการส่งออกสุกรมีชีวิตที่ต้องหยุดชะงักเป็นมูลค่าสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีผู้รับผิดชอบ

Advertisement

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา ผ่านนายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกรมปศุสัตว์ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และไร้วี่แววว่าเมื่อไหร่การส่งออกสุกรจะเกิดขึ้น

“เรื่องนี้ประชุมไปหลายครั้ง โดย 7ธันวาคม รองนายกฯ จุรินทร์ นั่งหัวโต๊ะ โดยที่แท้จริงแล้วกระทรวงพาณิขย์ดูแลเรื่องตลาดน่าจะตัดสินใจ ทำอะไรสักอย่าง และยังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการ แต่หลังประชุมหารือแล้วเสร็จ ก็ยังให้เกษตรกรรอคำตอบโดยไม่มีกำหนด นั่งดูความเสียหายต่อไป ส่วนกระทรวงเกษตรเป็นผู้ผลิตถือว่ามีผลงานที่ดีเยี่ยมเกษตรกรขอชื่นชม แต่กรมปศุสัตว์เป็นผู้มีอำนาจโดยตรงเรื่องกฎระเบียบควรจะตัดสินใจ ตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งหากไม่ทำจะเกิดการละเว้นตามมาตรา157 ได้ ด้านข้อโต้แย้งเรื่องการค้าเสรีในการเป็น AEC ต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ใครจะไปร้องเรียนเชิญที่กระทรวงนี้และท่านควรเข้ามาร่วมทำหน้าที่เช่นกัน ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ค้าเสรีต่างประเทศ”

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวว่าขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนักเพราะต้องขายหมูขาดทุน ภาครัฐและเอกชนร่วมกรมปศุสัตว์ลงทุนปัองกันโรค ASF จนสำเร็จ ผลประโยชน์น่าจะตกกับเกษตรกรและประเทศชาติแต่ทำไมจึงโยนปัญหานี้ไปมา หาคนรับผิดชอบไม่ได้ หรือมีผู้มีอิทธิพลแสวงหาประโยชน์บนความลำบากของเกษตรกรอยู่เบื้องหลัง

“คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจึงจะนัดรวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อไปทวงถามคำตอบจากท่านนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายใน 7 วัน นับจากการประชุม 5 ฝ่ายที่กระทรวงพาณิชย์ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการประชุมยังต้องรอเสนอให้ท่าน รมว.พาณิชย์ พิจารณาก่อน โดยไม่ได้กำหนดว่าจะให้คำตอบได้เมื่อใด รออย่างไร้ความหวัง พวกเราทุกคนไม่อยากก่อความวุ่นวายให้กับรัฐบาล แต่ก็ไม่มีทางออกและกลัวว่าจะต้องล้มตายกันหมด” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image