เปิดไทม์ไลน์ ขรรค์ชัย บุนปาน ‘ไปต่อ’ อย่างปกติ ในปีที่44 ของ ‘มติชน’

9 มกราคม 2564

คือ ‘มติชน’ ฉบับแรกของการก้าวสู่ปีที่ 44 นับแต่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ9 มกราคม 2521

จากมติชนรายวัน ‘8 หน้ากระดาษ’ ราคา 1 บาท 50 สตางค์ ในวันนั้น ถึง ‘มติชนออนไลน์’ ในวันนี้ที่รายงานข่าวสารอย่างรวดเร็วนาทีต่อนาที กระทั่งวินาทีต่อวินาที ควบคู่หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษที่ยังคงอยู่คู่สังคมไทย

จากตึกแถวในย่านเก่าฝั่งพระนคร สู่อาคารสมัยใหม่ในย่านประชาชื่น เติบโตขึ้นตามลำดับ แม้โดน ‘ดิสรัปต์’ ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี จนถึงโควิด โรคระบาดแห่งศตวรรษ

Advertisement

ผ่านสถานการณ์หลากหลายที่กลายเป็น ‘ภูมิต้านทาน’ กระทั่งถูกฉีด ‘วัคซีน’ เข็มแล้วเข็มเล่าบนไทม์ไลน์ชีวิตและลมหายใจตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ

รายงานเหตุการณ์ปัจจุบันที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในวันพรุ่งนี้ บันทึกไว้ซึ่งคำให้การผ่านถ้อยความในทุกข่าว ทุกคำ ทุกบทสัมภาษณ์

ภายใต้อุดมการณ์เดิม คือ ‘ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่’ วาทะคุ้นหูจาก ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

Advertisement

ในวันย่างเข้าสู่วัย 77 หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนตอบทุกคำถามจากประสบการณ์เข้มข้นของเมื่อวาน ถึงมุมมองของวันพรุ่งนี้

⦁มติชนมีแนวทาง ‘ไปต่อ’ อย่างไรในปีที่ 44 หลังจากปีที่ผ่านมาเจอวิกฤตโควิด ต้นปีนี้ก็มาอีกระลอก ?

จริงๆ แล้วโดยสัญชาตญาณทั่วไปของคนทำงาน ก็ต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ เป็นสัญชาตญาณปกติ ถามว่าจะอยู่รอดอย่างไร ก็เป็นรายละเอียดของงาน แต่อันหนึ่งคือ ต้องอยู่กับความเป็นจริงเท่านั้นเอง เช่น เศรษฐกิจเสื่อมโทรม การเมืองเสื่อมทราม สังคมชำรุด แต่สื่อต้องพยายามยืนหยัดให้ได้ ในท่ามกลางความเสื่อมทรามและชำรุดทรุดโทรม

โควิดเป็นความผิดปกติ แต่มันมีโอกาสในความผิดปกตินี้ ก็ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อยุคสมัย ทันต่อเวลา ทันต่อผู้คน

⦁ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการพอสมควร ทั้งกระแสแบนสปอนเซอร์บางสื่อ จนถึงการปรับเปลี่ยนย้ายค่าย มองสถานการณ์นี้อย่างไร ?

เป็นความเจริญของโลกที่ทุกคนเริ่มมีสิทธิมีเสียงใกล้เคียงกัน เสมอกัน เขาก็มีสิทธิ มีเสียงตะโกนบอกสื่ออาชีพ ถ้าเป็นสื่อจริง น่าจะไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ แม้กระทั่งอาชีพอื่นๆ สำนวน ใช่-ไม่ใช่ มันซ่อนความหมายอะไรไว้เยอะ เราคงไม่ไปเอ่ย ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใคร เอาเป็นว่าถ้าไม่ใช่สื่อ ก็เหนื่อยหน่อย หรือถ้าไม่ใช่สื่อแล้วไม่เหนื่อย ช่วยบอกมาที (หัวเราะ) ถ้าสื่อแท้ๆ ก็หัวเราะแบบนี้ ยังมีเมตตา และอารมณ์ขัน ถ้าสื่อเอาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลักก็จบ ถูกไหมเล่า คำตอบมีอยู่ในนั้นแล้ว มันจะออกมาในข้อคิด ข้อเขียนของสื่อนั้นๆ เอง ของอย่างนี้ไม่ใช่ทำวันเดียว แต่ต้องทำมาตั้งแต่ต้น จนปรากฏเป็นที่ประจักษ์

⦁แล้ว ‘คนที่ใช่’ สำหรับมติชน คือคนแบบไหน ?

คนธรรมดาที่รู้ทุกข์รู้สุข อยู่ร่วมกับคนอื่น อย่าผิดปกติ ถ้าเขาคือคนที่ยืนอยู่ข้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ผิดปกติก็ถือว่าคือคนที่ใช่ ทุกคนช่วยกัน ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด พร้อมเพรียงกันหมดทั้งเครือมติชน ร้องเพลงก็เพลงเดียวกัน พายเรือก็ทิศทางเดียวกัน ปัญหาเราจึงน้อยที่สุด มีปัญหาก็เหมือนไม่มี

⦁โคลงหน้า 3 ที่เขียนลงมติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์ ดุเด็ดเผ็ดมันส์มากตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ ?

ก็ปกติ (หัวเราะ) ถ้าไม่ดุเด็ดเผ็ดมันส์คือไม่ปกติ ดูกลอนของสุจิตต์ วงษ์เทศสิ (หัวเราะ)

⦁เป็นคำถามต่อเนื่องหลายปี ปีนี้ขอถามอีกครั้ง ถ้าตอนนี้ ขรรค์ชัย บุนปาน อายุย่าง 44 เท่ามติชน ด้วยพละกำลังที่มี จะทำอะไรอยู่ ?

ก็อยู่ไปเรื่อยๆ เป็นปกติ (หัวเราะ) ถึงมีกำลังก็ไม่ต้องไปบอกคนอื่นว่ามีกำลัง เรื่องบางเรื่องไม่ต้องประกาศหรอก มันอยู่ที่การกระทำ อยู่ที่วัตรปฏิบัติ อยู่ที่ใจ

⦁แล้วถ้าเปรียบมติชนเป็นบุคคลคนหนึ่ง ในวัย 44 จะเป็นคนแบบไหน ?

ก็น่าจะเป็นคนปกติ เป็นคนที่ไปต่ออย่างมั่นคงแล้วก้าวไปหาความเจริญเติบโต ไม่มีเพ้อเจ้อ ไม่เผลอไผล ไม่สวดมนต์ผิดบท เพื่อจะได้ไม่ผิดปกติ เพราะก่อน 44 ผ่านอะไรมาพอสมควร ด้วยวัยและอายุขัย เป็นธรรมชาติของการมีชีวิต มีเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา โลกมันเต็มไปด้วยอาวุธทั้งนั้น จะให้โดนแต่ดอกกุหลาบหรืออย่างไร ก็โดนหินบ้าง แต่ต้องเงียบสงบ ไม่ประมาท รักษาความปกติไปตลอด หวังเท่านั้น และหวังว่าจะสมหวัง เมื่อตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์แล้ว หลักการก็คือการยืนอยู่ข้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เท่านั้นเอง อย่างอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อยหมด

⦁มองปรากฏการณ์ม็อบเยาวชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในปีที่ผ่านมาอย่างไร ?

เด็กมาทวงถามความปกติ (หัวเราะ) ปฏิเสธได้ไหมเล่า ต้องเข้าใจตรงกันจะได้เข้าใจง่าย ต้องเข้าใจด้วยความปกติ ต้องยอมรับว่าการคิดเห็นต่าง ถือเป็นความกล้าหาญ ควรขอบคุณเขาที่ชี้ทางบรรเทาทุกข์ หนุ่มสาวยุคนี้ คม การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาไปได้ดีกว่า ความพร้อมมีมากกว่า ระบบสื่อสารช่วยเหลือมากกว่า ดีกว่าคนรุ่นเรา ไม่อยากเปรียบเทียบ ยอมรับในยุคสมัยดีกว่า

⦁ในฐานะผู้เขียน ‘ชานหมากนอกกระโถน’ วิพากษ์วงการสงฆ์ในวัยหนุ่ม คิดเห็นอย่างไรกับพระในม็อบที่ยอมรับในคำว่าแก๊งแครอตของตัวเอง ?

พระพัฒนาขึ้น ความรู้งอกเงย พระพูดเรื่องการเมืองได้ ต้องแฟร์

⦁หลายปีมานี้นักเขียนรุ่นใหญ่วิวาทะหนักมากจากความเห็นต่างทางการเมือง ได้คุยกับเพื่อนเก่าในวงการบ้างไหม ?

ไม่เป็นไรหรอก ความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องน่าสนุกจะตายไป เห็นตรงกันหมดสิ ชอบกลแล้ว แต่ให้รู้จริงๆ ว่าถ้าเห็นไม่ตรงกันก็คือไม่ตรงกัน ไม่จำเป็นต้องวิวาทกันจนตายไปข้างหนึ่ง วัยต่างกัน พื้นฐานความรู้ต่างกัน จะไปกำหนดใครไม่ได้ ส่วนตัวไม่เคยมีเรื่องกับใคร ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ ทุกคนก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ เสรีที่จะคิดที่จะฝัน

⦁สมัยเป็นนักข่าวผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาเยอะ ?

เคย ทำหมด ทุกเรื่องผ่านมาหมด ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นเป็นนักข่าวแล้ว ก็ไปดูเหตุการณ์ รายงานข่าว

⦁ยุคนั้นสื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองไหม วงการสื่อในยุคต่างๆ เสรีภาพและแนวทางข่าวการเมืองเป็นอย่างไร ?

ไม่มีหรอก เพราะรัฐบาลเล่นเราอยู่แล้ว (หัวเราะ) เขาควบคุมอยู่แล้ว ยิ่งตอนนั้นอยู่สยามรัฐด้วย ยิ่งถูกเพ่งเล็งใหญ่ แนวทางข่าวที่จริงก็คล้ายกันนะ แล้วแต่ใครจะรู้สึกนึกคิดอย่างไหน หรือเป็นกลุ่มใคร พวกใคร เป็นเรื่องธรรมดา จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ จะไปคิดว่าเราถูกก็ไม่ได้ เราอาจจะโง่ก็ได้ แต่ให้ดูว่า ยืนอยู่ข้างความถูกต้องหรือเปล่า คนส่วนใหญ่คือตัวชี้ ถ้าเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ก็ถือว่ามองในสิ่งเดียวกัน

⦁กรณีสื่อในเครือหรือแม้แต่ในฉบับเดียวกัน มีข้อเขียนจากคอลัมนิสต์ที่แตกต่างทางความคิด เป็นความตั้งใจเปิดกว้างให้หลากหลาย ?

ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้เขียน โดยมีบรรณาธิการเป็นผู้กำกับทางกฎหมาย ถ้าไม่ละเมิดกฎหมาย ดีที่สุด เป็นข้อถกเถียงปกติ สนุกดี สนุกนิดๆ (หัวเราะ) ถ้ามีคนด่าไม่ว่าฝั่งไหนแสดงว่าเขาอ่าน เขาตรวจสอบเรา ไม่ทอดทิ้ง และยังห่วงใย (ยิ้ม)

⦁มีนักประวัติศาสตร์บอกว่า มติชนเปรียบเหมือนจดหมายเหตุภาคประชาชน เพราะบันทึกการต่อสู้ทางการเมืองของผู้คนในสังคมมานานเกือบครึ่งศตวรรษ ?

แล้วแต่คนตีความ อย่าไปยกย่องตัวเองเลย ขี้เกียจ (หัวเราะ) แล้วแต่ใครจะไปสมมุติ

⦁ยุคนี้เยาวชนหันมาสนใจประวัติศาสตร์กันมาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมือง ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร มองอย่างไร ?

แสดงว่าสังคมคืนสู่ความปกติ หลังจากอยู่ในความผิดปกติมานาน การศึกษา เจริญจนล้าหลัง คือเจริญไปสู่ความล้าหลัง น่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็พูดมาตลอดชีวิต

⦁เป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับการศึกษาไทยตั้งแต่วัยรุ่น สร้างตัวละคร นายสองคม ชอบสามเหลี่ยมในเรื่องสั้น ‘หนี’ เมื่อปี 2514 ที่เดินออกจากระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย วันนี้มองกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ ที่เรียกร้องปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ?

เหมือนเกเรกับตำราเรียนมากกว่า อะไรที่มันซ้ำก็เบื่อ เคยเรียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว อย่างโคลง เคยเรียนตั้งแต่มัธยม ตอนมหา’ลัย จะจบอยู่แล้ว ยังถอดโคลงบทเก่า เราก็ตั้งคำถาม แต่ละยุคคงเอามาเปรียบกันไม่ได้ในรายละเอียด แต่ความรู้สึกนึกคิดอาจคล้ายคลึงกัน

⦁ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ พ็อคเก็ตบุ๊กของเครือมติชน ตอบโจทย์สังคมอย่างฉับไว ทันท่วงทีเสมอ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยไปจนถึงโควิด ถือเป็นจุดแข็ง ?

ไม่ใช่จุดแข็งหรอกแต่เป็นหน้าที่ (ยิ้ม) เรามีเจตนาอยากเผยแพร่เท่านั้นเอง แต่การวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความรู้พื้นฐานของแต่ละบุคคล หรือการเดินทางที่พบเห็น เราแค่เป็นสื่อ

⦁รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 5 ในยุคโควิดระลอกใหม่ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบชั่วคราวอีกครั้งเหมือนเมื่อต้นปี 63 ?

ปรับให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่จะทำงานไปตามปกติได้ เช่น เดินทางไม่สะดวก ไปไหนมาไหนติดขัด ก็ต้องกลับมาทำในสิ่งที่สะดวกกว่า ต้องขอขอบคุณและชื่นชมสปอนเซอร์ผู้มีอุปการคุณ ที่เข้าใจในสถานการณ์

⦁คำถามสุดท้าย จากวันแรกของมติชน จนถึงวันที่ก้าวสู่ปีที่ 44 จุดร่วมของทุกสื่อในเครือคืออะไร ?

ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพซึ่งต้องมีเป็นปกติอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image