ผู้ประกอบการไทยผนึกกำลังสร้าง ‘Thai Team’ มุ่งเป้าสู่ ‘Feeder Line’ ยกระดับฝีมือคนไทยสู้ต่างชาติ

นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการไทยได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม ชื่อว่า “Thai Team” โดยมีบริษัทฯและบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อน และมีผู้ร่วมสนับสนุนทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ได้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ยางโอตานิ จำกัด บริษัท แม่น้ำ สแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพราะมองเห็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นฝีมืองคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก หลังจากรัฐบาลได้ผลักดันโครงการ “Thai First” ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” ขึ้น ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้เน้นสร้างมาตรฐานระบบรางทั้งในส่วนของรถไฟ และระบบไฟฟ้า ด้วยการใช้วัตถุดิบในประเทศ

นายนำชัย กล่าวว่า โครงการที่มุ่งหวังในการเข้าร่วมพัฒนา คือ โครงการระบบตัวรถไฟฟ้าขนาดรอง (Feeder Line) เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ด้วยระบบรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเน้นเรื่องของการศึกษาและพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้เกิดการนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง เพราะคนไทยมีศักยภาพในการพัฒนา และจัดทำอุปกรณ์ พร้อมระบบเสริมการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต ติดตั้งพร้อมทดสอบ บริการซ่อมบำรุง โดยเชื่อว่าการผนึกกำลังกันนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมระบบรางและขนส่งมวลชนของประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย

“ความร่วมมือครั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าขนาดรองเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เหตุผลที่ผู้ประกอบการไทยสู้กับต่างชาติไม่ได้ไม่ใช่เรื่องของความสามารถ แต่วันนี้ภาครัฐไม่สนับสนุน ยกตัวอย่าง BOI เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และพยายามเรียกร้องให้กลุ่ม Supplier ต่างชาติเข้ามาด้วย พร้อมจัดโปรโมชั่นทุกอย่าง 0% ส่งผลให้ Supplier ไทยอยู่ไม่ได้ เป็นต้น ขณะที่เรื่องค่าแรง คิดเป็นราคารถยนต์ 1 คันรวมเป็นค่าแรงคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ต่างชาติอย่างบริษัทรถยนต์ มีกำไรจากการขายรถยนต์ปีละหลายหมื่นล้านบาทและนำเงินออกไปจากไทย ซึ่งอยากให้รัฐบาลไทยเข้ามาดูแลคนไทยบ้าง”

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า เป้าหมาย Thai Team เกิดจากการสร้างโอกาสให้กับคนไทย และความต้องการที่จะพัฒนานวัตกรรมระบบรางและขนส่งมวลชนของประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา Thai Team ได้มีการหารือในเชิงวิชาการ แนวทางดำเนินการของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตกระจก เบาะ ราวจับ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ตามคุณลักษณะเฉพาะตรงตามการใช้งาน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงความพร้อมทางด้าน Technology ชั้นสูงเทียบเท่าการผลิตสากล พร้อมกับพันธมิตร Supply chain ไทย ที่มีความเข้าใจเรื่องการผลิตตามมาตรฐานสากลเป็นอย่างดี “เราเชื่อว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการผลิตรถไฟฟ้าที่ผลิตออกจากกลุ่มคนไทยทั้งคัน และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบรางสำหรับอนาคตต่อไป”

Advertisement

พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐได้มีการจัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “การขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยด้วยกลุ่ม Thai Team ภายใต้แนวนโยบายของรัฐ” เพื่อร่วมพลังกันเปลี่ยนโฉมประเทศไทย

คุณพิเชษฐ สถิรชวาล ประธานที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางเป็นอย่างมาก ซึ่งมีคณะอนุกรรมาธิการดูแลและส่งเสริม โดยความสำคัญคือ คุณภาพต้องได้มาตรฐานสากล ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทุ่มงบมหาศาล แต่ผู้ประกอบการไทยกลับไม่ได้รับโอกาสและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้เริ่มศึกษาถึงสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาส

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าชิ้นส่วนได้นำเข้าทั้งหมด รวมถึงกฎหมายที่ออกมาขัดต่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยแต่เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า บริษัทของคนไทยกลับได้รับสัดส่วนการบริหารแค่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรมจึงได้เตรียมแก้ไขกฎระเบียบใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น ปัจจุบัน ระบบรางมีเส้นทางใหญ่ทั้งหมดราว 104 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพ และอื่น ๆ รวมถึงความต้องการในการสร้างตู้ หรือ โบกี้ ไม่ต่ำกว่า 5 พันตู้ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มองว่า การรวมกลุ่ม Thai Team ของเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง การแก้ไขกฎระเบียบของทางภาคนิติบัญญัติ ควบคู่ไปกับการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่จำเป็นเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทาง MTEC ได้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตของไทยเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านการผลิต และการให้บริการมากขึ้น โดยเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ตามเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ทันให้ได้เรียนรู้ โดยผ่าน “กองทุนการบริหาร” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน สวทช. และหน่วยงาน ยังเข้ามาช่วยการพัฒนา พร้อมเป็นที่ทดสอบงานวิจัย เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งเราต้องร่วมมือกันทำงาน

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองเห็นเป็นโอกาสเพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกันในอนาคต ปัจจุบัน สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีสมาชิกกว่า 650 บริษัท ซึ่งในแต่ละปีมีรายได้จากการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 7 แสนล้านบาท และชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์ อีกประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ผลิตแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม OEM เป็นการผลิตชิ้นส่วนให้โรงงานประกอบ และกลุ่ม REM เป็นอะไหล่ทดแทน โดยทั้ง 2 กลุ่ม มีจุดแข็งอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ ต้นทุนไม่สูงเพราะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ คุณภาพมีมาตรฐาน และบริการที่ดี ขณะที่ราคาเป็นไปตามกลไกลราคาจากจีน ซึ่งการที่ผู้ประกอบการไทยจะอยู่ต่อได้นั้น สิ่งสำคัญต้องปรับตัวเท่านั้น ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการร่วมกลุ่มครั้งนี้เราทำได้

นายวีระชัย ตรีพรเจริญ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบราง สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) กล่าวว่า ในส่วนของคลัสเตอร์ระบบราง ส่วนหนึ่งมีการ MOU เกิดขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ เพราะเรื่องของระบบรางต้องใช้ความรู้และทักษะในหลายด้าน ในส่วนของสมาคมนั้นมองในมุมการผลิต สิ่งที่เราพยายามจะขับเคลื่อนคือ มาตรฐานการรับรองและการสนับสนุนเรื่องของราคา รวมไปถึง TOR ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนได้ จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการคนไทยได้มากขึ้น เพราะ TOR ทุกตัวนั้นมีการระบุในเรื่องประสบการณ์ทำงานด้านระบบรางต้องมีประสบการณ์มาแล้วอย่างน้อย 3-5 ปี ถึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการระบบรางได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้บริษัทไทยไม่สามารถเข้ามาร่วมธุรกิจในระบบรางได้เลย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคใหญ่ของผู้ประกอบการไทย นั่นคือ คนไทยไม่ยอมรับฝีมือคนไทยด้วยกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image