ตามติดชีวิต ‘คนจับงู’ จิตอาสาในภารกิจเสี่ยงตาย

ตามติดชีวิต ‘คนจับงู’ จิตอาสาในภารกิจเสี่ยงตาย

จันทบุรี ถือได้ว่าเป็นเมืองเกษตรกรรมที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยป่าไม้ ธรรมชาติขุนเขาและแหล่งน้ำ โดยสิ่งที่สามารถเป็นตัวชี้วัดบ่งบอกได้นั่นคือ การที่ได้พบสัตว์ป่าหายาก หรือสัตว์มีพิษร้ายแรง อย่างงูจงอาง ใกล้กับแหล่งชุมชน แต่สำหรับสัตว์เลื้อยคลาน มีพิษร้ายแรงอย่างงูจงอาง หรือเพื่อนร่วมสายพันธุ์เดียวกันอีกหลายชนิด คนทั่วไปไม่อยากเจอะเจอหรือเข้าใกล้ แต่ยังคงมีการพบเห็น และมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ จากการถูกสัตว์เหล่านี้ทำร้าย ทำให้เกิดบุคคลกลุ่มหนึ่งรวมตัวเป็นจิตอาสา ออกทำภารกิจในการจับสัตว์เลื้อยคลานช่วยเหลือประชาชนที่ร้องขอ โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

จับ ‘จงอาง’ ด้วยมือเปล่า บุคคลในข่าว กับแนวคิดไม่ธรรมดา

สิบเอก ณัฐพล เสืองาม อายุ 31 ปี ผู้ที่ปรากฏในภาพข่าว การจับงูจงอางด้วยมือเปล่า หลายครั้งในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสโด่งดังในทีวี และสื่อออนไลน์หลากหลายสังกัด เปิดใจบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตที่อุทิศเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมว่า ปัจจุบัน มีอาชีพทำงานเป็นเจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลหนองคล้า ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ในวันหยุดหรือช่วงออกเวร หากไม่มีภารกิจอื่น จะแบ่งเวลาไปช่วยครอบครัวทำสวน และใช้ชีวิตปกติเหมือนกับคนทั่วไป แต่อีกหนึ่งด้านของชีวิต ได้อุทิศตนเป็นจิตอาสา เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยสมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี โดยจะใช้เวลาว่างส่วนตัว นอกเหนือจากงานประจำ ออกช่วยเหลือสังคม ทั้งอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ

Advertisement

จุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำภารกิจ เอาชีวิตไปเสี่ยงตาย ในการออกช่วยเหลือประชาชน จับสัตว์เลื้อยคลาน ประเภทงูพิษ และเพื่อนร่วมสายพันธุ์ที่อันตราย เกิดจากได้เห็นความสำคัญของ งู ว่านอกเหนือจากจะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศด้วยแล้ว ยังมีความสำคัญกับระบบการแพทย์ เช่น การรักษาผู้ป่วยในอนาคต ที่จะต้องใช้ยาจำนวนมากที่สกัดจากพิษของงู มาใช้ในการรักษา จึงเป็นจุดทำให้คิดว่าทำอย่างไร ให้การจับงูเกิดความปลอดภัย ทั้งชีวิตคน และชีวิตงู ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อทางการแพทย์อีกทางหนึ่งด้วย

สิบเอกณัฐพลบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ จากความใคร่รู้ ใคร่สนใจ จึงได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาจาก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยเข้าคอร์สฝึกอบรมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมฝึกอบรมภาคสนามกับทีมงาน “อสรพิษวิทยา” ร่วมกับ นิรุทธ์ ชมงาม มือปราบอสรพิษ และ ทีมงานอสรพิษวิทยา ประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญชำนาญ

อ่านใจ จ้องตา ศึกษาพฤติกรรม ทักษะเฉพาะ ในหลากสถานการณ์

Advertisement

ส่วนการก่อตั้ง “อาสาพิทักษ์งูเมืองจันท์” มีจุดเริ่มต้นจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ คือ เพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าหน้าที่กู้ภัย เข้ามาขอรับการฝึกอบรมและเรียนรู้ เรื่องการจับงู และเข้ามาร่วมเป็นทีมงาน คอยช่วยเหลืองานภารกิจจับงู เพื่อง่ายต่อการประสานงาน และให้ความรู้กับประชาชนไปพร้อม
กัน

บางกรณี หลังจากส่งเคสเสร็จแล้ว ก็จะมีการให้ความรู้หน้างานนั้นเลยทำให้สมาชิกและชาวบ้าน ได้เรียนรู้ว่า งูที่จับได้เป็นงูชนิดที่ไม่มีพิษงู หรือมีพิษต้องรับมืออย่างไร เวลาที่ออกเคสต่อไปซึ่งหลังจากงูที่ถูกจับมาได้ บางชนิดต้องนำกลับมาพักฟื้นดูแล เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ เพื่อทำการรักษาให้แข็งแรง ก่อนนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ กิจวัตรประจำวันที่จะต้องดูแล รักษาความสะอาดแผลเป็นหลัก แต่ถ้ามีอาการแทรกซ้อน จะต้องมีการให้ยาเฉพาะจุด ที่ไม่สามารถทำเองได้ ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการดูแลที่ถูกวิธี

“ในหลายครั้ง ที่เห็นมีการใช้มือเปล่าจับงูจงอาง อย่างที่ปรากฏในภาพข่าว เนื่องจากในบางสถานการณ์ ไม่สามารถใช้อุปกรณ์จับงูได้ ทั้งจากพื้นที่แคบหรือการประเมินแล้ว อาจทำให้เกิดความเสี่ยง หรืองูอยู่ในอาการบาดเจ็บ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีจับด้วยมือเปล่า ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะทาง ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ไม่แนะนำให้ลอกเลียนแบบ

ส่วนกรณีที่บางครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่คล้ายกับมีการจ้องตางูจงอาง ก่อนที่จะใช้มือเปล่าจับ จริงๆ แล้ว วิธีนี้เป็นการสังเกตดูพฤติกรรมของงู ว่ามีพฤติกรรมแบบไหน เนื่องจากงูจงอางแต่ละเคส เป็นงูป่า ไม่ใช่งูที่พบเห็นตามงาน โดยวิธีนี้คนจับงูต้องอ่านใจงูให้ออก ก็เลยเหมือนเป็นการสะกดจิต แต่ถ้าพบว่างูมีพฤติกรรมที่ไม่โอเค การจับก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีกวิธีหนึ่ง แล้วแต่สถานการณ์” สิบเอกณัฐพลเล่า

สำหรับค่าใช้จ่ายในการออกทำภารกิจแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เงินส่วนตัวเนื่องจากไม่มีหน่วยงานที่จะสนับสนุน จะมีบ้างบางครั้ง เจ้าของบ้านจะช่วยเหลือค่าน้ำมันเป็นการตอบแทนน้ำใจเล็กน้อย ซึ่งตามหลักความจริง ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะบางครั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลออกไป 120-140 กม.

สำหรับความต้องการขอสนับสนุนในขณะนี้ คืออุปกรณ์ส่องสว่างที่ติดกับตัวในการใช้ภาคสนาม เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจับงูในที่มืด ในบางช่วงต้องออกเวลากลางคืน ระหว่าง 02.00 น.ถึง 04.00 น. แสงสว่างไม่เพียงพอในการทำงาน จึงเกิดความเสี่ยงขึ้นอีกเท่าตัว หากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงาน หรือผู้มีจิตศรัทธาช่วยสนับสนุนเงินทุน หรือจัดซื้ออุปกรณ์แสงสว่างเพื่อใช้ในภารกิจนี้

สิบเอกณัฐพลยังแนะนำว่า หากพบเห็นสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณบ้าน พยายามตั้งสติไว้ แล้วรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญ และในระหว่างรอ อย่าไปรบกวนหรือไล่ทำร้าย เพราะนอกจากจะทำให้งูเลื้อยหลบหนีไปซ่อนตัว ยากต่อการจับ และอาจจะทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต

เฉียดตาย แต่ใจรัก ช่างตัดผมผู้เรียกงูว่า ‘ลูก’

ขณะที่ สุทัศน์ โทบุตรดี อายุ 51 ปี ชาว อ.นายายอาม จ.จันทบุรี หนึ่งในสมาชิก “อาสาพิทักษ์งูเมืองจันท์” บอกว่า ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม ส่วนชีวิตอีกมุม ได้ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย สมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี

“เดิมทีเป็นคนรักงูอยู่แล้ว จากการที่ได้ทำงานร่วมกับสิบเอกณัฐพล ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกอบรมทักษะการจับงูที่ถูกต้อง และรู้ถึงชนิดของงูแต่ละประเภท ซึ่งนอกเหนือจากจะออกไปช่วยจับงูให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ตนเองยังขอรับหน้าที่ในการรักษา ดูแลอนุบาล งูชนิดต่างๆ ที่จับได้ และนำกลับมาพักฟื้น โดยภารกิจในแต่ละวัน จะนำงูออกมาอาบน้ำ ทำแผล และเฝ้าสังเกตอาการ ระหว่างนี้จะพูดคุยกับงูทุกตัว โดยเรียกว่าลูกเพื่อให้งูเกิดความเชื่อใจ ไม่ตระหนกตื่นกลัว ซึ่งจะทำให้การทำภารกิจทุกครั้ง เกิดความปลอดภัย แต่ก็เคยพลาดพลั้ง เกือบตาย หลังจากถูกงูเห่ากัดเข้าที่นิ้วชี้ ระหว่างที่อาบน้ำให้งู แต่จากประสบการณ์ทำให้ตั้งสติได้ รีบโทรปรึกษากับทางสิบเอกณัฐพล เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนจะรีบเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างทันเวลา”

สุทัศน์ บอกอีกว่า จากประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้ตนเองล้มเลิกที่จะจับงู กลับทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้มากขึ้น โดยจะเน้นย้ำเตือนสติเสมอว่า ทุกครั้งที่จะทำภารกิจ ต้องมีสติ สังเกตพฤติกรรมของงู และคอยดูแลให้งู ไม่ให้เกิดอาการเครียด ซึ่งจะทำให้การทำภารกิจทุกครั้งมีความปลอดภัย

อยากฝากไปถึงประชาชนที่พบเห็นงู ขออย่าได้ทำร้าย เพราะสัตว์ทุกตัว รักชีวิตเหมือนเราทุกคน โดยขอให้ตามเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือ จะเป็นการลดความสูญเสียทั้งชีวิตคน และชีวิตสัตว์ได้ดีที่สุด

อธิคม สิงขรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image