สันติธาร ชี้ทั่วโลกหนีไม่พ้นคลื่น 5D ไทยต้องวางยุทธศาสตร์ความสมดุล 5 ธาตุ เพื่อก้าวต่อที่มั่นคง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 09.00 น. เครือมติชนจัดเสวนา ‘เบรกทรูไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ พลวัตรขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ, ผศ.ดร.ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิดคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021 ดำเนินรายการโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์

ดร.สันติธาร กล่าวว่า ประโยคแรกของบทนำที่ผมชื่นชอบ โลกไม่เคยเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ และจะไม่เปลี่ยนแปลงช้าอีกต่อไป ตอนแรกก็คาดไม่ถึง วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์ใหญ่ๆ มีคลื่นที่เรียกว่า 5D ที่ถูกเร่งมาก่อนกำหนดว่ายุทธศาสตร์จะรับมือเป็นอย่างไร

D แรก คือ Debt ซึ่งตอนนี้หนี้กำลังจะมีทั่วโลก พุ่งสูงขึ้นมาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่าคลื่นยักษ์ของหนี้จะมีสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หนี้ต่อจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวม)จะสูงถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสภาวะหนี้มีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก เป็นสภาวะ 2 เตี้ย

สภาวะเตี้ยแรก คือภาวะเศรษฐกิจที่เตี้ยลงจากปีที่แล้ว ระยะยาวศักยภาพจะไม่ได้เติบโต นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า แผลเป็น เพราะธุรกิจที่ปิดกิจการ แรงงานที่ตกงาน ไม่สามารถเข้าไปเริ่มในอุตสาหกรรมใหม่ได้โดยง่าย เสมือนเศรษฐกิจเป็นนักกีฬาที่เจ็บหนัก แม้แผลจะหายแล้ว แต่ต้องทำกายภาพบำบัด ก่อนที่จะออกมาวิ่งได้เร็วเหมือนปกติ

Advertisement

สภาวะเตี้ยที่ 2 คือดอกเบี้ยที่เตี้ยลง ดอกเบี้ยต่ำอีกนาน ใช้นโยบายคิวอี เพิ่มสภาพคล่อง กดดอกเบี้ยให้ต่ำ ดอกเบี้ยต่ำมีผลอย่างมากจะกระทบมาถึงเรา เงินไหลออกจะมาในทวีปเอเชีย ตลาดการเงินคึกคัก ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น หนี้สูง โดยหนี้ที่น่าห่วงที่สุดคือ หนี้ภาคครัวเรือน 86% ต่อจีดีพี ที่สูงขนาดนี้เพราะไม่ได้เข้าถึงสินเชื่อ แต่เป็นที่รายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง ภาครัฐต้องช่วยคนเปราะบาง อย่าไปห่วงเรื่องการใช้หนี้สาธารณะในตอนนี้

D : Divided ความเหลื่อมล้ำ มั่งคั่ง โอกาส ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก โควิด-19 โจมตีคนสายป่านสั้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปอีก ธนาคารโลกบอกว่าคนไทยจะมีคนยากจนเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน ในปี 2563 กลุ่มที่เปราะบางมากๆคือ กลุ่มเอสเอ็มอี จากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวิเคราะห์กว่า 5 แสนบริษัท 30% ของธุรกิจน่าจะมีปัญหาการชำระหนี้ในปีนี้ 95 % เป็นเอสเอ็มอีทั้งหมด แรงงาน กระทบ 4.7 ล้านคน สภาพเหมือนตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีประกันสังคม อุตสาหรรมการท่องเที่ยว การบิน จะไม่กลับมาในเร็วๆนี้ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าอาจจะเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรคอมพิวเตอร์ แทนแรงงานคนมากขึ้น World Economic Forum มีการสำรวจว่าภาคธุรกิจไทยกว่า 50% จะเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรคอมพิวเตอร์

D : Divergence ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน ขั้วอำนาจจะกลับเข้ามาทางเอเชีย ยอดผู้เสียจากโควิด-19 ในอเมริกาสูงกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในฝั่งเอเชีย ประเทศจีน เวียดนาม เกาหลีใต้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว การที่จีนฟื้นตัวเร็วกว่าอเมริกา จะทำให้เศรษฐกิจจีนแซงหน้าอเมริกาภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน มุ่งไปที่ วงจรคู่ขนาน มีการเปลี่ยนจากโรงงานของโลก ไปเป็นลูกค้าใหญ่ของโลก เปลี่ยนอำนาจต่อรองให้มากขึ้น ใช้เงินหยวนมากขึ้น China Plus One เปลี่ยนซัพพลายเชนแบบใหม่ ไม่ได้ย้ายโรงงานจากจีนออกทั้งหมด เพราะตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญ แต่บางส่วนได้ย้ายมายังกลุ่มประเทศอาเซียน อาเซียนผลักดันเขตการค้าเสรีอาร์เซป ใหญ่ที่สุดในโลกได้ ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

Advertisement

D : digitalization ในปี 2563 อาเซียน 6 ประเทศใหญ่ ใช้อินเตอร์เน็ต 400 ล้านคน กลุ่มผู้ใช้ใหม่อยู่นอกเมืองใหญ่ เราจะช่วยกลุ่มคนเปราะบางด้วยดิจิทัลอย่างไรบ้าง ค้นพบว่ากลุ่มเอสเอ็มอี การค้าออนไลน์ช่วยให้พบตลาดใหม่นอกจังหวัดได้อย่างมาก กว่าครึ่งของเอสเอ็มอีขายสินค้าอยู่แค่ภายในจังหวัดตัวเองเท่านั้น ทำให้มีการเติบโตช้า และรายได้กระจุกตัว หลังวิกฤตโควิด-19 กว่า 80% มียอดขายอยู่ทั่วประเทศ ยอดขายโต 100%

และ D : Degradation โควิดไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง แต่โควิดทำให้คนกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่อย่าง Black Rock เร่งการลงทุนในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสังคม มีธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นเทรนด์สำคัญ

ยุทธศาสตร์ที่จะรับมือ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ประกอบไปด้วย 5 ธาตุองค์ประกอบ คือธาตุลม ลมคือสิ่งรอบตัวที่มองไม่เห็น ลมในยุค 4.0 ก็คือ เดต้า (Data) ข้อมูลที่อยู่ในคลาวด์จำนวนมหาศาล นอกจากนี้มีโครงการภาครัฐจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ทำให้มีข้อมูลที่เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบาง ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิผลมากขึ้น การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานข้อมูลที่ดี ต้องมีการ Open Data เพื่อนำมาประเมินผลโครงการ นโยบายต่างๆทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการถกเถียงอยู่บนฐานของเดต้าไม่ใช่ดราม่า

ธาตุดิน ความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ มีเครื่องมือใหม่ๆที่เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น การเรียนออนไลน์สำหรับผู้ใหญ่
วัยทำงาน มีประโยชน์อย่างมากในยุคดิสรัปชั่น เพราะจะช่วยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อที่จะต้องปลี่ยนอาชีพไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ช่วงโควิด-19ได้เห็นถึงคอร์สเรียนออนไลน์ใหม่ๆมากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อมูลดิจิทัลสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ที่ไม่ถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ต้องเน้นช่วยกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลด้วย ภาครัฐต้องช่วยให้คนเข้าถึงดิจิทัลให้มากขึ้น

ธาตุน้ำ หมายถึงการปรับตัว ที่ล้มแล้วลุกได้ เคยทำการศึกษาร่วมกับ World Economic Forum พบว่ามี 3 ทักษะที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรจะมี คือ 1.ดิจิทัลพื้นฐาน ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้ 2.การมีทัศนคติที่ดี ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆได้ตลอด 3.การเป็นผู้นำที่ดี ผู้นำต้องจุดประกายให้ทุกคนในองค์กร เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และมีการสื่อสารที่ดี

ธาตุไฟ ความสามารถในการแข่งขัน 1.ดึงดูด ที่ไม่ใช่ดึงดูดการลงทุน แต่เป็นการดึงดูดคนเก่ง มีความสามารถ อย่างสิงคโปร์ มีการออกวีซ่าพิเศษเพื่อดึงคนเก่งๆเข้ามาในประเทศ 2.ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นโอกาสที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนดิจิทัล เดต้าเซ็นเตอร์ 3.การปรับลดกฎหมาย ที่สร้างความไม่คล่องตัวให้กับภาครัฐ ซึ่งดิจิทัลสามารถทำให้ง่าย

และ ธาตุไม้ หมายถึงความยั่งยืนทั้งมุษย์และสิ่งแวดล้อม หากประเทศมีการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย สหภาพยุโรป ใช้เงิน 8.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในพลังงานสะอาด ลงทุนในการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จีน ลงทุนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้า

สรุป ไม่ว่าระดับธุรกิจ ระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ย่อมแตกต่างกันไม่ได้ มีคำตอบเดียว ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ธาตุ ธาตุลม การใช้เดต้าสร้างองค์ความรู้ ธาตุดิน การให้ความสำคัญกับคนที่เปราะบาง และช่วยคนที่เปราะบางเสมอ ธาตุน้ำ การยืดหยุ่นปรับตัวได้ ธาตุไฟ สร้างความสามารถของเรา ธาตุไม้ ความยั่งยืนไม่ฉาบฉวย ต้องรักษาสมดุลของแต่ละธาตุให้ดี สิ่งเดียวที่คงที่คือการเปลี่ยนแปลง แม้แต่การเปลี่ยนแปลงเองก็ไม่เคยหยุดนิ่งคงที่ บางครั้งเดินด้วยก้าวหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปี แต่บางจังหวะแค่ปีสองปี เดินได้สี่ก้าว หกเก้า ผมอยากวาดฝันให้ประเทศไทยและทุกท่านเป็นปีที่คว้าโอกาสจากวิกฤตเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันก้าว

หลังจบคำบรรยาย พิธีกรถามว่า เรื่องโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนทั้ง 3 กลุ่ม คือคนแข็งแกร่งมากขึ้น คนที่หยุดอยู่กับที่ และคนที่เปราะบาง ต้องปรับตัวอย่างไร ดร.สันติธาร กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ามีความแตกต่างพอสมควร คือ

1.กลุ่มเอสเอ็มอี มีภาวะขาดเงินสด มีหนี้สูง ต้องการลดต้นทุน พยายามที่จะหาโอกาสตลาดใหม่ๆ ใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย ไม่ใช่หน้าที่ของเอสเอ็มอีอย่างเดียว ต้องมีภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น

2.กลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก สิ่งที่ต้องการมากเลยทั้งโลกและไทย ต้องมีการ”รีสกิล” Reskill ครั้งใหญ่ เรียยกว่า Reskill Revolution คือการทบทวน การปรับทักษะครั้งใหญ่ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่ต้องมีการปรับตัวอย่างมหาศาล เราจะใช้การศึกษาออนไลน์เป็นส่วนหนึ่ง แต่จะต้องมีหลายภาคส่วนมาช่วยกันปรับทักษะใหม่ด้วย

3.คนอยู่นอกระบบ ไม่มีข้อมูล อย่างแรงงานนนอกระบบ แรงงานต่างด้าว ควรจะมีการจัดระเบียบครั้งใหญ่ ต้องดึงเข้ามาในระบบมากขึ้น

4.คนที่อยู่นอกระบบดิจิทัล ในโรงเรียนที่ห่างไกล คนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแต่ไม่มีทักษะเรื่องดิจิทัล ต้องลงทุนทางด้านอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น การให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี การโครงการอบรมความรู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพื่อให้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลให้มากขึ้น

พิธีกรถามต่อว่า เป็นจุดที่คนไทยต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน ได้แล้วรึยัง และต้องรีบหรือไม่ ดร.สันติธาร กล่าวว่า ต้องรีบตั้งแต่ก่อนโควิดเกิดด้วยซ้ำ โควิดเป็นตัวเร่ง การออกจากคอมฟอร์ตโซนส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติ ซึ่งได้พูดเรื่องธาตุน้ำที่ว่าผู้นำ หัวหน้าองค์กรมีความสำคัญมาก

พิธีกรถามอีกว่า เอเชีย อาเซียน ไทย จะได้จังหวะโอกาสได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน ที่จะกลับไปยืนเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเดินโมเดลคู่ขนานของจีนในอนาคต

ดร.สันติธาร กล่าวว่า โอกาสของเอเชียในระยะยาวมาแน่อนน เปรียบเทียบกับการลงทุนหุ้น จะไม่ลงทุนในเอเชียอย่างเดียว ต้องมีการกระจายความเสี่ยง หากประเทศตะวันตกได้รับวัคซีนรวดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆประเทศเหล่านี้อาจจะกระดอนขึ้นมาได้ ต้องไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับตะวันตก เพียงแต่ว่าในอนาคตจะค่อยๆขยับเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ยักษ์สองตัว ระหว่างอมเริกากับจีน ทั้งคู่พยายามแย่งชิงอำนาจกัน ไทยอยู่ตรงกลาง เป็นตัวเล็กๆ ต้องมีการรวมตัวกันอย่างอาเซียน ที่เมื่อมีการเจรจากันจะมีการรวมพลังกัน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่แกนโลกหันมาทางเอเชียมากขึ้น

และคำถามสุดท้าย โอกาสและอนาคตของประเทศไทยหลังโควิด ถ้าไม่มีการปรับตัวอีกอะไรจะเกิดขึ้น ดร.สันติธาร กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยจากที่บลูมเบิร์กบอกว่า ปัจจัยพื้นฐานดีมาก แต่หลายๆคนก็บอกไม่น่าสนใจที่จะลงทุน เพราะจุดเด่นของเศรษฐกิจไทย คือการมีเสถียรภาพในเรื่องของเศรษฐกิจมหภาค เงินเฟ้อต่ำ เกินดุลการค้า ปัจจัยพื้นฐานดี เวลาล้มจะไม่ล้มหนักมากถึงขั้นวิกฤต และจะกระดอนกลับมาเร็ว แต่ข้อเสียคือเมื่อกระดอนกลับมาแล้ว ไทยเริ่มวิ่งช้างกว่าประเทศอื่น นี่คือปัญหา ถ้าพลาดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในตอนนี้ คงไม่ได้เห็นการล้มแบบวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จะเป็นภาพที่ว่าทุกคนวิ่งแซงไทยไปหมด วันนั้นไทยแข่งกับเกาหลีใต้ ต่อมาแข่งกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ไปมาๆตอนหลังมาแข่งกับเวียดนาม จะเห็นประเทศอื่นวิ่งแซงไปหมด นั่นคือความเสี่ยงที่แท้จริง ที่ประเทศไทยตกขบวน ต้องมาคิดว่าไทยเพลย์เซฟไปหรือไม่ การปรับตัวครั้งใหญ่หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง แต่เป็นเรื่องจำเป็น ถ้ามัวแต่เพลย์เซฟอย่างเดียว สุดท้ายไม่อาจจะมีอะไรทำให้ไทยล้มหนัก แต่คนอื่นวิ่งแซงไปหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image