เขตเมืองปลามีนบุรี

เขตเมืองปลามีนบุรี

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นคำกล่าวถึงเมืองไทยในอดีต แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือ ไปไหนมา กินข้าวกินปลามาหรือยัง เป็นคำทักทายของคนไทยเวลาไปมาหาสู่กัน ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับข้าว และปลา

ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า มีน ว่า น. ปลา ดังนั้น นามเขต มีนบุรี คือ เมืองปลา นั่นเอง

Advertisement

นามนี้มีที่มาตั้งแต่รัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน มีการจัดตั้งมณฑล และจัดแบ่งพื้นที่การปกครอง เป็นบ้าน หมู่ ตำบล อำเภอ และเมือง รวมทั้งมีการจัดตั้งเมืองขึ้นมาใหม่หลายแห่ง

หนึ่งในเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นอยู่ในพื้นที่ชานพระนครทางทิศตะวันออก เรียกขานกันว่าทุ่งแสนแสบ

ตามหลักฐานที่พบ ในหนังสือกราบบังคมทูลของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2445 มีความดังนี้

Advertisement

ศาลาว่าการนครบาล
วันที่ 16 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 121

ข้าพระพุทธเจ้านเรศวรฤทธิ์ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้ตั้งขึ้นที่ทุ่งแสนแสบเพื่อให้ท้องที่การปกครองอยู่ในท้องที่ได้มีความเจริญเนื่องตามเมืองธัญญบุรี ทรงโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าสง่างาม รับราชการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขึ้น …ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต รวมท้องที่อำเภอในทุ่งแสนแสบ คืออำเภอคลองสามวา 1 อำเภอ แสนแสบ 1 อำเภอ จีระดับ 1 อำเภอ หนองจอก 1 รวม 4 อำเภอ ในแขวงเมืองใหม่ ตั้งเมืองที่ตรงใกล้สามแยกคลองสามวา กับคลองแสนแสบ ในอำเภอคลองสามวา ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นอำเภอเมือง…

จะเห็นได้ว่าเมืองใหม่ตั้งขึ้นที่ทุ่งแสนแสบ ที่น่าจะหมายถึงท้องทุ่งริมคลองแสนแสบ คลองที่ขุดขึ้นในปี พ.ศ.2380 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในการสัญจรทางน้ำ

เนื่องจากความยาวของคลองชาวบ้านจึงเรียกขานว่า คลองแสนแสบบ้าง หรือเรียกคลองบางกะปิในช่วงตั้งแต่คูพระนครชั้นนอก คือคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านทุ่งบางกะปิไปจนถึงหัวหมากบ้าง

รวมทั้งมีการเรียกขานว่า คลองบางขนาก เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองต่อจากหัวหมากไปจนถึงบางขนาก ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ลำเลียงเสบียงอาหารและอาวุธให้กองทัพสยามที่กำลังทำศึกสงครามกับญวนได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมคลองสำโรงเพื่อไปยังปากน้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทัพ โดยเริ่มโครงการขุดคลองเมื่อเดือนสอง ขึ้นสี่ค่ำ ตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2380 และขุดแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2483 ดังปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรว่า

…ครั้นมาถึงเดือน 2 ขึ้น 4 ค่ำ จึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 ศอก ราคาเส้นละ 70 บาท รวมเป็นเงินทั้งค่าตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงและค่าขุด รวมเป็นเงิน 1,206 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง ขุดอยู่ถึงปีชวดโทศก ศักราช 1202 จึ่งสำเร็จ…

ทั้งนี้ ในการจัดตั้งเมืองใหม่ยังมุ่งหวังให้เป็นเมืองคู่กับเมืองธัญญบุรี ที่จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านั้น ในพื้นที่ที่ราบกว้างใหญ่ ชานพระนครทางด้านทิศเหนือที่เรียกขานว่าทุ่งหลวง ของมณฑลกรุงเทพ

เดิมทีบริเวณดังกล่าวมีปัญหาขาดแคลนน้ำแต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ บริษัทคลองแลคูนาสยาม ขุดคลองส่งน้ำ ในปี พ.ศ.2431 ตามแผนพัฒนาประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งในตอนนั้นคือข้าว สำหรับส่งออกไปต่างประเทศ โดยอาศัยระบบชลประทานสมัยใหม่

หลังจากขุดคลองต่างๆ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2440 ผู้คนเรียกขานคลองขุดใหม่ว่า คลองเจ้าสาย ตามพระนามของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หนึ่งในผู้จัดตั้งบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตามพระนามของ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเนื่อง พระธิดาในพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

รวมทั้งมีการสถาปนาเมืองธัญญบุรี ที่หมายถึง เมืองข้าว โดยเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดที่ทำการเมือง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2445

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงกราบบังคมทูลเกี่ยวกับนามเมืองใหม่ที่สถาปนาพร้อมกันว่า

…แลนามเมืองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเหล่าฯ ว่าถ้าเป็น เมืองปลา คู่กับ เมืองเข้า(ข้าว) ก็ควร เพราะตำบลแสนแสบเป็นที่มีบ่อปลามาก หรือจะสมควรมีนามเมืองโดยความหมายสถานใดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ…

รวมทั้งอ้างถึงนามเมืองใหม่ที่ พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม คัดเลือกคำที่มีความหมายถึงปลาไว้หลายชื่อด้วยกัน

วัดราชประดิษฐ์
วันที่ 26 กรกฎาคม ร.ศ.121

ขอถวายพระพร ทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ทรงทราบเรื่องนามเมืองแสนแสบ อาตมาภาพเลือกเห็นพอจะใช้ได้ 3 ชื่อ ดังทูลถวายมานี้
มีนบุรี บุญชธานี เมสบุรี
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ขอถวายพระพร
พระสาสนโสภณ

ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือก และพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า มีนบุรี

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 26 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 121

ถึง กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์

ด้วยเธอจดหมายที่ 10/2212 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม ร.ศ.121 เรื่องจะรวมท้องที่อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอจีระดับ อำเภอหนองจอก รวม 4 อำเภอ ตั้งขึ้นเปนเมืองใหม่ ตั้งเมืองที่ตรงใกล้สามแยกคลองสามวากับคลองแสนแสบ แลจะเปลี่ยนอำเภอคลองสามวาเปนอำเภอเมืองนั้น ได้ตรวจดูแล้ว การที่จะตั้งเมืองใหม่นั้นเปนการสมควรแล้วอนุญาตให้ตั้ง

อนึ่ง ชื่อเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ ให้ชื่อว่า มีนบุรี เมืองมีนบุรี

จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2445 แจ้งความกระทรวงนครบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวม 4 อำเภอในทุ่งแสนแสบยกขึ้นเป็นเมืองมีนบุรี และให้หม่อมเจ้าสง่างาม เป็นข้าหลวงรักษาราชการเมือง

ในเดือนมกราคม ร.ศ.126 (หากนับอย่างปัจจุบันคือ ปี พ.ศ.2451) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดรถไฟสายตะวันออก (ถึง ฉะเชิงเทรา) เมื่อทรงประกอบพิธีเปิด ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ เสร็จแล้ว จึงได้เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง

ตอนเสด็จกลับ พระองค์มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรคลองแสนแสบ จึงเปลี่ยนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินกลับโดยทางเรือ และมีพระราชหัตถเลขาบันทึกเหตุการณ์เสด็จประพาสในครั้งนั้นไว้ เมื่อพระองค์ได้ประทับแรมที่เมืองมีนบุรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม มีความตอนหนึ่งว่า

…พอออกจากวัดปากบึง ประเดี๋ยวก็เข้าแดนเมืองมีน คลองตอนนี้หน้าตาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คือรากไม้เกาะยึดและมีต้นไม้ริมคลองมากขึ้นมีบ้านเรือนรายมาจนถึงหนองจอก เป็นหมู่ใหญ่ เรือนฝากระดานหลังโตๆ หน้าตาบางกอกออกไปถึง มีหลังคามุงกระเบื้องเฟอแรนโด เห็นวัดสักวัดเดียวเท่านั้น เพราะแถบนี้เป็นบ้านแขก คือแขกพวกหลวงอุดมทีเดียวมิใช่อื่นไกลเลย เห็นกองเข้าลานนวดเข้ากำลังนวดอยู่บ้าง ร่องรอยแห่งความบริบูรณ์ปรากฏผิดกับข้างตอนฉะเชิงเทรามาก…ไม่ช้านักผ่านบ้านแขกและสุเหร่าแขกอีก 2 แห่ง ถึงแสนแสบ ตอนนอกนี้ไม่สู้มีบ้าน แลเห็นที่ตั้งการปกครองแต่ไกล…

ในสมัยรัชกาลที่ 7  มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2474 ว่ามณฑลและจังหวัดตามที่แบ่งไว้เดิมนั้น เวลานี้การคมนาคมสะดวกขึ้นมากพอที่จะรวมการปกครองบังคับบัญชาได้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว จึงเห็นสมควรจะยุบรวมมณฑลและจังหวัดเพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดินลงได้บ้าง ในประกาศดังกล่าวจึงให้ จังหวัดมีนบุรี รวมไว้ในจังหวัดพระนคร เว้นแต่อำเภอหนองจอกให้ยกไปขึ้นในปกครองจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2498 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งสุขาภิบาลมีนบุรี อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร และวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2506 มีการเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเมืองมีนบุรี อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร โดยกำหนดหลักเขตเป็นขอบเขตพื้นที่ ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จึงมีการตั้งตำบลทรายกองดินใต้และเปลี่ยนแปลงตำบลทรายกองดินในท้องที่อำเภอมีนบุรี

อำเภอมีนบุรีได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตมีนบุรี หลังจากมีประกาศให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เรียกเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมาตามประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 แบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นแขวง รวม 7 แขวง และในที่สุดเมื่อ พ.ศ.2540 มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตมีนบุรี โดยแยก 5 แขวงทางด้านเหนือ ไปจัดตั้งเป็นเขตคลองสามวา เป็นผลให้เขตมีนบุรีเหลือพื้นที่ปกครองอยู่ 63,645 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่การปกครองใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของกรุงเทพมหานคร และมีอาณาเขตติดต่อกับเขตต่างๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตคลองสามวาและเขตหนองจอก ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตหนองจอก ทิศใต้ ติดต่อกับเขตลาดกระบัง และทิศตะวันตก ติดกับเขตสะพานสูงและเขตคันนายาว เขตมีนบุรี ประกอบด้วยแขวง 2 แขวงคือ แขวงมีนบุรี และแขวงแสนแสบ

สำหรับบ้านแขก และสุเหร่าแขก ที่มีพระราชหัตถเลขาถึง ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงวันนี้ ที่ในเขตมีนบุรีมีมัสยิดมากถึง 16 แห่ง ส่วนวัดแลโบสถ์มีเพียงอย่างละ 1 แห่งเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของเมืองเกษตร กรรม มีนบุรี ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเมืองกลายเป็นถิ่นพำนักอาศัย มีหมู่บ้านจัดสรรมากถึง108 แห่ง ในขณะที่พื้นที่น้ำลดลงไปมาก เหลือคลองและลำรางเพียง 53 แห่งเท่านั้น

จึงเหลือเพียงนามเขต มีนบุรี ที่บอกให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งนั้น ณ ที่แห่งนี้คือ เมืองปลาและเป็นเมืองคู่กับ เมืองข้าว ที่ปัจจุบันธัญบุรี ก็ไม่มีนาข้าวเช่นกัน

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยฯ แผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image