‘พท.’ ชงมาตรการเยียวยา-ฟื้นฟูศก. จากพิษโควิด-19 แนะวิธีหาเงินให้ รบ.

พท.ชงแพ็กเกจเยียวยาปชช. แนะจ่ายเงิน 5 พันบาท 3 เดือน พื้นที่ควบคุมสูงสุดจ่าย 6 พันบาท 3 เดือน แนะ 8 ข้อมาตรการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเสวนาผ่าน วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ของพรรคเพื่อไทย(พท.)ว่า ในภาวะวิกฤตการระบาดไวรัสโควิดรอบใหม่ รัฐบาลต้องตั้งหลักคิดให้ดี อย่าสับสนหรือร้อนรน โดยที่ผ่านมาได้ออกมาตรการผิดๆถูกๆ ซึ่งรัฐบาลเองต้องออกมาแก้ไขกันตลอด ยิ่งทำให้ประชาชนสับสนและยิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนัก อีกทั้งจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลต้องคิดแผนฟื้นเศรษฐกิจ หารายได้ ควบคู่ไปกับการเยี่ยวยาและการแก้ไขปัญหาการระบาดไวรัส ในภาวะวิกฤตรัฐบาลต้องคิดมาตรการที่เฉียบพลันเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ดังนั้นพรรคเพื่อไทย(พท.) จึงเสนอ มาตรการเยียวยาพร้อมมาตรการฟื้นฟูประเทศดังนี้
มาตรการเยียวยา 1.กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร (กลุ่มเดิมจากการเยียวยาครั้งก่อน) ให้ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เท่ากับการเยียวยาให้ครั้งแรก) สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และเงินสนับสนุนคนละ 18,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ
2.มาตรการลดภาระของประชาชน อุดหนุนภาระดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ผ่อนรถยนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านอยู่อาศัย ผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน
3.ขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2564
4.ลดภาระประชาชนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยภาครัฐสนับสนุนบางส่วน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.มาตรการหารายได้เข้ารัฐ ที่ไม่ใช่เพียงภาษี เช่น เจรจาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา การทำแลนบริดจ์ ในพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลเคยรับคำแนะนำว่าจะไปดำเนินการแต่หายเงียบไป
2.การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มระบบราชการของไทยทั้งหมด โดยเริ่มจาก แพลตฟอร์มทางการคลัง และ ระบบภาษี เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และ ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน
3.การแก้ไขระบบศุลกากรที่เป็นปัญหา และ 10 ข้อแนะนำจากที่ทูตจาก 5 ประเทศ สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน และ ออสเตรเลีย เสนอมา
4.ปรับปรุงระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม รวมถึงการเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศด้วย
5.ควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติไม่ให้มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจไทยมากนัก แลเฝะส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มของไทย
6.จัดงบประมาณใหม่ โดยต้องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องปรับลดการใช้จ่ายทางทหาร และ ความมั่นคง
7.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร จากที่เก็บอยู่ปัจจุบันที่ 5.99 บาท/ลิตร
8.กระตุ้นเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่าการแจกเงิน

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเร่งทำเพื่อจะได้บรรเทาภาระของประชาชน อีกทั้งกำหนดทิศทางประเทศและสร้างความหวังให้กับประชาชนได้ อย่าได้ปล่อยเหมือนประเทศบริหารไปตามยถากรรมเหมือนในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image