เพราะหนังสือคือชีวิตและจินตนาการ ธนาคารกรุงเทพจับมือประพันธ์สาส์น สานฝัน-เติมจินตนาการให้น้องน้อย มอบหนังสือดี 400 ห้องสมุด

เพราะหนังสือคือชีวิตและจินตนาการ ธนาคารกรุงเทพจับมือประพันธ์สาส์น สานฝัน-เติมจินตนาการให้น้องน้อย มอบหนังสือดี 400 ห้องสมุด

เพราะหนังสือคือชีวิต ปลุกความฝัน เติมจินตนาการ…

หนังสือเพียงเล่มเดียวสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ การมอบหนังสือจึงเป็นการมอบโอกาสให้แก่เด็กๆ ผ่านห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลน 400 แห่ง ทั่วประเทศ

นับเป็นปีที่ 12 แล้ว ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังกับ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จัดโครงการมอบหนังสือชุดพิเศษเสริมประสบการณ์ชีวิตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้มอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 400 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “หนังสือเพื่อชีวิต และจินตนาการ” รวมมูลค่า 7 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ (สีลม)

การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อโครงการดีๆ เช่นนี้ แม้ต้องรักษาระยะห่าง แต่ด้วยนวัตกรรมการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์อย่างแอพพลิเคชั่นซูม ทำให้คุณครูจากโรงเรียนตัวแทนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสำคัญนี้แบบเรียลไทม์ผ่านจอ LED ขนาดใหญ่ภายในงาน

Advertisement

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นมอบหนังสือคุณภาพในด้านเนื้อหาวิชาการและการส่งเสริมจินตนาการต่างๆ มากว่า 10 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 12 เพราะฉะนั้นในเรื่องของการคัดเลือกต่างๆ เราได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการคัดเลือกหนังสือที่เราเชื่อว่าเหมาะสม ช่วยในการเสริมสร้างจินตนาการและกระจายหนังสือต่างๆ ไปในหลายพื้นที่ที่มีความขาดแคลน

ในปีนี้ได้คัดเลือกหนังสือ 3 ชุดหลัก คือ 1.นิทานสองภาษา 2.หนังสือเพื่อชีวิตและจินตนาการ ซึ่งถือว่าสำคัญและจำเป็นมาก และ 3.หนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ แม้จะเป็นชุดหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วนานนับสิบปี แต่เชื่อว่าหลักคิดต่างๆ ที่สะท้อนผ่านหนังสือคลาสสิกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังมีคุณค่าในสังคมสมัยใหม่ จึงอยากส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านเรื่องเหล่านี้เช่นกัน

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

“ในเรื่องระบบการศึกษา ต้องถือว่าการอ่านเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่การอ่านยังเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องมี ฉะนั้น การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องส่งเสริม ทางธนาคารกรุงเทพ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และ สพฐ.เราดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นปีที่ 12 แล้ว การคัดเลือกหนังสือกระทำอย่างถี่ถ้วน เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านเรื่องคุณค่าต่างๆ ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมให้เกิดทักษะการอ่านในเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเน้นการกระจายหนังสือไปยังพื้นที่ห่างไกล”

Advertisement

ทางด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า บอกว่าตนเองเป็นอีกคนที่มีวันนี้ได้เพราะการอ่าน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนประถมอยู่โรงเรียนชนบท มีหนังสือเรียนเพียงปีละ 1 เล่ม ซึ่ง 1 เล่มที่ได้รับก็เป็นหนังสือที่รับต่อมาจากรุ่นพี่อีกทีหนึ่ง เมื่อได้เรียนชั้นมัธยมจึงมีแรงบันดาลใจว่าโตขึ้นจะหนีความยากจน หนีความลำบากของชนบทให้ได้ จนก้าวมาถึงวันนี้ได้ก็มาจากการอ่าน การมีความฝัน มีจินตนาการ จึงยินดีอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่และองค์กรภาคเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา

ดร.อัมพร พินะสา

“ผมคิดว่าการศึกษานอกจากจะทำให้คนนั้นมีชีวิตรอดแล้ว การศึกษาต้องสร้างให้คนมีแรงบันดาลใจในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพื่อสร้างตนเอง สร้างครอบครัว สร้างสังคมและประเทศชาติ” และว่า ปัจจุบันแม้ว่าสถิติการอ่านของคนไทยละลดลง หันไปใช้วิธีการฟังการดูมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงถ้าได้อ่านจะได้เห็นทั้งแนวคิด รู้จักการวิเคราะห์ ดังที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญ ตรัสว่า การเรียนการศึกษาต้องมีทั้งสุจิปุลิ จึงจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการได้อย่างแท้จริง

หนังสือก็เหมือนกับขุมทรัพย์ที่เราจะส่งต่อขุมทรัพย์นี้ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ไปยังมือของนักเรียนของเราทั่วประเทศ ส่งเสริมให้นักเรียนได้รักการอ่าน ถ้านักเรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น และหวังว่าขุมทรัพย์ที่ส่งมอบนี้จะถูกนำไปใช้และต่อยอดให้เกิดคุณค่าสมกับความตั้งใจและปรารถนาดีของทางธนาคารกรุงเทพ และเจตนารมณ์ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่ร่วมกันจัดทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี

“พูดถึงการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผมคิดว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในการที่รัฐจะต้องจัดให้กับคนไทยทุกคน สิ่งที่เราคาดหวังจากการศึกษาคือเราอยากเห็นเด็กไทยเราโตขึ้นมาเป็นคนที่มีสมรรถนะ ทันโลก และแข่งขันกับประชากรโลกได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความดีงามที่เป็นไทย ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราต้องรักษาไว้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายการศึกษาในอนาคต ฉะนั้น สิ่งแรกคือเราต้องให้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กและเยาวชน” ดร.อัมพรบอก และว่า

เครื่องมือทางการศึกษาที่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ทักษะกระบวนการคิด รวมไปถึงเรื่องทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม ผมคิดว่าตรงนี้ห้องสมุดและหนังสือเป็นอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนที่สำคัญอันหนึ่ง

“หนังสือยังเป็นสื่อที่สำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ให้มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ เมื่อเกิดแนวคิดและนำไปลงมือปฏิบัติจะทำให้เกิดทักษะ สมรรถนะที่ต้องการ สุดท้ายแล้วการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการเตรียมคนสู่การมีอาชีพ และมีงานทำ และเป็นคนที่สมบูรณ์ในอนาคต” เลขาธิการ สพฐ.กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 เป็นผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะ Work from home เพื่อเว้นระยะห่าง เช่นเดียวกับโรงเรียนต่างๆ ที่ใช้ระบบการเรียนออนไลน์ โอกาสที่เด็กน้อยจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับการอ่านหนังสือในห้องสมุดจึงต้องทอดเวลาออกไป อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ในที่ประชุมโครงการแสดงความกังวลและได้สะท้อนความเห็นมาโดยตลอด มองว่าอีบุ๊กเป็นสิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์นี้

 “เนื่องจากการจัดงานแต่ละปี เราต้องใช้เวลาในการเตรียมงานล่วงหน้ามานานหลายเดือน ครั้งนี้ก็เช่นกัน เป็นจังหวะที่โควิด-19 กำลังระบาด แน่นอนว่า อย่างไรหนังสือก็เป็นประโยชน์สำหรับห้องสมุด ยังใช้ประโยชน์ได้ยาวๆ ต่อเนื่องไปให้กับเด็กๆ รุ่นหลังๆ ขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งในส่วนของสื่อออนไลน์ หนังสือชุดที่เรามอบให้กับห้องสมุด 400 แห่ง ในปีนี้ เราได้จัดทำในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว” อาทรบอก และย้ำว่า

เพียงเข้าไปที่ www.praphansarn.com สามารถอ่านหนังสือได้ในรูปของอีบุ๊ก รวมทั้งในส่วนของหนังสือชุดสองภาษา เราจัดทำในรูปของหนังสือเสียงด้วย เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสำเนียงภาษาที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image