44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ : ดร.สาธิต ปี 2564‘ส่งเสริมป้องกันสุขภาพ’ให้คนไทยรู้ทันโรค

 

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ปี 2564‘ส่งเสริมป้องกันสุขภาพ’ให้คนไทยรู้ทันโรค

ในปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เรารู้จักกันดีในชื่อโควิด-19 สร้างผลกระทบหลากหลายด้านให้กับประเทศไทย แต่ทว่าการเกิดขึ้นของไวรัสก็ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลับมามีบทบาทในสังคมอีกครั้งด้วยการกอบกู้ความเชื่อมั่นทางสาธารณสุขให้กับคนในประเทศและทั่วโลก เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้แก่ประชาชนติดอาวุธทางสุขภาพ รู้ทันโรคภัยเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในระบบสาธารณสุขต่อไป

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายในปี 2564 ในการดูแลสุขภาพคนไทยให้ปลอดภัยจากโควิด-19 และเดินหน้าสร้างระบบสุขภาพพื้นฐานที่ดี ว่า สำหรับปี 2564 เรายังต้องยืนอยู่ในเรื่องของการต่อสู้กับโควิด-19 แต่ก็มีที่เรามองไปข้างหน้าด้วยการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของคนไทย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี เพื่อการสอบสวนและควบคุมโรค สามารถติดตาม สืบค้นผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้สัมผัสโรคให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาดิจิทัล เฮลท์ แพลตฟอร์ม (Digital Health Platform) หากดำเนินการได้สำเร็จก็จะเป็นการเชื่อมข้อมูลบริการครั้งใหญ่ เพื่อบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ใช้ตรวจหาและแจ้งผลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ข้อมูลเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงเสมอคือ การต่อสู้แบบนิวนอร์มอล (New Normal) เราจะต้องทำให้มีมาตรฐาน เพื่อป้องกันติดเชื้อในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้รับบริการทุกคน

Advertisement

“จากการต่อสู้กับโควิด-19 เราพบว่าการดูแลป้องกันตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ในปีนี้ สธ.จะอยู่ในธีม (Theme) ของการส่งเสริมป้องกันให้เราดูแลสุขภาพของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดหากร่างกายแข็งแรง เราก็จะป้องกันตนเองจากโรคอุบัติใหม่ทั้งหลาย สิ่งที่เราเรียนรู้ในปีที่ผ่านมา คือ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง แม้ได้รับเชื้อก็จะไม่มีอาการหรืออาการน้อย ในทางกลับกันผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เมื่อถูกโจมตีจากโควิด-19 หรือจะเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการหนักกว่าปกติถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น การดูแลสุขภาพของตัวเองในคนไทย จะต้องพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่” ดร.สาธิตกล่าว

แม้ว่าทุกคนจะใส่ใจสุขภาพของตนเอง แต่ก็ไม่ลืมด่านหน้าของการต่อสู้โควิด-19 ที่ทุ่มเททั้งพลังกายและใจ ดร.สาธิตกล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันและช่วยสกัดการระบาดในชุมชนจึงได้เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่มขวัญกำลังให้เหล่าพี่น้อง อสม. เป็นจำนวน 1,500 บาทต่อเดือน ตลอดไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะนอกจากภาระงานแล้ว ยังมีภาระการจ่ายค่าเสียชีวิตให้กับพี่น้องสมาชิก อสม. ด้วยกันของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เดือนละ 200 บาท เราจึงควรที่จะเติมตรงนี้ให้กับเขา

Advertisement

“ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในปี 2563 เราได้สร้างขวัญกำลังใจในการบรรจุตำแหน่งข้าราชการกว่า 40,500 อัตรา ดังนั้น ในปีนี้จะเป็นการสร้างความก้าวหน้า อัตราบรรจุใหม่ในแต่ละรอบจะมีมากยิ่งขึ้น หัวใจของระบบสาธารณสุข และเป็นนโยบายหลักของ สธ. คือการตระหนักรู้ภาวะสุขภาพของตนเอง แต่การดำเนินภาพใหญ่เรื่องที่ยาก เราจึงต้องมีการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ เช่น อสม. ข้าราชการใน สธ. ดังนั้น ในเชิงการบริหารแบบใหม่ก็จะเกิดโมเมนตัม (Momentum) เหวี่ยงไปที่กลุ่มอื่นด้วย เปรียบเสมือนฟันเฟือง สร้างอิทธิพลทางความคิดให้กับคนกลุ่มต่างๆ ในการใส่ใจสุขภาพ” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.กล่าว

ดร.สาธิตกล่าวว่า นอกจากเรื่องของโรคภัยแล้ว เชื่อว่าการมีสุขภาพที่ดีจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันตระหนักรู้ขึ้น ทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เพื่อไปดูแลสุขภาพประชาชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีภายใต้การดูแลของตนเอง ตามนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” ประสานการทำงานดูแลประชาชนที่บ้านและชุมชนแบบใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ เพิ่มความครอบคลุมให้ได้รับบริการต่อเนื่อง ลดการเดินทาง ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และส่งต่อรักษาในโรคซับซ้อนยุ่งยาก

โดย หมอคนที่ 1 หมอประจำบ้าน คือ อสม. เป็นหมอใกล้ตัว แนะนำดูแลผู้ป่วยถึงบ้านและสุขภาพของคนในชุมชน 1 คน ดูแลประชาชน 10-20 หลังคาเรือน

หมอคนที่ 2 หมอสาธารณสุข คือ บุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ ให้การรักษาและส่งต่อ รวมถึงดูแลสุขภาพให้คำแนะนำประชาชนในทุกมิติ 1 คนดูแลประชาชน 1,250-2,500 คน

หมอคนที่ 3 หมอครอบครัว คือ แพทย์ในโรงพยาบาล รับการส่งต่อ 1 คน ดูแลประชาชน 8,000-12,000 คน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนรู้รายชื่อหมอประจำตัว 3 คนของตนเอง โดยเรามอบบัตรแนะนำตัว 3 หมอ ให้แก่ทุกครัวเรือน โดยในบัตรจะมีชื่อ ชื่อเล่น หมายเลขโทรศัพท์ทั้ง 3 คน ทั้งรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์การ์ด (E-Card) โปสการ์ด โปสเตอร์ หรือชุดบัตรแนะนำตัว 3 หมอ พร้อมความรู้ ตารางนัดหมายและบันทึกสุขภาพ

“ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนที่ต่อยอดจากเดิมในโครงการก้าวท้าใจซีซั่น 3 การออกกำลังกายที่ไม่ใช่ให้คนตระหนักเพียงอย่างเดียว แต่มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สะสมแต้มเพื่อแลกสิทธิประโยชน์ เป็นการรณรงค์ให้คนหันมาออกกำลังกายเพื่อตนเอง ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 ซีซั่น มีผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน ฉะนั้น ซีซั่นในปี 2564 เราต้องขยับเป้าไปที่ 3 ล้านคน ในกลุ่มผู้เข้าร่วมซีซั่นก่อน เมื่อเขาตระหนัก เห็นประโยชน์เขาก็จะบอกต่อกับคนใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ กรมอนามัยยังเดินหน้าสร้างสุขภาพที่ดีด้วยหลัก 3 อ. ตามที่ว่าคือ ออกกำลังกาย อาหาร และอารมณ์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านสุขภาพให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน” ดร.สาธิตกล่าว

ส่วนเป้าหมายการเดินหน้ารักษาผู้ป่วยจากโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก ดร.สาธิตกล่าวถึง 1 ใน 4 นโยบายยกระดับบัตรทองว่า โครงการ “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้คนไทยที่มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาหายยาก ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความทุกข์ทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น หากมีการเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐานและเพื่อลดความทุกข์ของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดให้มากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากวันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป ที่เริ่มเปิดให้บริการประชาชนตามระบบ ก็จะเจอปัญหา อุปสรรคในการเชื่อมต่อข้อมูลบ้าง แต่จะบริหารจัดการให้ระบบคงที่ภายใน 3 เดือน

“การนำโปรแกรม Thai Cancer-based plus เป็นเครื่องมือในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมะเร็ง และพัฒนาแพลตฟอร์ม The ONE สำหรับโรงพยาบาลสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และจองคิวการรักษาผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ทันที ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ได้รับความสะดวก ไม่แออัด และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยมะเร็งได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ระบุ

ภาวะด้านสุขภาพไม่เพียงแต่การรักษาร่างกายให้แข็งแรงแต่เรื่องจิตใจก็สำคัญ ทั้งนี้ ดร.สาธิตกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยต้องต่อสู้กับหลายเรื่อง ทั้งลูกโซ่จากผลกระทบโควิด-19 ขาดรายได้ หรือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เกิดความเครียดสะสมขึ้น สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือ ป้องกันภาวะของโรคซึมเศร้าที่นำไปสู่ภาวะการฆ่าตัวตาย ด้วยการคัดกรองประเมินตนเองเบื้องต้นผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check up ของกรมสุขภาพจิต ในปี 2564 เราจะเร่งให้มีการเข้าถึงการคัดกรอง มีจิตแพทย์ให้คำปรึกษาเพื่อการพูดคุยและรับฟังกันมากขึ้น

“ปี 2564 อยากย้ำให้คนไทยตระหนักเสมอว่า ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องที่เราอยากมีความก้าวหน้าด้านการงาน การมีตำแหน่งที่สูงขึ้น แม้จะเป็นเรื่องสำคัญแต่เราต้องอย่าลืมว่า ไม่ว่าตำแหน่งจะใหญ่โตแค่ไหน ถึงจะมีเงินมากแค่ไหน แต่หากร่างกายไม่แข็งแรงเราก็ไม่สามารถที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้ตลอดไป ดังนั้น ในยุคใหม่เราจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเกิดจากการตระหนักและลงมือปฏิบัติดูแลตนเอง เรื่องอื่นถึงแม้จะมีความสำคัญ แต่ว่าความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการมีสุขภาพที่ดี” ดร.สาธิตกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image