25 ม.ค.ยื่น ‘ซักฟอก’ พิสูจน์ฝีมือ 2 ขั้ว รัฐบาล-ฝ่ายค้าน

25 ม.ค.ยื่น ‘ซักฟอก’ พิสูจน์ฝีมือ 2 ขั้ว รัฐบาล-ฝ่ายค้าน

ในที่สุดพรรคฝ่ายค้านก็มีมติจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นคนเปิดเผยเบื้องต้นว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านตกลงกันแล้วว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล

จะดำเนินการให้ได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันอีกครั้งว่า จะยื่นญัตติเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 25 มกราคม เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา

Advertisement

คาดว่าประธานสภาใช้เวลาตรวจสอบญัตติประมาณไม่เกิน 7 วัน จากนั้นส่งให้รัฐบาล เพื่อตอบกลับมา

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ นายชัยธวัช ตุลาธร เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ออกมายืนยัน

โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เห็นว่า ถ้าอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ได้จะดีมาก

Advertisement

ส่วน นายชัยธวัช เห็นว่า เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติในวันที่ 25 มกราคม ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะบรรจุญัตติเกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์

พรรคร่วมฝ่ายค้านคำนวณเวลาแล้ว มั่นใจว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าเกิดขึ้นได้ภายในสมัยการประชุมนี้

นั่นคือไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์

การอภิปรายไม้ไว้วางใจครั้งนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนๆ

แม้ว่าบทสรุปของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เดาได้ว่ารัฐบาลจะเป็นฝ่ายชนะเสียงในสภา

แต่เนื้อหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สามารถให้คุณและโทษแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทั้งคณะรัฐมนตรี

ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ

รวมไปถึง ส.ส.ผู้ทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว เสียงสะท้อนจากการทำหน้าที่ดังกล่าวยังคงปรากฏเด่นอยู่ในความทรงจำ

วันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ เมื่อบรรยากาศของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนกับการเปิดทางให้รัฐบาลแถลงผลงาน

วันต่อๆ มาพรรคร่วมฝ่ายค้านพยายามเพิ่มความหนักแน่นของเนื้อหา เกิดเป็นประเด็นเด่นชัดในเรื่อง ปฏิบัติการไอโอ ที่มีเป้าหมายทางการเมือง

กลายเป็นประเด็นการเมืองที่มีการขยายผลกันต่อมา และกลายเป็นข้อครหาที่ฝ่ายรัฐบาลและกองทัพต้องปรับปรุง

แต่สุดท้ายเมื่อการบริหารจัดการของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีปัญหา ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กระทำไม่ได้เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ

ก่อเกิดกระแสตีกลับ พรรคเพื่อไทยกลายเป็นเป้าโจมตี พรรคร่วมฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำอีกครั้ง

กระแสเรื่อง “ข้อสอบรั่ว” ประเด็น “ฮั้ว” และอื่นๆ ได้ทิ่มแทงเข้าใส่พรรคร่วมฝ่ายค้านแทนรัฐบาล

มีผลต่อความศรัทธาในการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “แก้มือ” ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

หรืออาจจะมองได้ว่าเป็น “โอกาส” ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ เพราะจุดแข็งของรัฐบาลที่สุดคือการควบคุมโรคโควิด-19 ระบาดกำลังกลายเป็นคำถาม

การระบาดรอบใหม่ที่มีต้นเหตุมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งการลักลอบนำแรงงานต่างชาติ ทั้งการเปิดบ่อนการพนัน ที่กลายเป็นแหล่งระบาด กลายเป็นคำถามต่อการบริหารจัดการ

ยิ่งเมื่อสาวลึกลงไปถึงตัวบุคคล กลับพบมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับนักการเมือง

มีบางส่วนที่น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการกับการระบาดรอบใหม่โดยใช้เวลาจนถึงบัดนี้ สถิติการระบาดไม่รุนแรงบานปลาย

แต่ผลกระทบจากการระบาดที่ผ่านมาก็ทำให้เศรษฐกิจติดหล่ม

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะเดินหน้าได้ตั้งแต่ต้นปี 2564 กลับต้องร้องเพลงรอ

รอดูสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ ควบคู่ไปกับการเดินไปข้างหน้า

งบประมาณอีกจำนวนมากต้องใช้ไปเพื่อการเยียวยา

เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ามีประมาณ 6 แสนล้านบาท

ดังนั้น แค่ประเด็นการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายเพราะธุรกิจมืดผิดกฎหมาย เมื่อมาโยงกับความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งในฐานะผู้นำรัฐบาล ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำทหาร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำตำรวจในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจ

ทุกหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต่อการปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายต่างขึ้นอยู่กับนายกฯ

เมื่อสถานการณ์ระบาดเกิดขึ้น การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ปรากฏชื่อออกมาเป็นระยะๆ

ทุกคนต่างมีโอกาสต้องชี้แจงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในจังหวะเวลาที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ สังคมมีคำถามมากมายต่อรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนในการอภิปราย

การทำหน้าที่ของ ส.ส. ผู้อภิปราย ข้อมูลหลักฐาน การอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ และชี้ให้เห็น “ความไม่น่าไว้วางใจ” ของรัฐบาล ถือเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เช่นเดียวกับการประสานงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน การบริหารจัดการของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อมิให้เกิดจุดโหว่ซ้ำเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปีก่อน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงมีความสำคัญ

สำคัญต่อรัฐบาล สำคัญต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน

และที่สำคัญที่สุด คือ เนื้อหาข้อมูลในการนำเสนอและชี้แจงในสภา จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ดังนั้น ทั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องให้ความสำคัญต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีผลกระทบต่อตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image