หอค้าไทยยื่น10ข้อเสนอต่อ “อาคม”ผลักดันศก. การค้า-ลงทุน-บริการ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอมุมมองของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจของประทศ ว่า ภาคเอกชนขอขอบคุณกระทรวงการคลังที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 โดยขยายไปถึง 30 มิถุนายน 2564 การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 2564 ลง 90% และให้จัดเก็บจริงเพียง 10% การสนับสนุนการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ EXIM BANK ขยายระยะเวลาสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้บริการถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2564

สำหรับข้อเสนอที่หอการค้าไทยได้ร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย 1. การเตรียมความพร้อมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายหลังสถานการณ์ โควิด 19 คลี่คลาย ขอให้สนับสนุนโครงการ Digital Tourism Platform (TAG THAI) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในรูปแบบ One Stop Services ตลอดจน และขอให้มีการจัดเก็บภาษี OTA ต่างชาติ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเวียนภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ แจ้งว่ากฎหมายภาษีออนไลน์ ได้ผ่านสภาฯ แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้

2. การออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อร่วมดูแลและป้องกันการระบาดโควิด 19 ขอให้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Tax Break Active Testing) สำหรับนายจ้างที่ออกค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้าง และสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยออกมาตรการลดหย่อนภาษีหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการฉีดวัคซีน กระทรวงฯ ได้ขอให้หอการค้าไทยได้นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณา

3.การจัดตั้งกองทุน Asset Warehousing และ กองทุน Real Estate Investment Trust (REIT) โดยขอให้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุน Asset Warehousing และ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพและจัดตั้งกองทุน REIT เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม เรื่องนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะมีความชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ (ไม่เกินสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้า)

Advertisement

4.การเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจค้าปลีก อาทิ ขอให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ SME คู่ค้าซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก โดยผู้ค้าปลีกรายใหญ่ร่วมสนับสนุนการพิจารณาคุณสมบัติและติดตามการชำระสินเชื่อ

5.มาตรการด้านภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ขอให้เครดิตภาษีหรือผ่อนชำระภาษีได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ขอให้มีการบรรเทาภาระภาษี เช่น การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคล และ คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้เร็วขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่น การขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีความหวานระยะที่ 2 สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยกระทรวงฯ ขอให้กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี ได้นำข้อเสนอไปดูรายละเอียดต่อไป และขอให้กรมสรรพากรได้ดูเรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในส่วนของงานอีเว้นท์

6.มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยหารือกับกระทรวงฯ ในมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ขอให้ระบุเพื่อให้มีความชัดเจนในรายละเอียดว่า เฉพาะในส่วนของมูลค่า 3 ล้านบาทแรก ของทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสอง และขอให้เร่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะลอการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ อีกทั้ง ขอสนับสนุนให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อ สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ รับเรื่องไว้พิจารณา

Advertisement

7.มาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อาทิ ขอให้มีการจัดหาทุนสนับสนุนดำเนินงานของโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ให้เพียงพอ รวมทั้ง ผลักดันให้มาตรฐานการเปิดเผยฐานข้อมูลโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) ใช้กับโครงการก่อสร้างทุกประเภท กระทรวงฯยินดีให้การสนับสนุนข้อเสนอของหอการค้าไทย เพื่อประโยชน์ของประเทศ

8.การเสริมสร้างขีดความสามารถธุรกิจพาณิชยนาวี ขอให้พิจารณาออกมาตรการ การอำนวยความสะดวกในการถ่ายลำ การพิจารณายกเว้นภาษี Input Tax สำหรับการนำเรือ Super Yacht เข้ามาทำการค้าชั่วคราวในน่านน้ำไทย ตลอดจน ขอให้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจพาณิชยนาวี อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ , มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ , ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีนิติบุคคล ที่ใช้สำหรับการซ่อมบำรุงดูแลรักษาเรือ ท่าเทียบเรือ หรือ อู่เรือ นอกจากนี้ ขอให้มีการออกมาตรการเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพาณิชยนาวี หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นแก่ผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว เนื่องจากเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

9. แนวทางการพัฒนาด้านการค้าชายแดน ขอให้มีการกำหนดจุด Single Stop Inspection (SSI) และSingle Window Inspection (SWI) ณ ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด เพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับการเดินเรือชายฝั่งจากกัมพูชาและเวียดนาม ในด้านการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวร ขอให้เร่งรัดและผลักดันงบประมาณการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน และ จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จ.อุตรดิตถ์

10. การเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงแหล่งหางานทำ ตามที่ กระทรวงการคลัง นำ Application มาใช้ในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ และเป็นช่องทางจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือแก่ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 อาทิ เป๋าตัง ถุงเงิน นั้น ขอเสนอให้ใช้ Application เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานด้วย โดยเฉพาะการขาดแรงงานเก็บผลไม้ตามฤดูกาลของภาคตะวันออก ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการมีงานทำหรือต้องการหารายได้เพิ่ม สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการหางานทำได้ง่ายขึ้น กระทรวงฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะประสานงานกับกระทรวงแรงงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทย โดยจะให้มีการประสานงานและติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และจะรายงานผลให้ทราบภายใน 1 เดือนหลังจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image