ล้อมคอกอุทยานฯ จัดระเบียบนักท่องเที่ยว สกัดเหตุร้าย

ล้อมคอกอุทยานฯ จัดระเบียบนักท่องเที่ยว สกัดเหตุร้าย

แม้จะไม่บ่อยครั้งนักสำหรับการเกิดโศกนาฏกรรม ระหว่างการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น

เหตุการณ์นักท่องเที่ยวพลัดตกจากเหว เพราะอยากได้ภาพถ่ายสวยๆ จึงถ่ายรูปแบบเซลฟี่ แบบไม่ระวังตัวเอง

เหตุการณ์จระเข้งับขานักท่องเที่ยว เพราะการเข้าไปยั่วแหย่แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมไปถึงการอยากได้ภาพถ่ายคู่กับสัตว์ร้ายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง

และล่าสุด ช้างเข้าไปเหยียบนักท่องเที่ยว ที่นอนกางเต็นท์อยู่บริเวณผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เสียชีวิต สร้างความหวาดหวั่นให้นักท่องเที่ยวที่กำลังจะตัดสินใจเดินทางไปพักผ่อนในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

ทั้งนี้ สถิติช้างป่าทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิตนั้น ในปี 2563 มีจำนวน 39 ราย ลดลงจากปี 2562 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 48 ราย รวมทั้งสถิติช้างออกนอกพื้นที่ป่ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านก็ลดลงด้วย

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าของสถานที่เกิดเหตุในหลายๆ พื้นที่ จึงต้องปรับรูปแบบ แผนการ และแนวทางในการให้บริการ การดูแล และคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่ ที่เคยหละหลวม บกพร่อง หรือไม่รอบคอบ

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เรื่องช้างที่ออกมาทำร้ายนักท่องเที่ยว เบื้องต้นตั้งแนวทางไว้ 3 ประเด็น คือ 1.การติดปลอกคอทำให้ช้างหงุดหงิดจริงหรือไม่ 2.ช้างออกมาหาอาหาร 3.ช้างตกมัน หรือมีประเด็นอื่นๆ ที่เห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การตัดสินใจจะต้องมีหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจน วันนี้จะไปเจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่งไม่ได้ เพื่อความรอบคอบ ต้องอาศัยหลักวิชาการและผู้มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมพิจารณา อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทได้สั่งปิดลานกางเต็นท์ทั้ง 2 จุด คือผากล้วยไม้และลำตะคองแล้ว หากจะเปิดต้องหามาตรการป้องกันให้ได้เสียก่อน และต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (PAC) เรื่องนี้ต้องรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาก่อน

Advertisement

นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดเปลี่ยนแปลงไป เช่น เส้นทางเดินของช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต้องรอผลการศึกษาออกมาชัดเจนถึงเรื่องพฤติกรรมและเส้นทางเดิน ซึ่งรวมถึงอุทยานฯทั่วประเทศ โดยพื้นที่ล่อแหลมและมีประชากรช้างชุกชุมต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาทิ อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา เขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติป่าละอู เป็นต้น

“การจัดระเบียบการท่องเที่ยวจะทำคู่กันไปกับความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของการรักษาความปลอดภัย นั่นคือ ในพื้นที่อุทยานฯที่มีความสุ่มเสี่ยง การเข้ามาพักค้างแรม หรือเดินป่าศึกษาธรรมชาติ จะต้องมีการลงทะเบียนอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมไปถึงการตรวจสอบความพร้อมทางด้านสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ทุกคณะจะต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปด้วยทุกครั้ง สำหรับการกางเต็นท์พักแรมในอุทยานฯ จะมีการวางเวรยามรักษาความปลอดภัยอย่างถ้วนถี่มากขึ้น ทั้งนี้ บางพื้นที่จะต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยมากขึ้น เช่น กรณีของการที่ช้างเข้ามาบริเวณที่นักท่องเที่ยวกางเต็นท์ที่ผากล้วยไม้นั้น พบว่านักท่องเที่ยวมีผลไม้จำนวนมากอยู่ในเต็นท์ มีความเป็นไปได้สูงว่าช้างอาจจะตามกลิ่นผลไม้มา ดังนั้น นอกจากห้ามนำเอาสุราเข้ามาในอุทยานแห่งชาติแล้ว คงต้องห้ามเอาผลไม้เข้ามาบริเวณที่มีการกางเต็นท์ด้วย” นายดำรัสกล่าว

ขณะเดียวกันมีการตั้งประเด็นเรียกร้องให้กรมอุทยานฯถอดปลอกคอ หรือคอลลา ที่ใช้สำหรับติดตามดูพฤติกรรมของช้าง โดยเฉพาะช้างตัวที่เป็นหัวโจกของโขลง หรือตัวที่เคยมีประวัติทำร้ายคนนั้น นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์ติดตามตัวสัตว์ ประเด็นแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ได้เพิ่งดำเนินการ ซึ่งการใช้อุปกรณ์ติดตามตัวช้าง กรมอุทยานฯเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่าและเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า โดยปัจจุบันติดอุปกรณ์แล้วในพื้นที่ 4 กลุ่มป่า 5 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 11 ตัว และมีเป้าหมายดำเนินการทั่วประเทศ 67 ตัว ส่วนการติดปลอกคอมีผลต่อพฤติกรรมสัตว์หรือไม่นั้น ในทางวิทยาศาสตร์อุปกรณ์ที่ติดตามตัวสัตว์จะมีน้ำหนักไม่เกิน 2% เมื่อเทียบกับช้างน้อยกว่า 0.5% ของน้ำหนักตัว คือหนักเพียงแค่ 10 กก. และอุปกรณ์นี้แพร่หลายทั้งในไทยและระดับสากล เป็นการยังประโยชน์ในการจัดการช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ

“ช้างเป็นสัตว์เรียนรู้เร็ว มีสมองขนาดใหญ่ ในช่วงแรกๆ ในบางเคสบางตัวอาจมีความรู้สึกแปลกปลอม แต่อาการนี้จะหายไปในระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นจะคุ้นชินกับอุปกรณ์ เพราะในทางเทคนิคมีน้ำหนักเบามาก จากนั้นจะเข้าสู่พฤติกรรมการหากินปกติ และไม่มีผลต่อพฤติกรรมและการปรับตัวของช้าง เมื่อเทียบกับการใช้กำลังคนและทรัพยากรในการเฝ้าระวัง ติดตามช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ และก่อให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งอุปกรณ์ตัวละ 1 แสนบาท ถือว่ามีความคุ้มค่าเพราะมีระยะเวลาในการใช้งานได้ 10 ปี” นายศุภกิจระบุ

ด้าน นายรองลาภ สุขมาสรวง อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษานิเวศวิทยาและการเคลื่อนที่ช้างป่า อุทยานฯ เขาใหญ่ กล่าวว่า ตนสนใจศึกษานิเวศวิทยาในเชิงลึก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ช้างป่าเขาใหญ่โดยการติดสัญญาณวิทยุดาวเทียม เพื่อศึกษาว่าผลกระทบจากการท่องเที่ยวส่งผลอย่างไรต่อช้างป่า ทั้งในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และบริเวณที่ช้างป่าเขาใหญ่ออกนอกพื้นที่ โดยได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน และติดปลอกคอช้างเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่ใช้เป็นระบบปฏิบัติการของอินเดีย มีอายุการใช้งาน 10 ปี โดยมีดาวเทียมรับส่งสัญญาณในประเทศอินเดีย ซึ่งเปิดใช้งานได้ตั้งแต่หลังติดอุปกรณ์ โดยในวันเกิดเหตุก็พบว่ามีสัญญาณของพลายดื้ออยู่รอบๆ บริเวณผากล้วยไม้ แต่ไม่ใช่จุดเกิดเหตุ รวมทั้งทราบว่ามีเสียงช้างป่าร้องรับส่งกันโดยรอบบริเวณด้วย โดยอุปกรณ์จะส่งสัญญาณมาทุกๆ 4 ชั่วโมง ซึ่งหลังเกิดเหตุได้ปรับเวลาการส่งสัญญาณเป็นทุกๆ 1 ชั่วโมงแล้ว ทั้งนี้ สัญญาณอาจขาดหายไปได้หากช้างเข้าไปในพื้นที่ป่าทึบอับสัญญาณ ทั้งนี้ ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯให้ดำเนินการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยเดิมจะดำเนินการติดปลอกคอ 2 ตัว คือช้างที่ออกมาในพื้นที่ส่วนนันทนาการ คือพลายดื้อ และช้างที่ออกนอกพื้นที่ป่าเขาใหญ่ และเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงต้องชะลอไว้ก่อน

หลังจากนี้กรมอุทยานฯเดินหน้าจัดระเบียบการท่องเที่ยว เพิ่มความเข้มข้นด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะนักเที่ยวที่นิยมเข้ามาพักค้างแรมและเดินป่าศึกษาธรรมชาติด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image