‘เบรกทรูไทยแลนด์’ 7กูรูชี้ทางออกประเทศ

‘เบรกทรูไทยแลนด์’ 7กูรูชี้ทางออกประเทศ

‘เบรกทรูไทยแลนด์’
7กูรูชี้ทางออกประเทศ

หมายเหตุ – เครือมติชนจัดเสวนา ‘เบรกทรู ไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอเรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ พลวัตขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ, ภญ.สุธีรา
เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และนายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021

สำหรับผู้ที่พลาดชมเวอร์ชวล คอนเฟอเรนซ์ ในครั้งนี้ สามารถรับชมคลิปฉบับเต็มได้ในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 20.00 น. ทางเฟซบุ๊ก มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

Advertisement

คิดว่าประเทศไทยจะเดินต่อในทางเศรษฐกิจในปีนี้ ค่อนข้างยากมาก เพราะปัญหาในเวลานี้ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวไม่ได้เข้ามาอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่มากอย่างหนึ่งอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดครั้งนี้ เกิดแก่ทุกประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะเดินต่อจะต้องประคองตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ในเศรษฐกิจแบบนี้ของโลก

ผมคิดว่าเราประคองตัวเองไม่ใช่เพียงเพราะว่านักท่องเที่ยวไม่เข้าอย่างเดียว คิดว่าวิธีการจัดการเพื่อจะรักษาพลังของประเทศไทย ทำได้ไม่ดีพอเพราะเราไปเน้นเรื่องการแจกเงินมากเกินไป แทนที่จะพยายามรักษาการจ้างงานไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผลก็คือในที่สุด ถ้าโลกเริ่มฟื้นขึ้นมา มีคนต้องการซื้อของมากขึ้น มีคนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ต้องการซื้อพวกอุปกรณ์อะไหล่ทั้งหลายจากเรา ผมคิดว่าเราจะไม่พร้อม เมื่อเทียบกับประเทศอย่างเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อะไรก็แล้วแต่

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า การเดินในทางเศรษฐกิจเฉพาะในปีนี้ คงเดินได้ยาก ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามแต่ คงเดินได้ไม่มากนัก เพราะโลกยังไม่ฟื้นจริงๆ แม้เปลี่ยนประธานาธิบดีของอเมริกันไปแล้ว ถามว่าอเมริกาจะฟื้นกลับคืนมาได้ภายใน 6 เดือนหรือไม่ในด้านเศรษฐกิจ คิดว่าไม่

Advertisement

คนอาจจะรอดจากโรคระบาด แต่ถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้นมาในปีนี้หรือไม่ คิดว่าถึงจะดีขึ้นมาก็ไม่มากนัก เป็นตลาดที่ไม่ดีนักสำหรับทั้งโลกอยู่นั่นเอง

สำหรับในทางการเมือง ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนีไม่พ้น ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตอบโต้อย่างไร

ถ้าใครหวังว่าการปราบปรามแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างรุนแรง ตั้งข้อหาร้อยแปดพันประการ แล้วจะทำให้เขาหยุดได้ คิดว่าไม่หยุด แล้วตราบเท่าที่เขาไม่หยุด สิ่งที่อยากให้จับตามอง คือ กบฏในระบบ เช่น ตำรวจรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วในการที่จะโดนประชาชนรุมด่าถึงขนาดนี้ เริ่มเข้ามาหาข้อบังคับตามกฎหมายจริงๆ บอกเจ้านายว่าผมทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ

ขอให้สังเกตการที่ผมเรียกกว้างๆ อย่างนี้ว่า กบฏในระบบ ถ้ากลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวยังดำเนินงานได้ต่อไปในรูปใหญ่ๆ แบบที่เคยผ่านมาแล้ว หรือในรูปเล็กๆ เช่น ติดป้ายทั่วไปอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ตามแต่ จะทำให้การกบฏในระบบเริ่มขยายขึ้น ถ้าระบบไม่สามารถร่วมมือกันในการกดขี่ประชาชนได้ ผมคิดว่าตัวระบบนี้ ถ้ามันไม่ปรับตัวมันเอง มันก็พัง เพราะจุดสำเร็จจริงๆ ของการเคลื่อนไหว มันอยู่ที่การทำให้ตัวระบบไม่ทำงาน หรือทำงานขัดกันเอง นั่นคือตัวที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้

สิ่งที่น่าสนใจมาก ที่พยายามย้ำอยู่เสมอ คือการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน หลายต่อหลายครั้งที่ดำเนินการอยู่ กระทำขึ้นโดยสำนึกถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน นี่คือสำนึกสาธารณะ

ส่วนความเสมอภาคไม่ต้องพูดถึง เขาชูเป็นประเด็นหลักก็ว่าได้ แต่สิ่งที่อาจมองเห็นไม่ชัด คือ สำนึกภราดรภาพ ที่เราเรียกว่าสำนึกสาธารณะ ที่สำนึกว่าคนอื่นกับเราเท่าเทียมกัน และมีเขาอยู่ในการจัดการสาธารณะที่เขาควรได้อย่างเดียวกับที่เราได้

น่าสนใจนะครับ นักเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนจนๆ ที่เข้าไม่ถึงโรงเรียนที่ดีอย่างเขา โรงเรียนอย่างเขา อย่างไรก็เข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ แต่เขากำลังห่วงที่อยู่บนเขา และในสลัม สิ่งนี้ต่างหากคือจิตสาธารณะที่เราต้องการ

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

จากงานวิจัยของกลุ่มคณะวิจัยที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์และกระทรวงการคลัง เราได้พบว่าระบบภาษีของเราไม่แฟร์ ถ้าเราจะต้องเพิ่มรายรับรัฐบาลในระบบภาษีปัจจุบันก็จะยิ่งไม่แฟร์ วันนี้จะมาพูดในประเด็นที่ว่าเราจะเสมอหน้ากันอย่างไร

มีประเด็นนำเสนอ 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 เรารู้อยู่แล้วว่าวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องทบทวน และมองเห็นประเด็นใหม่ๆ เรื่องภาษีเป็นประเด็นที่ดี วิกฤตโควิดเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงให้เรามีระบบภาษีที่เท่าเทียม และไปสู่ความรุ่งเรืองด้วยกัน ประเด็นที่ 2 ระบบภาษีของเราไม่แฟร์ กล่าวคือ เป็นภาษีแบบแยกส่วน คือมีหลายระบบ นอกจากเงินได้ประเภทต่างๆ มีข้อกำหนดต่างๆ ในการหักต่างกันแล้ว อัตราภาษียังต่างกันอีกตามประเภทของรายได้ เราอาจแบ่งคนเสียภาษีในไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มนาย ก. มนุษย์เงินเดือน มีรายได้หลักเพียงเงินเดือน ไม่มีทรัพย์สินใดๆ มากมาย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนาย ข. มนุษย์ทรัพย์สิน มีความมั่งคั่ง บางคนไม่จำเป็นต้องทำงานกินเงินเดือน มีรายได้หลายประเภท อาจเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการเล่นหุ้น ลงทุนต่างประเทศ ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น

กลุ่มนาย ก. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า ต่ำสุดที่ร้อยละ 5 สูงสุดร้อยละ 35 ตามค่าเงินได้ที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องถูกนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายบางส่วนไว้ก่อน และจะต้องกรอกแบบภาษีประจำปี เพื่อเสียภาษีให้ครบถ้วน

กลุ่มนาย ข. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราคงที่ ตามกฎหมายกำหนด ตามประเภทรายได้ เริ่มที่ 0 และสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 เสียครั้งเดียวจบ ตรงนี้ก็ไม่แฟร์แล้ว และอาจจะไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีอีกหากไม่มีธุรกรรมด้านนิติบุคคลอื่นใดที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้จะต้องกรอกแบบภาษีก็ไม่ต้องรายงานเงินได้ที่ได้จากการใช้ทรัพย์สินลงทุน เว้นเสียแต่ว่าจะมีสิทธิได้คืนภาษี

การหักค่าลดหย่อนสำหรับกลุ่มนาย ก. มีขอบเขตจำกัด สำหรับนาย ข. ถ้าทำธุรกิจ ช่องทางที่จะหักลดหย่อนมีมากกว่า และมีขอบเขตไม่แน่นอน

ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ไม่มีระบบนี้ หรือถ้ามี ก็ยกเลิกไปแล้ว โดยจะมีภาษีระบบเดียว ที่ใช้กับทุกคนเหมือนกันหมด เรียกว่าระบบบูรณาการ ทุกคนเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องกรอกแบบภาษี ลงรายการรายได้ทุกประเภทในแบบฟอร์มเดียวกัน จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า 5-35 เปอร์เซ็นต์ ตามขั้นรายได้เหมือนกันหมด

หลักการคือ รายได้ก็คือรายได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด รวมทั้งจากการพนัน เพราะใช้ซื้อของและจ่ายหนี้ได้ ในต่างประเทศกรมเก็บภาษีจะเก็บหมด แต่ไทยไม่ใช่ จึงไม่แฟร์

สำหรับประเด็นที่ 3 คือโอกาสในการหลีกเลี่ยงภาษีต่างกันระหว่างมนุษย์เงินเดือนและมนุษย์มีทรัพย์สิน สำหรับมนุษย์เงินเดือน แทบไม่มีช่องหลีกภาษี เพราะถูกหัก ณ ที่จ่าย สรรพากรจะมาตามตัว ถ้าไม่ส่งแบบฟอร์มภาษี แต่มนุษย์ทรัพย์สินช่องทางหลีกเลี่ยงมีมากมายอย่างที่รู้กัน

ส่วนประเด็นที่ 4 คือผลของระบบภาษีแยกส่วน ทำให้มีคนจำนวนมากในไทยที่นั่งอยู่บ้าน เล่นหุ้น เสียภาษีเท่ากับ 0 หรือ ลงทุนต่างประเทศ ก็เสียภาษีเท่ากับ 0 ในขณะที่มีเงินออมมหาศาล แล้วเราก็มีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่แคบลง เพราะคนมีรายได้สูงมีโอกาสหลุดรอดจากระบบภาษี

คณะวิจัยของเราได้คำนวณ พบว่าในปี 2560 รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 1 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ และใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ ซึ่งในปีนั้นใช้เงินเพียง 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท

ประเด็นที่ 5 ขอเสนอให้ปฏิวัติระบบภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นแบบแยกส่วนให้เป็นระบบเดียวที่บูรณาการตามหลักการสากล ทุกคนเสียภาษีอัตราก้าวหน้าตามขั้นบันไดเงินได้ตามกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน

ประเด็นที่ 6 การซื้อขายที่ดิน ในขณะนี้เราจ่ายภาษีตามราคาประเมินซึ่งต่ำกว่าราคาจริง เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้เป็นการซื้อขายราคาจริงเหมือนนักธุรกิจทั่วไปแล้วเก็บภาษีจากกำไร

อยากจะขอบใจโควิดที่เปิดโอกาสให้ได้ทบทวนระบบภาษีของเราว่าไม่แฟร์อย่างไร และจะสามารถมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1-5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งจะทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าแค่สร้างถนน หรือสร้างระบบเก็บขยะ

ดร.คริส เบเคอร์

ธนาคารโลกรายงานว่าในปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ทำให้คนจนทั้งหมดมีถึงกว่า 5 ล้านคน ซึ่งมากพอสมควร รัฐบาลออกมาตรการชดเชยต่างๆ ในช่วงโควิด ซึ่งแม้คนไทยจะฉีดวัคซีน ก็คงอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น แน่นอนว่าจะมีคนจนมากขึ้นเยอะ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในไทยอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในต่างประเทศมีข้อมูลที่ดีกว่าไทย เขารู้ว่านอกจากจะมีคนจนมากขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันคนมั่งมี ก็มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมหาศาล สหรัฐมี 614 คนที่รวยที่สุด มูลค่าทรัพย์สินของเขาคนละ 5 หมื่นล้านบาท อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีก็เช่นกัน มีการอภิปรายกันว่า ในสังคมเดียวกันต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ทำอย่างไรให้คนที่ได้เปรียบจากวิกฤตโควิดจะช่วยคนที่เสียเปรียบ มีคนตอบว่า ให้เพิ่มภาษีทรัพย์สินให้มหาเศรษฐีช่วยและใช้ภาษีนี้เป็นทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีคนกล่าวว่าลำบากสักหน่อย เพราะคนรวยซึ่งมีอำนาจจะต่อต้าน ทำให้ข้อเสนอนี้ไม่ได้ผล

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการเก็บภาษีเฉพาะกิจ ครั้งเดียวจบ สำหรับโควิดอย่างเดียว ซึ่งเคยมีการใช้ในสมัยสงคราม แต่มีผู้เกรงว่าคนรวยก็จะยังต่อต้าน ในที่สุดก็พบว่าต้องเป็นภาษีจิตอาสา ให้คนรวยจ่ายตามความพอใจ เท่าไหร่ก็ได้ เพื่อแสดงว่าเขาเป็นพลเมืองที่ดี

การอภิปรายในลักษณะนี้ในต่างประเทศยังไม่จบ ยังดำเนินอยู่ แต่ในเมืองไทย ไม่เห็นว่ามีการอภิปรายแบบนี้เกิดขึ้น ปัญหาคือหลังโควิด รัฐบาลกระเป๋าแห้งแน่นอน ไม่มีเงิน แต่ต้องหารายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำอย่างไรให้สามารถทำได้อย่างแฟร์ๆ ทั้งคนรวย คนจน และคนตรงกลางด้วย

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

สิ่งที่เห็นภาพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กับการเติบโตขึ้นของกระบวนการนิสิต นักศึกษา เป็นสัญญาณที่บอกว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปแบบที่จะไม่กลับมาเป็นแบบเดิมหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามีหลายมิติที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยอาจต้องเริ่มมองที่มุมแรก ถ้าถามว่ารัฐบาล โครงสร้างรัฐ อำนาจ กำลังเปลี่ยนไปหรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็นวี่แววของการเปลี่ยนไป ถามว่าทำไม ทั้งที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการการรับฟัง กระบวนการเปิดเวทีสาธารณะ การให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วม, การเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในด้านการปฏิรูป ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น การปฏิรูปการศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสุดท้ายคือการใช้ความรุนแรง ข่มขู่คุกคามคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปีใหม่ที่ผ่านมา ยังได้เห็นการบังคับใช้กฎหมายหลายมาตราจัดการควบคุมคนที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง

คำถามคือทำไมจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาของพวกเขา คิดว่ามี 2 มิติที่น่าสนใจ คือ หนึ่ง ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในมือ หรือรัฐบาลยังไม่ยอมรับว่าสังคมมีปัญหาจริงๆ และเป็นปัญหาที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนตัวมองว่าอนาคตกำลังจะเปลี่ยน และจะไม่มีวันหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ โดยมีเงื่อนไข 2 ประการที่น่าสนใจ คือ 1.การลุกขึ้น ความตื่นตัวทางการเมือง และความต้องการจะเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ กว้างขวางมากอย่างที่คนรุ่นเราจินตนาการไม่ได้ 2.คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองชนะทุกวัน

ถ้าเทียบกับช่วง 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นการขยายตัวของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว และตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองและสังคมที่กว้างขวางมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ทั้งจากการที่ได้เฝ้าสังเกตผ่านทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ลงไปคุยกับคนรุ่นใหม่หลากหลายแขนงในหลายพื้นที่ ดิฉันเห็น 3 พื้นที่ที่น่าสนใจมาก ที่แรกคือ สถาบันการศึกษา 2.คือ ภาคเอกชนของคนรุ่นใหม่ และ 3.คือกลไกระบบราชการ

อย่างแรก มันเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการขยายตัวของเครือข่ายนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่กว้างขวางที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา ตัวเลขของรายงานที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาถูกข่มขู่คุกคามโดยคุณครู หลังจากทำกิจกรรมรณรงค์ชู 3 นิ้ว หรือแต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียน มีการระบุถึงกว่า 200-300 โรงเรียน นี่คือเฉพาะโรงเรียนที่มีการรายงาน หมายความว่ามีหลายร้อยโรงเรียนทั่วประเทศ สิ่งนี้เราไม่เคยเห็นการเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างที่ 2 ที่น่าสนใจคือ องค์กรเอกชน หลังจากมีการทำโพลโดยกลุ่ม ‘เนิร์ดข้างบ้าน’ ดิฉันก็เริ่มสนใจ เขาสรุปว่าคนที่ลุกขึ้นมาเข้าร่วมขบวนการนิสิตนักศึกษาที่เราเห็น จริงๆ แล้วเป็นคนเจนวาย คือคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในภาควิชาชีพแล้ว ไม่ใช่นิสิตนักศึกษา ซึ่งนั่นคือคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วยซ้ำ

คนรุ่นใหม่ในองค์กรเอกชนแบบที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน คือองค์กรที่เป็นสตาร์ตอัพ ภาคธุรกิจขนาดเล็กมากมายและหลายคนอยู่ในองค์กรกึ่งเอกชน กึ่งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ทั้งหมด คนเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศวัฒนธรรมทางธุรกิจอีกแบบหนึ่งเลย คนเหล่านี้เสรีนิยมมาก สนใจ ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาของสังคม มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับคนรุ่นใหม่ในองค์กรภาครัฐ สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เรากำลังเห็นการผลัดใบของหน่วยงานราชการ เท่าที่สำรวจ 6-7 หน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบางหน่วยงาน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่อาชีพต่ำกว่า 35 ปีลงไปมีถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ในหลายองค์กร นั่นแปลว่าคนเหล่านี้คือคนที่ร่วมสมัยกับคนที่กำลังเรียกร้องและสะท้อนถึงปัญหา

คือเงื่อนไขที่ 1 ที่บอกว่าเรากำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่ผู้ใหญ่มองว่าชุมนุมมา 6-7 เดือน ไม่เห็นจะชนะเลย คือ ไล่รัฐบาลก็ไม่ได้ หรือไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

แต่ถ้าไปคุยกับคนรุ่นใหม่ เขารู้สึกว่าชนะใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 1.มิติในการต่อสู้ทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทุกวันในการทำให้พ่อแม่สนใจการเมืองมากขึ้น ยอมรับมากขึ้นว่าปัญหามีจริง 2.หลายคนเขาเชื่อว่าเขาสำเร็จ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย คือการสร้างพรรคการเมืองของเขาเอง 3.ความสำเร็จในการชุมนุม ในการเคลื่อนไหวเพียงไม่ถึง 6-7 เดือน ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดมาก

3 ประเด็นที่ต้องผลักดันเพื่อฝ่าฟันอุปสรรค ได้แก่ 1.ทางเลือกในการสร้างสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลไกทางการเมือง ที่ต้องไปไกลกว่าพรรคการเมืองแบบเดิม 2.อุดมการณ์และฐานคิดทางการเมือง ซึ่งการเกิดขึ้นของ RT Restart Thailand และการเริ่มถกเถียงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในการถกเถียงในสังคมไทย 3.การสร้างทางเลือกในวัฒนธรรมทางการเมืองแห่งการร่วมมือถกเถียง แต่ไม่ใช่การห้ำหั่น ต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายอย่างที่คนรุ่นผู้ใหญ่เป็น

การจะเบรกทรูไปได้ ต้องผลักดัน 3 เรื่องนี้ไปด้วยกัน ถามว่ายากไหม ยากมาก ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ชนชั้นนำไทย รัฐไทยกำลังพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราต้องยอมรับก่อนว่าการลุกขึ้นมาของพวกเขามันมีอยู่จริง

เราต้องยอมรับว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ พวกเรา คนรุ่นก่อนหน้านี้ มีส่วนในการสร้าง หรือการยอมให้มันดำรงอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพวกเรา

เรื่องสุดท้ายคือต้องยอมรับข้อจำกัดของพวกเราเอง ยอมให้อนาคตเป็นผู้เสนอทางเลือกอนาคตของเขา

นายธานี ชัยวัฒน์

เรื่องการคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ซึ่งการคอร์รัปชั่นกับความเหลื่อมล้ำ สัมพันธ์กันอย่างมาก ยิ่งคอร์รัปชั่นสูง ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง เหตุที่สัมพันธ์กัน เพราะการมีคอร์รัปชั่นในสังคม ทำให้คนบางกลุ่มได้ทรัพยากร ต้นทุน และผลประโยชน์ ทำให้สังคมเหลื่อมล้ำสูงขึ้น นำมาซึ่งการเข้าถึงโอกาส อำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึงการใช้ผลประโยชน์ที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างแยกกันไม่ออก

เวลาเราพูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องคอร์รัปชั่น ข้อถกเถียงใหม่ โดยเฉพาะตะวันตก ที่ยึดถือคุณค่าความเป็นคน อยากให้ ‘คนดี’ มีอำนาจในการปกครอง หวังว่า ‘ความดี’ จะดำรงรูปแบบการปกครองที่เป็นธรรม ซึ่งเราบอกว่า เราเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนดี แต่กลับเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น

คนอีกกลุ่มบอกว่า เราควรมีระบบที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ระบบที่มีกลไกกำกับที่เป็นธรรม น่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะความเป็นคน มีคุณค่าตามความหมายของฝั่งตะวันออก

จากการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในบางส่วน ข้อมูลที่เก็บจากการทดลอง 10 ครั้ง โดยคละเพศ อายุ และภูมิภาค ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีที่สุดของไทย แต่ทำให้เห็นรูปแบบที่สะท้อนวัฒนธรรม และวิธีคิด ที่อาจคล้ายคลึงกันอย่างมากในสังคมไทย

การทดลองทางเศรษฐศาสตร์บางส่วน จะเหมือนการนั่งอยู่ที่คอกแบบปิด ไม่มีใครเห็นหน้ากัน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตัดสินใจในกลุ่มของเขา เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ได้เงินจริง ไม่ต้องเยอะ เพียง 200 บาท แล้วเราดูว่าเขาจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้อำนาจ หรือมองว่าเงิน 200 บาทไม่เยอะ และเลือกคงความดีไว้มากกว่าค่าเงิน 200 บาท หรือไม่

โดยบางการทดลองทำในห้อง บางการทดลองเป็นแบบกระดาษ กำหนดให้ 1 ใน 4 คน เป็นผู้ปกครอง (governor) ที่เหลืออีก 3 คน เป็นประชากร (citizen) ได้ 100 เหรียญ (token) ซึ่งจะแปลงเป็น 200 บาท หน้าที่ของ governor คือจัดสรรให้ทุกคน รวมถึงตัวเอง ให้ได้เงินครบ 100 token หรือคนละ 25 token แล้วดูว่า เขาจะคงความดีได้ไหม และได้นานแค่ไหนในสังคมที่ไม่มีการตรวจสอบ

ซึ่งตามกราฟ ในทางทฤษฎี หากไม่มีการโกง เส้นที่ citizen จะได้รับคือ 25 token ตลอดการทดลองทั้ง 10 รอบ เรียกว่าการคาดการณ์การทดสอบ (predicted test) ซึ่งแน่นอนว่า เกมแบบนี้ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถ้า governor เก็บไว้หมดก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งถ้าเขารับไว้หมด นั่นคือการคอร์รัปชั่น ดังนั้น เส้นที่มีความเป็นธรรม คือ 25 token ถ้า governor โกง จะได้ 100 token ส่วนคนอื่นได้ 0 token ซึ่งคือความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด

แต่ถ้าทุกคนรู้ว่า ใครเป็น governor จะไม่มีใครกล้าโกง เพราะโปร่งใส รู้ว่าใครเป็นคนจัดสรร หรือสามารถลงโทษได้ ก็จะไม่กล้าโกง ดังนั้น ถ้าโปร่งใสและมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง การคอร์รัปชั่นจะลดลง เช่น ถ้าเป็นผม คนรู้ ผมก็ไม่กล้าโกง และถ้าลงโทษผมได้ ผมก็จะไม่กล้าโกง แล้วถ้าเราใส่ ‘ความเป็นคนดี’ เข้าไป จะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น รอบแรก governor แบ่งให้เกือบ 25 token ต่อมาได้ไม่เต็ม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครโกงเท่าไหร่ หรืออย่างไรบ้าง แต่เราเห็นการโกงเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ การแบ่ง token จะลดลง เมื่อครบ 10 รอบ citizen ได้เหลือแค่ 5 token จากการตรวจสอบ จะเห็นเช่นนี้ชัดเจนจากทุกภูมิภาค ทุกคนเริ่มต้นด้วยความตั้งใจดี แต่เมื่อไม่มีการตรวจสอบ เขาจะมีความสนุกสนานในการโกงไปเรื่อยๆ

ภายใต้ภาพนี้ ถ้าเปลี่ยนผู้ปกครอง เป็นคนรวย หรือคนจน ถามว่าภาพจะเปลี่ยนไปหรือไม่

กรณีที่ 1.ผู้ปกครองที่รวย มีตั้งต้น 100 token ส่วน citizen มี 0 token กับอีกกรณี 2.ผู้ปกครองมีตั้งต้น 0 token หรือเป็นคนจน ส่วน citizen มี 100 จากกราฟ จะเห็นว่าความเป็นธรรมที่จุดตั้งต้นไม่ต่างกันด้วยฐานะ ไม่ว่ารวยหรือจน รูปแบบการจัดสรรไม่แตกต่าง เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มีคำอธิบาย 2 เรื่อง คือ 1.governor ที่เป็นคนรวย มี 100 token คำตอบหลักคือ เขากลัวจน ไม่อยากหล่นขั้นลงไปข้างล่าง ดังนั้น สิ่งที่ทำคือ แบ่งคนอื่นนิดหน่อย ให้ไม่เยอะ และ 2.ส่วนของคนจนที่ได้เป็นผู้ปกครอง จะตอบว่า เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะตั้งต้นคนอื่นได้ 100 แต่ตัวเองได้ 0 เราตั้งตั้นจากความไม่เท่าเทียม เขาเติบโตมาในครอบตัวที่ยากจน ดังนั้น การแสวงหาผลประโยชน์ หรือรายได้อาจไม่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมาก คอร์รัปชั่นยิ่งมากขึ้น เมื่อการทดลองครบ 10 รอบ ทั้งที่จุดตั้งต้นคล้ายกัน

คนไทยรู้สึกว่า โชคเป็นของใครของมัน ไม่ใช่ของสาธารณะ กลายเป็นว่า เขาต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้ token ของเขา เช่น เราให้ทดลองเล่น สไลเดอร์ ทาส์ก (slider task) ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมและต้องทำอะไรสักอย่าง จะเกิดอะไรขึ้น

ซึ่งจากกราฟ 2 สี แทนคนจน และคนรวย คนจนที่มีเงินตั้งต้นน้อย แต่ทำงานเยอะ เมื่อเติม ‘ความไม่แฟร์’ และ ‘การคอร์รัปชั่น’ จะเห็นว่าเส้นการแบ่งให้คนอื่นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อถึงรอบที่ 10 การแบ่งให้คนอื่นๆ ลดลง แปลว่าความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม ซ้ำเติมคอร์รัปชั่น และรุนแรงกว่าคอร์รัปชั่นอีก เพราะการเกิดมารวย หรือจน คนอาจจะรับได้ แต่ทำงานแล้วได้ผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน รับไม่ได้ ความ 2 มาตรฐาน ยิ่งซ้ำเติมเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม

ถ้าเราไม่พึ่งพาความโปร่งใส และการลงโทษที่เข้มแข็ง ที่เราผลักดันกันมานานและยังไม่เห็นผล ถามว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้การคอร์รัปชั่นลดลง
ค่าเฉลี่ยของคน ทุกคนเริ่มที่เกือบๆ 25 token ทั้งหมด ถามว่า ถ้าให้ตนเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจ 10 ปี จะคงความดีได้หรือไม่ ตนอาจจะคงได้ในปีแรก ในปีที่ 5 หรือปีที่ 10 หรือไม่เปลี่ยนไปเลย ถ้าหาจุดนั้นเจอ แต่โดยผลลัพธ์การทดลอง ชี้ว่า คนมักคอร์รัปชั่นเมื่อเวลาผ่านไป แล้วเขาจะมั่นคงได้แค่ไหน อะไรจะลดคอร์รัปชั่นลงได้

ลองสร้างสังคมที่เป็นธรรม เล่นเกม ให้คนเลื่อนสไลเดอร์เหมือนเดิม โดยเลื่อนไปจุด 50 token ทั้งหมด แล้วเราพบว่าเส้นนั้นอยู่ในจุดที่ไม่แฟร์ แล้วเราทำให้เส้นนั้นกลับมาสู่จุดปกติ เท่ากับว่า ทำให้คอร์รัปชั่นลดลงภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำ ด้วยการลอง ‘สลับบทบาท’ ซึ่งไม่รู้ว่า ใน 10 รอบ ครั้งไหนบ้างที่เราจะได้เป็นผู้ปกครอง ผลที่เกิดขึ้นคือ ค่าคอร์รัปชั่นลดลง แม้ว่าเมื่อครบ 10 รอบ อาจจะมีคอร์รัปชั่นสูงขึ้น ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อมองภาพใหญ่ แนวโน้มการแบ่ง token อยู่ที่ประมาณ 20 token ไม่ได้แปลว่าปลอดคอร์รัปชั่น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้แย่จนเกินไป

ดังนั้น การที่คนอื่นมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้ปกครองได้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทำให้เข้าใจ ‘หัวใจ’ ของการปกครอง และเข้าใจหัวใจของการเป็นประชาชน เมื่อคุณเป็นผู้ปกครองนานๆ ย่อมยากที่จะเข้าใจประชาชน หรือเมื่อคุณเป็นประชาชนนานๆ ก็ยากที่จะเข้าใจ หัวใจของผู้ปกครอง

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

หากพูดถึงโรคระบาด หลายคนคงคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีโรคระบาดเกิดขึ้นมากมายแต่ก็ไม่ใช่โรคระบาดทุกครั้งที่จะส่งผลต่อมนุษยชาติได้เท่ากับโควิด-19

ถามว่าทำไม่โรคระบาดส่วนใหญ่ยังไม่ไปไกลถึงโรคระบาดโควิด-19 เพราะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นยังอยู่ในช่วงที่ควบคุมได้ แต่โควิด-19 ถึงวันนี้มีคนติดเชื้อทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน เสียชีวิตไปกว่า 1 ล้านคน วัคซีนเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นความหวัง คนที่ทำวัคซีนก็มีความกดดันตามความคาดหวัง

คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรให้เรารอดต่อไปภายใต้การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

สิ่งที่เห็นในการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะได้เห็นความร่วมมือของบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ประชาชนร่วมมือกันในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ได้เห็นความร่วมมือของนักวิจัยทั่วโลกร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เห็นวัคซีนที่เร็วที่สุดตัวแรกของโลกที่ได้บันทึกไว้

เมื่อวัคซีนเป็นความหวังช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา เรื่องของวัคซีนจะปรากฏเป็นข่าวหลากหลายด้าน มีการพูดถึงวัคซีน ตัวนั้น ในข้อเท็จจริงวัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพที่เหมือนยา แต่ไม่ใช่ยา วัคซีนจะฉีดให้กับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เราเชื่อว่าวันนี้โควิด-19 ไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้

คำถามคือว่าจะอยู่กับโควิด-19 อย่างไร เราก็ต้องป้องกันให้กับคนที่ยังไม่เป็นโรคนี้ ด้วยวิธีการทำให้คนมีภูมิคุ้มกัน

วิธีที่คนรู้จักวัคซีน คือ การเอาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมาทำให้ตายหรืออ่อนฤทธิ์ลง หลักการง่ายๆ ก็คือเอาไปฉีดให้กับคน พอฉีดให้กับคนก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ลง พอมีภูมิคุ้มกันแล้วเมื่อเจอกับเชื้อโรคก็จะมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้

ด้วยวิวัฒนาการที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น นักวิชาการ นักวิจัย ก็มีความสามารถในการตัดต่อพันธุกรรมใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตวัคซีนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็น ของโควิด-19 อย่าง ของบริษัทซิโนแวคของประเทศจีน ก็มีการเอาไวรัสโควิด-19 มาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง

ส่วนวัคซีนแบบที่ 2 คือ วัคซีนแบบไวรัสพาหะ เป็นวัคซีนที่เราเอาไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้อ่อนแรง หรือไม่เป็นโรคแล้วมาตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าไป เพื่อให้เขาเป็นพาหะนำเข้าไปสู่ร่างกายของมนุษย์ได้

วัคซีนตัวต่อไป คือ วัคซีนรหัสพันธุกรรม เป็นวัคซีนที่มีความโด่งดังมาก เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ในการผลิตภัณฑ์ แต่มีกระบวนการผลิตที่รวดเร็วมาก ทำให้สามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาเป็นตัวแรกได้ สำหรับวัคซีนเกี่ยวกับโควิด-19 หลักการคือ จะใช้ตัวรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ใส่ไปในร่างกายมนุษย์ ทำให้มนุษย์สร้างโปรตีนที่มีหน้าตาเหมือนกับโควิด-19 ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันเหมือนตัวโปรตีนที่สร้างขึ้นมาก็จะมีภูมิคุ้มกันหากเจอโรคจริงก็จะไม่เกิดโรค ยกตัวอย่าง คือ วัคซีนของไฟเซอร์กับ โมเดอร์นา

สุดท้ายคือ วัคซีนโปรตีน มีหลักการคล้ายๆ กับวัคซีนรหัสพันธุกรรม แทนที่จะส่งรหัสพันธุกรรมให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน แต่เราจะสร้างโปรตีนที่มีหน้าตาเหมือนกับโควิด-19 ขึ้นมาเลย เหมือนกับบริษัทใบยาฯ ดำเนินการ ซึ่งมีหลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ซึ่งได้สร้างมานานแล้วไม่ได้เพิ่งมาสร้างตอนที่เกิดโควิดแต่มีความร่วมมือทำให้วัคซีนเกิดขึ้นเร็วขึ้น

กลับมามองที่ประเทศไทย บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม มีการสร้างองค์ความรู้ผ่านสถานศึกษา คำถามคือการฉีดวัคซีนจะอย่างไรให้มีความปลอดภัย ในระยะยาวตนมองไว้สามประเด็น คือการฉีดวัคซีนในระยะสั้นกับระยะยาวมีความจำเป็น สิ่งที่เห็นในวันนี้คือมีการติดจากคนไปสู่สัตว์ จากคนไปสู่คน ไวรัสที่มีการกระจายมีการกลายพันธุ์ไปแล้วหรือไม่ การที่เรามีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีนักวิจัยที่จะสามารถพัฒนา ซึ่งสามส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การฉีดวัคซีนมีทางรอดอย่างแท้จริง

นายสันติธาร เสถียรไทย

ประโยคแรกของบทนำที่ผมชื่นชอบ โลกไม่เคยเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ และจะไม่เปลี่ยนแปลงช้าอีกต่อไป ตอนแรกก็คาดไม่ถึง วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์ใหญ่ๆ มีคลื่นที่เรียกว่า 5D ที่ถูกเร่งมาก่อนกำหนดว่ายุทธศาสตร์จะรับมือเป็นอย่างไร
D แรก คือ Debt ซึ่งตอนนี้หนี้กำลังจะมีทั่วโลก พุ่งสูงขึ้นมาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่าคลื่นยักษ์ของหนี้จะมีสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) จะสูงถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสภาวะหนี้มีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก เป็นสภาวะ 2 เตี้ย

เตี้ยแรก คือภาวะเศราษฐกิจที่เตี้ยลงจากปีที่แล้ว ระยะยาวศักยภาพจะไม่ได้เติบโต นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าแผลเป็น เพราะธุรกิจที่ปิดกิจการ แรงงานที่ตกงาน ไม่สามารถเข้าไปเริ่มในอุตสาหกรรมใหม่ได้โดยง่าย เสมือนเศรษฐกิจเป็นนักกีฬาที่เจ็บหนัก แม้แผลจะหายแล้ว แต่ต้องทำกายภาพบำบัด ก่อนที่จะออกมาวิ่งได้เร็วเหมือนปกติ

เตี้ยที่ 2 คือดอกเบี้ยที่เตี้ยลง ดอกเบี้ยต่ำอีกนาน ใช้นโยบายคิวอี เพิ่มสภาพคล่อง กดดอกเบี้ยให้ต่ำ ดอกเบี้ยต่ำมีผลอย่างมากจะกระทบมาถึงเรา เงินไหลออกจะมาในทวีปเอเชีย ตลาดการเงินคึกคัก ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น หนี้สูง โดยหนี้ที่น่าห่วงที่สุดคือ หนี้ภาคครัวเรือน 86% ต่อจีดีพี ที่สูงขนาดนี้เพราะไม่ได้เข้าถึงสินเชื่อ แต่เป็นที่รายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง ภาครัฐต้องช่วยคนเปราะบาง อย่าไปห่วงเรื่องการใช้หนี้สาธารณะในตอนนี้

D : Divided ความเหลื่อมล้ำ มั่งคั่ง โอกาส ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก โควิด-19 โจมตีคนสายป่านสั้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปอีก ธนาคารโลกบอกว่าคนไทยจะมีคนยากจนเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน ในปี 2563 กลุ่มที่เปราะบางมากๆ คือ กลุ่มเอสเอ็มอี จากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวิเคราะห์กว่า 5 แสนบริษัท 30% ของธุรกิจน่าจะมีปัญหาการชำระหนี้ในปีนี้ 95% เป็นเอสเอ็มอีทั้งหมด

แรงงาน กระทบ 4.7 ล้านคน สภาพเหมือนตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีประกันสังคม อุตสาหรรมการท่องเที่ยว การบิน จะไม่กลับมาในเร็วๆ นี้ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าอาจจะเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรคอมพิวเตอร์ แทนแรงงานคนมากขึ้น World Economic Forum มีการสำรวจว่าภาคธุรกิจไทยกว่า 50% จะเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรคอมพิวเตอร์

D:Divergence ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน ขั้วอำนาจจะกลับเข้ามาทางเอเชีย ยอดผู้เสียจากโควิด-19 ในอเมริกาสูงกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในฝั่งเอเชีย ประเทศจีน เวียดนาม เกาหลีใต้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว การที่จีนฟื้นตัวเร็วกว่าอเมริกา จะทำให้เศรษฐกิจจีนแซงหน้าอเมริกาภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีน มุ่งไปที่ วงจรคู่ขนาน มีการเปลี่ยนจากโรงงานของโลก ไปเป็นลูกค้าใหญ่ของโลก เปลี่ยนอำนาจต่อรองให้มากขึ้น ใช้เงินหยวนมากขึ้น China Plus One เปลี่ยนซัพพลายเชนแบบใหม่ ไม่ได้ย้ายโรงงานจากจีนออกทั้งหมด เพราะตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญ แต่บางส่วนได้ย้ายมายังกลุ่มประเทศอาเซียน อาเซียนผลักดันเขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป ใหญ่ที่สุดในโลกได้ ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

D : digitalization ในปี 2563 อาเซียน 6 ประเทศใหญ่ ใช้อินเตอร์เน็ต 400 ล้านคน กลุ่มผู้ใช้ใหม่อยู่นอกเมืองใหญ่ เราจะช่วยกลุ่มคนเปราะบางด้วยดิจิทัลอย่างไรบ้าง ค้นพบว่ากลุ่มเอสเอ็มอี การค้าออนไลน์ช่วยให้พบตลาดใหม่นอกจังหวัดได้อย่างมาก กว่าครึ่งของเอสเอ็มอีขายสินค้าอยู่แค่ภายในจังหวัดตัวเองเท่านั้น ทำให้มีการเติบโตช้า และรายได้กระจุกตัว หลังวิกฤตโควิด-19 กว่า 80% มียอดขายอยู่ทั่วประเทศ ยอดขายโต 100%

และ D : Degradation โควิดไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง แต่โควิดทำให้คนกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่อย่าง Black Rock เร่งการลงทุนในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อสังคม มีธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นเทรนด์สำคัญ

ยุทธศาสตร์ที่จะรับมือ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ประกอบไปด้วย 5 ธาตุองค์ประกอบ คือธาตุลม ลมคือสิ่งรอบตัวที่มองไม่เห็น ลมในยุค 4.0 ก็คือ เดต้า (Data) ข้อมูลที่อยู่ในคลาวด์จำนวนมหาศาล นอกจากนี้มีโครงการภาครัฐจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ทำให้มีข้อมูลที่เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบาง ควรใช้ข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิผลมากขึ้น การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานข้อมูลที่ดี ต้องมีการ Open Data เพื่อนำมาประเมินผลโครงการ นโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการถกเถียงอยู่บนฐานของเดต้าไม่ใช่ดราม่า

ธาตุดิน ความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ มีเครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น การเรียนออนไลน์สำหรับผู้ใหญ่ วัยทำงาน มีประโยชน์อย่างมากในยุคดิสรัปชั่น เพราะจะช่วยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อที่จะต้องปลี่ยนอาชีพไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ช่วงโควิด-19 ได้เห็นถึงคอร์สเรียนออนไลน์ใหม่ๆ มากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อมูลดิจิทัลสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ที่ไม่ถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ต้องเน้นช่วยกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลด้วย ภาครัฐต้องช่วยให้คนเข้าถึงดิจิทัลให้มากขึ้น

ธาตุน้ำ หมายถึงการปรับตัว ที่ล้มแล้วลุกได้ เคยทำการศึกษาร่วมกับ World Economic Forum พบว่ามี 3 ทักษะที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรจะมี คือ 1.ดิจิทัลพื้นฐาน ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้ 2.การมีทัศนคติที่ดี ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ตลอด 3.การเป็นผู้นำที่ดี ผู้นำต้องจุดประกายให้ทุกคนในองค์กร เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และมีการสื่อสารที่ดี

ธาตุไฟ ความสามารถในการแข่งขัน 1.ดึงดูด ที่ไม่ใช่ดึงดูดการลงทุน แต่เป็นการดึงดูดคนเก่ง มีความสามารถ อย่างสิงคโปร์ มีการออกวีซ่าพิเศษเพื่อดึงคนเก่งๆ เข้ามาในประเทศ 2.ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นโอกาสที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนดิจิทัล เดต้าเซ็นเตอร์ 3.การปรับลดกฎหมาย ที่สร้างความไม่คล่องตัวให้กับภาครัฐ ซึ่งดิจิทัลสามารถทำให้ง่าย

และธาตุไม้ หมายถึงความยั่งยืนทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หลายประเทศมีการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย สหภาพยุโรป ใช้เงิน 8.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในพลังงานสะอาด ลงทุนในการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จีน ลงทุนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

สรุป ไม่ว่าระดับธุรกิจ ระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ย่อมแตกต่างกันไม่ได้ มีคำตอบเดียว ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ธาตุ ธาตุลม การใช้เดต้าสร้างองค์ความรู้ ธาตุดิน การให้ความสำคัญกับคนที่เปราะบาง และช่วยคนที่เปราะบางเสมอ ธาตุน้ำ การยืดหยุ่นปรับตัวได้ ธาตุไฟ สร้างความสามารถของเรา ธาตุไม้ ความยั่งยืนไม่ฉาบฉวย ต้องรักษาสมดุลของแต่ละธาตุให้ดี

สิ่งเดียวที่คงที่คือการเปลี่ยนแปลง แม้แต่การเปลี่ยนแปลงเองก็ไม่เคยหยุดนิ่งคงที่ บางครั้งเดินด้วยก้าวหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี แต่บางจังหวะแค่ปีสองปี เดินได้สี่ก้าว หกเก้า ผมอยากวาดฝันให้ประเทศไทยและทุกท่านเป็นปีที่คว้าโอกาสจากวิกฤตเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันก้าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image