สเปรดเดอร์สมุทรสาคร เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้า

สเปรดเดอร์สมุทรสาคร เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้า

หากย้อนภาพกลับไปเมื่อช่วงสายวันที่ 17 ธ.ค.2563 หรือเมื่อปีที่แล้ว ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้แจ้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19

ในวันดังกล่าว เจอผู้ป่วยใหม่ 20 ราย ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ครั้นพอตกเย็นในเวลา 17.30 น. “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รายแรก เป็นหญิงอายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย (เจ้าของแพปลา) ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร

ส่วนผู้ใกล้ชิดถูกกักกันตัวเฝ้าดูอาการมี 4 กลุ่ม รวม 18 คน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ลูกชายคนที่ 2 (ชาย 31 ปี) กับ เพื่อนลูกชาย (หญิง 25 ปี) ผลไม่พบเชื้อ กักกันที่ รพ.สมุทรสาคร กลุ่มที่ 2 มารดาผู้ป่วยติดเตียง (หญิง 95 ปี) น้องชายผู้ป่วย (ชาย 57 ปี) น้องสะใภ้ (หญิง 57 ปี) พี่สาวคนโต (หญิง 73 ปี) แม่บ้าน (ไป-กลับ) (หญิง 56 ปี) ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอผล กักกันที่บ้าน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ป่วยในช่วงขายของ คือ ลูกชายคนที่ 1 (ชายอายุ 39 ปี) กักกันตัวที่โรงพยาบาล ลูกจ้างเมียนมาชาย 40 ปี กับลูกจ้างเมียนมาชายอายุ 48 ปี อยู่ระหว่างติดตามมาเก็บตัวอย่างและกักกัน ส่วนกลุ่มที่ 4 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ

Advertisement

ขณะที่ตลาดกุ้งตัดสินใจปิดตัว 1 วัน ส่วนแพปลาอยู่ในโซนเดียวกันหยุด 3 วัน พร้อมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

ในเบื้องต้น ผู้ว่าฯสมุทรสาครแจ้งว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าติดเชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาหรือไม่ ไม่รู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากที่ใด ความยากในการสอบสวนโรคคือแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก ประกอบกับสมุทรสาครไม่ใช่จังหวัดปิดห้ามคนเข้าออกนอกพื้นที่

ถัดมาอีก 1 วัน 18 ธ.ค. ผู้ว่าฯสมุทรสาครได้แจ้งกรณีหญิงแพกุ้งติดเชื้อ ได้มีการตรวจผู้ที่เสี่ยงสูงใกล้ตัวต่างติดเชื้ออีก 6 ราย ประกอบด้วย มารดา วัย 95 ปี พี่สาว อายุ 73 ปี น้องสะใภ้ อายุ 57 ปี, ลูกจ้างชายชาวเมียนมา อายุ 40 ปี พ่อค้าในตลาดกลางกุ้ง ที่มีการติดต่อซื้อขายกับผู้ติดเชื้อรายแรก อายุ 42 ปี และเสมียนหญิง อายุ 24 ปี

Advertisement

หลังมีกระแสข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิดในแพกุ้งทำให้ “ตลาดทะเลไทย” ตลาดศูนย์กลางส่งออกสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบ ผู้คนเริ่มเดินน้อยลง แม้จะเป็นคนละตลาด ตั้งอยู่ห่างกัน

19 ธ.ค.2563 จ.สมุทรสาครรายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรวม 13 ราย เพิ่มขึ้นใหม่อีก 6 ราย ประกอบด้วย รายที่ 8 ภรรยาของลูกจ้างชาวเมียนมา รายที่ 9 ผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับตลาดกุ้ง รายที่ 10 อยู่ระหว่างการสอบสวน รายที่ 11 อยู่ในตลาดนัดใกล้กับตลาดกลางกุ้ง รายที่ 12 มาซื้อของที่ตลาดกุ้ง และรายที่ 13 ทำงานที่เดียวกับรายที่ 12 มาซื้อของที่ตลาดกุ้ง

ผู้ว่าฯวีระศักดิ์ยืนยันว่า ผู้ป่วยทั้งหมดเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง ก่อนที่ต่อมาในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 ธ.ค.2563 ได้ไลฟ์สดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเพื่อแจ้งว่า มีการตรวจพบกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย จากจำนวน 1,192 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 ยังพบผู้ที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งในหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 ราย

โดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

นับเป็นตัวเลขที่สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนทั่วไป

ผู้ว่าฯสมุทรสาครได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและหอพักศรีเมือง ห้ามเข้าออกอย่างเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2563-วันที่ 3 ม.ค. 2564 ปิดสถานศึกษาทุกแห่ง ศาสนสถาน พื้นที่ทำกิจกรรมและสถานที่มีผู้คนจำนวนมาก และขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็นในช่วงเวลา 22.00-05.00 น., ห้ามคนต่างด้าวเข้า-ออก จ.สมุทรสาคร โดยเด็ดขาด ส่วนคนไทยยังคงเดินทางได้ตามปกติ

“สถานการณ์วันนี้เราอยู่ในขั้นวิกฤตหนักแล้ว หากไม่มีการยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น อาจจะทำให้เราสู้กับโควิดไม่ชนะ ถ้าอยากให้สมุทรสาครอยู่รอดไม่แพ้แน่นอน วันนี้ต้องยอมเจ็บบ้าง แต่เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้าก็ต้องยอมกันอีกครั้ง” ผู้ว่าฯสมุทรสาครกล่าว

การติดเชื้อโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ยังคงลุกลามต่อเนื่อง เมื่อ 20 ธ.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 146 ราย รวมยอด 694 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวในตลาดกลางกุ้ง การแพร่เชื้อที่ไม่หยุดเช่นนี้ มีการพูดถึงในการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือกับสถานการณ์

ในส่วนของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พร้อมทีมงาน ยังคงทำงานอย่างหนักอย่างต่อเนื่องนำผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย โดยยอดผู้ป่วยสะสมยังเขยิบขึ้นเป็นลำดับ ข้อมูลเวลา 19.00 น. วันที่ 22 ธ.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 1,092 ราย คิดเป็น 22.89% โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเพียง 55 คน คิดเป็น 5.04% และแรงงานต่างด้าว 1,037 คน

นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ประเมินความเสียหายเฉพาะในพื้นที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท

ต่อมา 24 ธ.ค.2563 ผู้ว่าฯสมุทรสาครแจ้งผู้ติดเชื้อโควิด 1,273 คน แต่ถือว่าภาพรวมผู้ติดเชื้อเริ่มดีขึ้นลดลงเหลือ 18.75% พร้อมกับมีการปรับแผน

ทราบผลตรวจให้มีความรวดเร็ว เปลี่ยนจากตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูก Swab มาเป็นวิธี Rapid Test หรือเจาะเลือดแทน ทราบผลภายใน 30 นาที ใครไม่พบเชื้อก็ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก

ขณะที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้ปรับพื้นที่ตลาดกลางกุ้งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยต่างด้าวที่อาศัยตามหอพักภายในบริเวณนั้นด้วย ควบคุมโรคไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก นอกจากนั้น ยังใช้สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” รองรับผู้ติดเชื้อได้ 400-500 คน ก่อนผุดขึ้นอีกรวม 7 แห่ง รองรับได้ 2,000-3,000 คน

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อวันที่ 26 ธ.ค.2563 ผู้ป่วยรายใหม่ 87 คน เป็นคนไทย 64 คน ต่างด้าว 23 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,455 ราย ขณะที่ผู้ป่วยระบาดใหม่ของสมุทรสาคร 8 รายแรกที่ติดเชื้อต่างมีอาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯสมุทรสาครโหมทำงานอย่างหนักลงพื้นที่ต่อเนื่องกลับตรวจพบติดเชื้อโควิด หลังเข้าตรวจเชื้อที่ รพ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงเย็น 27 ธ.ค.2563 ต้องเข้ารักษาตัวและกักตัวรอผลตรวจซ้ำภายใน 14 วัน

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกครั้ง เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค.2563 ผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครพุ่งสูง 541 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 2,401 ราย เป็นยอดที่มาจากการค้นหาตรวจเชิงรุก

ย่างเข้า 4 ม.ค.2564 “ตลาดทะเลไทย” อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กลับมาเปิดตลาดค้าขายสินค้าสัตว์น้ำทะเลกันอีกครั้ง เริ่มจากแพปลาก่อน พร้อมกับกฎเหล็กที่เข้มข้น ผู้เข้ามาทำการซื้อขายปลาที่แพปลาตลาดทะเลไทยต้องผ่านการตรวจหาเชื้อและผลตรวจต้องแสดงว่า “ไม่พบเชื้อ”

“จุมพล ฆนวารี” ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า เราต้องร่วมกันควบคุมโควิด-19 ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลาดทะเลไทย เพื่อที่การทำมาค้าขายจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเศรษฐกิจจะได้ฟื้นตัวอีกครั้งต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครยังคงสูง แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ดี เพราะการตรวจเชิงรุกก็เสมือนการไล่กำจัดเชื้อโควิดให้จบสิ้นในเร็ววัน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสมุทรสาครกำลังโผล่ขึ้นอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image