‘อธิบดีพช.’ ขับเคลื่อนผ้าทอ อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน กลุ่มนครชัยบุรินทร์

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเวทีแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนผ้าทอ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ร่วมกับกลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ในการขับเคลื่อนกระบวนการ “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” การสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และเยี่ยมชมความก้าวหน้าการทอผ้าลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สู่การพัฒนาภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอปักธงชัย นางสาวฑัชชา ปรีดาวิจิตรกุล ประธานเครือข่ายOTOP นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้แทนศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนและเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ทั้ง 32 อำเภอ และกลุ่มทอผ้าจากกลุ่มนครชัยบุรินทร์ ใน 4 จังหวัด (นครราชสีมา,ชัยภูมิ,บุรีรัมย์,สุรินทร์) จำนวน 78 กลุ่ม และกลุ่มทอผ้า จ.มหาสารคาม จำนวน 3 กลุ่ม จ.สกลนคร จำนวน 5 กลุ่ม รวมทั้งหมด จำนวน 86 กลุ่ม เข้าร่วม ณ ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พช.มีความปลาบปลื้มปีติ ในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาห่วงใยพสกนิกรชาวไทย สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชกรณีกิจด้านงานผ้า และทรงมีพระเมตตาพระราชทานแบบลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกคนและมีพระดำริในการดำเนินงาน “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ประทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรมประกวดลายผ้าพระราชทาน กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม สามารถพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ได้ทุกผ้าทุกเทคนิค พระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย โดยมีพระประสงค์ในการอนุรักษ์ผ้าไหมแท้ของไทย และการใช้สีจากธรรมชาติ พร้อมทั้งพระราชทานหนังสือ Thai Textiles Trend Book ในเรื่องของกระแสแฟชั่นวงการผ้า สี และแนวโน้มที่เป็นที่นิยมในอนาคต แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้การดำเนินงาน “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” โดยผู้ที่เข้ากิจกรรมประกวดลายผ้าพระราชทาน สามารถศึกษาสีได้จากหนังสือเล่มนี้ โดยการประกวดจะมีหลายหลายประเภททั้งเป็นการกระตุ้นศิลปินหน้าเก่า และสร้างศิลปินเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะชี้แจงแนวทางที่ชัดเจนต่อไป อันเป็นการพัฒนาต่อยอดผ้าไทย ภูมิปัญญาของความเป็นไทย ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน อนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนในการใช้พืชที่เป็นสีธรรมชาติเพื่อย้อมผ้าไหม และผ้าฝ้าย ซึ่งได้แนะนำให้กลุ่มผู้ประกอบการทอผ้าไปศึกษาเรื่องการใช้สีธรรมชาติจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ว่าพืชชนิดใดบ้างที่จะสามารถนำมาดำเนินงานเกี่ยวกับการทำสีธรรมชาติ กับกลุ่มทอผ้าได้ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ เพาะเนื้อเยื่อ การปลูก การสกัด การย้อม การทอ และการตลาด มีศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพันธุ์พืช พืชที่ให้สีต่างๆ พรโดยกรมการพัฒนาชุมชนจะส่งเสริมให้ทุกชุมชนปลูกพืชที่สามารถนำไปใช้ทำสีย้อมผ้าให้มากเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีวัตถุดิบทำสีย้อมผ้าย้อมไหมพอเพียง นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้วางแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ให้ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ เป็นศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ เพื่อให้ผู้ที่มีความชำนาญในการปลูกไหมเลี้ยงไหมและผู้ที่ความชำนาญในการทอผ้าไหม ได้พบปะเป็นสถานที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกิดการตกผลึกในเรื่องเส้นไหมไทย เพื่อที่ให้เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆในประเทศไทยต่อไป แต่ที่สำคัญทีสุดคือเป็นศูนย์กลางในการวบรวมเส้นไหมแก่กลุ่มทอผ้าตามข้อเสนอของผู้แทนกลุ่มOTOP ด้านผ้า 4 ภูมิภาค

“ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย แห่งนี้มีความเหมาะสมในการเป็นจุดรวบรวมเส้นไหมไทยเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคต่างๆของประเทศ ซึ่งมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีศูนย์เรียนรู้ด้านผ้าไหม และมีอาคารสถานที่ต่างๆที่มีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะให้พี่น้องกลุ่มผู้ประกอบการOTOP ทั้งหลายสามารถที่จะมารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายผ้าไหมอยู่แล้ว ดังนั้น จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนผ้าทอครั้งนี้ ผู้แทนของกลุ่มผู้ประกอบการOTOP และกลุ่มผ้าไทย จึงมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าเหมาะสมที่จะยกระดับให้ ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายเส้นไหมให้กับผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศต่อไป อันจะเป็นหลักประกันว่าผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะมีทางเลือกในการจำหน่ายไหมเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการOTOP ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่าจะได้เส้นไหมแท้ของไทยสามารถไปใช้ในการผลิตผ้าไทยให้มีคุณภาพ โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะเร่งดำเนินการหาข้อสรุปเพื่อขออนุมัติดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป อธิบดี พช กล่าว

นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอปักธงชัย กล่าวขอบคุณ ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สู่การพัฒนาภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน โดยอำเภอปักธงชัยเป็นอำเภอที่มีผู้ผลิตผู้ประกอบการผ้าไหมมากที่สุด ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจำนวน 63 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการประเภทกลุ่มจำนวน 15 ราย ประเภทรายเดียว จำนวน 44 ราย และประเภท SME จำนวน 4 ราย โดยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการไหม ได้รับคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion : OPC) ซึ่งได้ระดับ 5 ดาว จำนวน 19 ราย ระดับ 4 ดาว จำนวน 24 ราย และระดับ 3 ดาว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่ได้ร่วมการสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ของชาวอำเภอปักธงชัยเป็นอย่างยิ่ง

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีพช. กล่าวเสริมว่า เนื่องจากมีกลุ่มพี่น้องผู้ประกอบการด้านผ้าได้รวมกันต้องการที่จะสนองพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ที่จะทำเรื่องไหม โดยจะส่งเสริม สนุบสนุน ให้ผู้ที่ถนัดเรื่องการเลี้ยงไหมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่ถนัดเรื่องการทอผ้าก็ให้เน้นด้านงานทอผ้า โดยให้เพื่อคนทั้ง 2 ฝั่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อที่จะให้คนมีรายได้มากขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง โดยให้ ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ เป็นศูนย์กลางเส้นไหมภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้แทนศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมหม่อนไหม เน้นไปที่การพัฒนาของเส้น มีการฝึกอบรมการสาวเส้น ให้ได้มาตรฐานของกรมหม่อนไหม คำนึงถึงคุณภาพความสม่ำเสมอของการพัฒนาไหม โดยปัจจุบันมีการพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมGI ซึ่งเป็นไหมที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสิ่งทอ และสีธรรมชาติที่มีความคงทนในระดับต่อการค้าได้ เน้นการตรวจสอบมาตรฐานไหม โดยมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ในเกษตรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 2,768 ราย เฉลี่ยการปลูกหม่อนเฉลี่ยรายละ 2 ไร่ รวมประมาณกว่า 5000 ไร่ และมีกลุ่มที่เลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายไหมรังสด อยู่ประมาณ 200 ราย กำลังการผลิตจำหน่ายมาที่ศูนย์ปักธงชัย ประมาณเดือนละ 30 ตัน สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนปริมาณความต้องการในการผลิตไหมเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของกลุ่มทอผ้าได้ต่อไปในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image