สภาอุตสาหกรรมฯนอร์เวย์โชว์ตัวเลขส่งออกอาหารทะเล ยังโตสวนโควิด-19 เหตุผู้บริโภคเชื่อมั่น

มร.อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาจะส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดนิ่ง แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ถือว่าผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก และไม่แน่นอนที่สุดของโลก และยังคงความเป็นผู้นำในตลาดอาหารทะเลไทยไว้ได้ โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรด้านธุรกิจ เพื่อปรับตัวและคิดค้นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้แซลมอนนอร์เวย์ยังเป็นที่ต้องการและเป็นวัตถุดิบยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย แม้เทรนด์การบริโภคอาหารจะเปลี่ยนเป็นการทำที่บ้านและสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้นก็ตาม

ตัวเลขปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งโดยรวมของปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในตลาดไทยปี 2563 มีอัตราลดลงเล็กน้อย โดยแซลมอนอยู่ที่ 14,083 ตัน (ลดลงร้อยละ 10) ฟยอร์ดเทราต์ 4,903 ตัน (ลดลงร้อยละ 12) และแมกเคอเรล 8,873 ตัน (ลดลงร้อยละ 1) เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งนับว่ามีอัตราการลดลงที่ต่ำมากเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมของตลาดและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับตัวเลขปริมาณการส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ทั่วโลกอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 มีมูลค่าอยู่ที่ 3.77 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับมื้ออาหาร 37 ล้านมื้อต่อวัน หรือ 25,000 มื้อต่อนาที

มร.อัสบีเยิร์นกล่าวว่า เทรนด์ของอาหารทะเลมีการเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2563 แต่แนวทางต่างๆ ที่ออกมารองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในปัจจุบันทำให้อาหารทะเลนอร์เวย์ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ช่องทางรายได้จากร้านอาหารและโรงแรมหายไป การขนส่งสินค้าต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลของนอร์เวย์รวมไปถึงแซลมอน จึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต บริการเดลิเวอรี และการสั่งอาหารกลับบ้าน

Advertisement

มร.อัสบีเยิร์นกล่าวว่า มีปัจจัยหลัก 5 ข้อที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ประสบความสำเร็จในยุคโควิด-19 มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ประกอบไปด้วย ค่าเงินโครนนอร์เวย์ที่อ่อนตัวลง, ความสามารถในการปรับตัวที่ฉับไวของอุตสาหกรรม, ปลาบางสายพันธุ์ที่มีอัตราการเติบโตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แมกเคอเรลและเฮร์ริง, ตัวเลขการส่งออกแซลมอนที่สูงเป็นอันดับสองในรอบหลายปี และความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของอาหารทะเลนอร์เวย์ในตลาดโลก

“ในยุคที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคในไทยและทั่วโลกหันมาใส่ใจแหล่งที่มา และมาตรฐานความสะอาดของอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ตลอดทั้งปีสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความกังวลด้านอาหารต่างๆ และสร้างความเชื่อมั่นว่าอาหารทะเล และแซลมอนสดจากนอร์เวย์ ปลอดภัย รับประทานได้ ในขณะเดียวกันยังผลักดันให้ผู้บริโภคปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัด และมีการอัพเดตข้อมูลจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนอร์เวย์และสถาบันวิจัยทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พันธมิตรค้าปลีกและผู้บริโภคสามารถประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง” มร.อัสบีเยิร์นกล่าว

มร.อัสบีเยิร์นกล่าวว่า ในปีนี้ อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตอาหารทะเลที่ปลอดภัย ยั่งยืน และอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ให้กับผู้บริโภคไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ ตัวเลือกด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพและความยั่งยืนเป็นที่ต้องการมาก ประเทศไทยเองเป็นตลาดที่ตอบรับกับกระแสนิยมและมีการปรับตัวได้รวดเร็ว ผู้บริโภคไทยเปิดรับไอเดียและสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ทางสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ จึงมีแผนที่จะส่งแคมเปญการตลาดออนไลน์ต่างๆ และกิจกรรมทางการตลาดกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรค้าปลีกทั้งหลาย เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image