พัฒนาชุมชนแม่แจ่ม อบรมนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ตามหลัก ‘โคก หนอง นา โมเดล’

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ในการมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล และให้แนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมีนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นายวิทยา ชุมภูคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ นางเสาวลักษณ์ ไชยเมือง พัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม ทีมพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จำนวน 70 คน และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household lab model for quality of life : HLM) จำนวน 30 คน รวม 100 คน เข้าร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกภูมิภาคในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 24,842 ครัวเรือน โดย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 1 อำเภอแม่แจ่ม ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดการฝึกอบรมทั้ง 4 คืน 5 วันนี้ มุ่งส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายทั้ง 100 คน ได้เรียนรู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ”โคก หนอง นา โมเดล” ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้และปฏิบัติได้จริง ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ทั้งในระดับตำบล (Community Lab Model for quality of life : CLM) และระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of life : HLM) โดยเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่าการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตและหนทางนำพาพ้นวิกฤต ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนรับมือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสามารถปรับประยุกต์เป็นหลักในการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงในยามปกติต่อไป

โดยหลักสูตรของการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล นี้ ดำเนินการในรูปแบบการบรรยาย การแบ่งกลุ่มอภิปราย การถอดบทเรียนผ่านสื่อ ผสานกับการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง “Learning by Doing” ผ่านฐานการเรียนรู้ 7 ฐาน ได้แก่ ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้เกี่ยวกับการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ,ฐานคนรักษ์แม่ธรณี เรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากแนวคิด “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ,ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้ศาสตร์การจัดการและอนุรักษ์น้ำ อาทิ โครงการฝนหลวง เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสียโดยกลักธรรมชาติ ,ฐานคนรักษ์แม่โพสพ เรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ดังคำที่ว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ,ฐานคนรักษ์สุขภาพ เรียนรู้วิธีการมีสุขภาพที่ดีแบบวิถีพอเพียง , ฐานคนมีน้ำยา เรียนรู้วิธีการทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และฐานคนเอาถ่าน เรียนรู้การทำถ่านธรรมชาติและประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

ทั้งนี้ หลังจากผ่านการฝึกอบรมทั้งนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องนำความรู้ ความเข้าใจลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ปรับประยุกต์อย่างสอดคล้องกับภูมิสังคมตามเป้าประสงค์ สามารถเป็นครูพาทำขยายผลการเรียนรู้หมุนเวียนไปร่วมเอามื้อสามัคคีร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน จำนวน 1,396 แปลง และ ระดับตำบล จำนวน 7 แปลง ของอำเภอแม่แจ่ม ต่อไป”

ส่วน นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความสุข มีความมั่นคง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนพัฒนา โดยตลอดมาเห็นว่ากรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างเป็นรูปธรรมผ่านหลากหลากภารกิจ หลากหลายโครงการ ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ถือได้ว่าเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งใหญ่ด้วยการประยุกต์ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิดทฤษฎีอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ในการจัดการพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ตามภูมิสังคม ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำผลผลิตมาสู่การต่อยอดแปรรูปในขั้นก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เป็นการรับมือแก้ไขปัญหาในหลากหลายมิติ

แม้โครงการจะได้ชื่อว่า “พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” แต่โดยนัยที่แท้จริงคือการพัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยศาสตร์พระราชา ดังนั้น ทุกท่านที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้จึงมีภารกิจที่สำคัญในการเป็นแกนนำ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ตนเองให้เป็นที่ประจักษ์สมบูรณ์ ในการทำงานต้องเป็นเพื่อนคู่คิด หมั่นศึกษาเรียนรู้ รู้ในองค์ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรู้รักสามัคคีด้วย”

Advertisement

นายประชา กล่าวด้วยว่า “แม้สถานการณ์ของประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การสาธารณสุข การคมนาคม อย่างมาก แต่เชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยทุกภาคีเครือข่าย จะสร้างโอกาสผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ นำสู่การปฏิวัติแนวคิด จัดสรรชีวิตให้เกิดความสมดุล การจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างแหล่งอาหารภายในพื้นที่ของตนเองลดภาวการณ์ขาดแคลนความมั่นคงทางอาหาร การลงมือปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ตามหลักภูมิสังคมอย่างเป็นระบบ มีการบริหารจัดการดิน น้ำในพื้นที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้ง และในระยะยาวนั้นยังเป็นการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ตามหลักการต้องปลูกไม้ 5 ระดับ หรือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เรียกได้ว่าความร่วมไม้ร่วมมือของทุกท่านต่อแต่นี้ จึงเปี่ยมไปด้วยการสร้างสรรค์ประโยชน์และความสุขที่ถ่องแท้ได้อย่างยั่งยืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image