ศบค. เคาะเปิดเรียน 1 ก.พ.จับตาจว.เสี่ยงให้สลับวันเรียน ‘สุมทรสาคร’ ยังเสี่ยงให้เรียนออนไลน์ต่อ

ศบค. เคาะเปิดเรียน 1 ก.พ. จับตาจว.เสี่ยงให้สลับวันเรียน ‘สุมทรสาคร’ ยังเสี่ยงให้เรียนออนไลน์ต่อ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ ศธ. ประกาศปิดเรียนใน 28 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 4-31 มกราคม เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดเล็ก ได้อนุมัติให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดเปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ที่ยังไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ยังต้องให้เรียนออนไลน์ หรือเรียนรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นให้ใบงาน และให้แบบฝึกหัด เป็นต้น ส่วนโรงเรียนจังหวัดพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถเปิดการเรีนนการสอนได้ แต่การเรียนการสอนจะต้องจำกัดจำนวนนักเรียน โดยให้ 1 ห้องเรียน มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน หากโรงเรียนไหนไม่สามารถทำได้ ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน เช่น เรียนสลับเวลา หรือสลับวันมาเรียน หรือสลับสัปดาห์เรียน เป็นต้น โดยใน 4 จังหวัดดังกล่าว จะใช้เวลา 15 วัน สำหรับในการเรียนการสอนรูปแบบนี้ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้น จะให้กลับไปเรียนตามปกติเหมือนจังหวัดอื่นๆ

“ส่วนนักเรียนที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร ที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถให้มาเรียนได้ เพราะมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งโรงเรียนจะทราบดีว่าต้องจัดการเรียนรูปแบบไหนให้กับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทั้งนี้ หากโรงเรียนเปิดสอนตามปกติแล้ว แต่ผู้ปกครองบางส่วนอาจยังไม่สะดวกใจให้ลูกมาเรียน ที่โรงเรียนเนื่องจากกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ โรงเรียนก็ต้องบริหารจัดการให้ตามความเหมาะสม” นายณัฏฐพลกล่าว

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การอนุมัติทั้งหมดนี้ ต้องเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ และรอประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคมอีกครั้ง แต่เหตุผลที่ทาง ศธ.ต้องประกาศในวันนี้ เพราะโรงเรียนจะได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และหากมีเหตุการณ์ที่ต้องติดตามหรือมีประกาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องยึดประกาศจาก ศบค.ชุดใหญ่ โดยการประกาศเปิดเรียนดังกล่าวนี้ จะทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถคำนวณได้ว่า จำนวนวันที่หายไปโดยไม่ได้ให้บริการเรื่องต่างๆ แก่นักเรียน จะสามารถจัดเป็นส่วนลดภาระของผู้ปกครองได้อย่างไร จำนวนเท่าไหร่ เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่ารถรับส่งนักเรียน หรือค่าทัศนศึกษา เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะต้องสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะรวบรวมข้อมูลมารายงาน ศธ.ต่อไป

“ส่วนของรัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองในช่วงนี้ โดยเฉพาะค่าอินเตอร์เน็ตที่จะใช้เรียนออนไลน์ ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็กำลังพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนอยู่” นายณัฏฐพลกล่าว

Advertisement

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สั่งการให้โรงเรียนหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง พิจารณาคืนเงินให้กับผู้ปกครอง ในรายการที่ได้เรียกเก็บแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การทัศนศึกษา เป็นต้น ถ้าไม่ได้จัดก็ต้องคืนเงินให้ผู้ปกครอง แต่บางรายการ เช่น การจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศก็คืนไม่ได้ เพราะครูก็ยังทำหน้าที่สอน อย่างไรก็ตาม การจะคืนเงินให้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนพราะจะมียอดที่ไม่เท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image