นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) หรือ สพร . พัฒนาระบบการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการให้บริการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการให้บริการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) ซึ่งเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เน้นอำนวยความสะดวกให้สามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างแรงดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ในความร่วมมือ จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจาก DGA มาใช้เพื่อออกหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งประกอบธุรกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของ DBD ให้สามารถยื่นคำขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (DBD) ได้ ณ จุดเดียว (Single Unit) ที่ BOI” โดยกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูล จะส่งผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มายัง DBD เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อจนแล้วเสร็จ กระทั่งออกเป็นหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการการทำงานด้านเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ในการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ได้แก่ การออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะ ชำระค่าธรรมเนียม ตลอดจนดาวน์โหลดหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที
“การยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว e-Foreign Certificate ทำให้ลดระยะเวลาจากเดิมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 30 วัน เป็นเหลือเพียงภายใน 5 วัน เป็นการลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจชาวต่างชาติ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ลดการใช้กระดาษ เป็นต้น ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)” นายทศพล กล่าว
ทั้งนี้ แต่ละปีมีมูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีระบบการให้บริการรูปแบบใหม่ กรมและหน่วยงานพันธมิตรคาดว่าจะมีนักลงทุนฯ มาใช้บริการ e-Foreign Certificate จำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการดึงดูดการลงทุน และมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ การให้บริการ e-Foreign Certificate ยังสอดรับกับทิศทางการดำเนินชีวิตหรือรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค New Normal เพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย