แพทย์เตือนสูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้ามวนเดียวกันเสี่ยงติดโควิด-19 พร้อมย้ำหยุดเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

แพทย์เตือนสูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้ามวนเดียวกันเสี่ยงติดโควิด-19 พร้อมย้ำหยุดเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

 

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการระบาดของเชื้อไวรัสไวรัสโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ ล่าสุดมีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้ออายุ 22 ปี ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ได้สังสรรค์กับเพื่อนกว่า 20 คน ที่บ้านพัก พร้อมสูบบุหรี่มวนเดียวกันทั้ง 20 คน ว่า การสูบบุหรี่มวนเดียวกันเป็นความเสี่ยงสำคัญในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะขณะที่คนหนึ่งคนสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่อยู่ปลายมวนคือน้ำลายหรือมูกเคลือบอยู่ ดังนั้นเมื่อสูบร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีโอกาสรับเชื้อเข้าไปที่ร่างกายทันที รวมทั้งโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ไวรัสตับอักเสบเอ หรือแม้กระทั่ง HIV

“ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ พอคนอีกคนหนึ่งเอาบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามวนเดียวกันเข้าปากตัวเองเพื่อที่จะสูบต่อ เป็นการกระจายเชื้อโรคเพราะเชื้อโรคหรือแม้กระทั่งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดแพร่กระจายผ่านทางน้ำมูกน้ำลาย เมื่อคนหนึ่งใช้แล้วแชร์อุปกรณ์เดียวกันซึ่งมีน้ำมูกน้ำลายอยู่ปลายอุปกรณ์ให้กับคนอื่น ก็เป็นการกระจายเชื้อโรคไปพร้อมกัน เคยมีรายงานกรณีแบบนี้อยู่ในประเทศไทยเมื่อช่วงตอนต้นปีที่แล้ว และในต่างประเทศก็มีรายงานอย่างนี้ออกมาเป็นระยะ” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่เพียงแค่การแชร์บุหรี่มวนเดียวกันเท่านั้นที่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การสูบบุหรี่ในพื้นที่เดียวกัน ใกล้ชิดกัน ก็มีความเสี่ยงอาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน เพราะมีงานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากที่ระบุชัดว่า บุหรี่ 1 มวน สามารถที่จะปล่อยอนุภาคขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และอนุภาคเหล่านี้สามารถนำพาเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งในการสูบบุหรี่ 1 มวน จะมีอนุภาคที่ออกมาประมาณ 5 หมื่นอนุภาคต่อพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ลบ.ซม.) ก็เทียบเท่าลูกเต๋า 1 ลูก และในพื้นที่ 1 ลบ.ซม. จะมีเชื้อโรคอยู่ประมาณ 5 หมื่นอนุภาค ดังนั้นเวลาคนที่สูบบุหรี่แล้วไปปาร์ตี้ด้วยกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แชร์บุรี่กัน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เพราะแม้จะไม่แชร์ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

Advertisement

“ก็เป็นสิ่งที่อยากจะเตือนท่านที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าให้ระมัดระวังอย่าการ์ดตก ที่สำคัญ คือ ห้ามแชร์บุหรี่เด็ดขาด หรือแม้กระทั่งการที่คุณสูบบุหรี่และนั่งคุยกันไป ก็มีโอกาสที่จะกระจายเชื้อโรคได้เหมือนกันแม้จะไม่แชร์ก้นบุหรี่ก็ตาม เพราะมีอนุภาคหลุดลอยออกมากับควันบุหรี่ที่คุณพ่นออกมา แล้วก็แชร์อากาศที่หายใจอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีโอกาสที่จะติดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยไม่สัมผัสก้นบุหรี่เลยก็ได้” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวย้ำ

รองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวอีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้สามารถติดเชื้อได้ง่าย เพราะเวลาที่คนหนึ่งสูบบุหรี่ หากคนที่ป่วยแล้วก็ไปสูบบุหรี่อยู่บริเวณไหนก็แล้วแต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่จะลดกลไกการป้องกันตัวเองหรือภูมิคุ้มกันที่อยู่ในตัวลง เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสติดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจสูงกว่าคนที่ไม่สูบ อย่างน้อย 3-5 เท่า เพราะฉะนั้นต่อให้ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สูบบุหรี่ ก็มีความเสี่ยง และหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เแล้วสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายเชื้อโรคไปสู่ตนเองและครอบครัวด้วย

“ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ หยุดสูบบุหรี่ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะทำให้ภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจดีขึ้น และอย่างน้อยเราจะไม่แพร่กระจายเชื้อให้กับคนที่เรารัก คนที่บ้าน หรือคนที่ทำงาน การหยุดสูบบุหรี่ก็จะทำให้ประหยัดเงิน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโควิดเช่นนี้ เราจะมีเงินออมไว้ในกระเป๋ามากขึ้นด้วย นับว่าได้ประโยชน์ทุกด้านนะครับ สำหรับการไม่สูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้”

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากใครต้องการเลิกบุหรี่ สามารถเข้ารับบริการได้หลายช่องทาง ซึ่งช่องทางที่ง่ายที่สุด คือ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำแนวทางหรือเทคนิคในการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แบบง่าย ๆ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรืออาจเดินทางไปโรงพยาบาลของรัฐ ที่คลินิกทั่วไปหรือคลินิกฟ้าใส ซึ่งปัจจุบันนี้ให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด สามาถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ Facebook แฟนเพจของคลินิกฟ้าใสหรือโทรศัพท์ไปสอบถามที่หมายเลข 02-716-6556 เพื่อปรึกษาหรือนัดหมายเวลาในการเข้ารับบริการ

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ยังร่วมกับกรมควบคุมโรค ในการให้บริการเลิกบุหรี่กับผู้ประกันตนในสถานประกอบการต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1 แสนรายฟรี โดยจะได้รับยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีมาตรฐาน เพื่อทำให้การเลิกบุหรี่ง่าย สะดวก และผลสำเร็จสูงมาก ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามได้จากสำนักงานประกันสังคมใกล้เคียงหรือที่กรมควบคุมโรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image