“กระบวนท่ากบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น” (ตอนต้น) โดย เกษียร เตชะพีระ

“กระบวนท่ากบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น” (ตอนต้น)

ที่หน้า 26 ของหนังสือบันทึกการก่อตัวทางปัญญาความคิดของครูเบ็น แอนเดอร์สัน นักวิชาการด้านชาตินิยมและเอเชียอาคเนย์ศึกษานามอุโฆษผู้เพิ่งวายชนม์ไป เรื่อง A Life Beyond Boundaries (Verso, 2016) ที่ตีพิมพ์ออกมาหลังมรณกรรมของท่านเมื่อเร็วๆ นี้ ครูเบ็นเล่าถึงความนิยมชมชอบคำพังเพยพื้นบ้านเชิงเสียดสีของเอเชียอาคเนย์เกี่ยวกับ “กบใต้กะลา” เป็นพิเศษว่า :

ถึงแม้ภาษาไทยกับภาษาอินโดนีเซียจะไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและสังกัดเทือกเถาเหล่ากอทางภาษาศาสตร์ที่ต่างกันมากทีเดียวก็ตาม แต่ทั้งสองภาษาก็มีภาพพจน์เกี่ยวกับกบที่ถูกชะตาฟ้าลิขิตให้อยู่ในกะลามะพร้าวชั่วชีวิต อันเป็นภาชนะที่มักใช้เป็นถ้วยชามในประเทศเหล่านี้ เมื่อนั่งเงียบอยู่ในกะลาได้ไม่ช้านาน เจ้ากบก็จะเริ่มรู้สึกว่าไอ้กะลาใบนี้มันครอบคลุมเอกภพไว้ทั้งหมดนี่หว่า ภาพพจน์เรื่องนี้มีคติธรรมสอนใจว่ากบนั้นใจแคบ บ้านนอกคอกนา จับเจ่าอยู่กับบ้านและหลงพอใจในตัวเองอย่างไร้เหตุผลสิ้นดี ส่วนตัวผมแล้ว ผมไม่เคยอยู่ที่ไหนที่หนึ่งนานพอที่จะตั้งหลักแหล่งเอาเลย ไม่เหมือนเจ้ากบในคำพังเพยนั้น

ท่านนิยมชมชอบด้วยว่ามันสะท้อนอัตชีวประวัติด้านกลับในการเพียรพยายามกระโดดออกจาก “กะลา” ทางปัญญาความคิดของตัวท่านเองมาตลอดจนเลือกใช้มันเป็นลายวาดบนใบหุ้มปกนอกของหนังสือเล่มนี้ของท่านทีเดียว

หากพิจารณาว่าคุณูปการทางปัญญาความคิดที่สำคัญที่สุดของครูเบ็นต่อเมืองไทยซึ่งท่านถือเป็นบ้านแห่งที่สองของท่านรองจากอินโดนีเซีย คือการกระโดดออกจาก “กะลา” ไทยศึกษาแบบชาตินิยมราชการแต่เดิมแล้ว (ดูบทความเกี่ยวกับเมืองไทยของท่านที่รวมเล่มอยู่ใน เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ศึกษารัฐไทย : ย้อนสภาวะไทยศึกษา, 2558)

Advertisement

ก็อาจกล่าวสืบไปได้ว่าในระยะไม่กี่ปีหลังก่อนท่านจากไป ครูเบ็นได้พยายามแสดงกระบวนท่ากบกระโดดออกจากกระแสไทยศึกษาร่วมสมัยอีกครั้ง

คราวนี้เพื่อออกจาก “กะลา” ที่รวมศูนย์เน้นย้ำเรื่องชนชั้นและประชาธิปไตยซึ่งครอบงำการศึกษาการเมืองไทยปัจจุบันอยู่

กล่าวคือ ท่านได้เสนอข้อถกเถียงให้อ่าน “สงครามระหว่างสีเหลืองกับแดง” อันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยที่แก้ไขยากและยืดเยื้อมาร่วมทศวรรษว่าเป็นการแก่งแย่งช่วงชิงของเจ๊กคณาธิปไตยต่างกลุ่มสำเนียงภาษาด้วยกันเองซึ่งถูกกำหนดทั้งจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม

Advertisement

ในความเรียงที่ตีพิมพ์หลังมรณกรรมของครูเบ็นอีกชิ้นหนึ่งในวารสาร New Left Review (II/97 January-February 2016) ซึ่งมี Perry Anderson น้องชายของท่านเป็นสมาชิกกองบรรณาธิการเรื่อง “Riddles of Yellow and Red” (หรือในพากย์ไทยว่า “ปริศนาเหลืองแดง”)

ครูเบ็นได้นำเสนอการตีความแบบแย้งย้อนของตนเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันในฉบับที่ชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ปรากฏถึงทุกวันนี้ ซึ่งท่านได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ด้วยความช่วยเหลือของ คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ เพื่อนผู้เป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโสไทยเชื้อสายจีนซึ่งรอบรู้หลายภาษา ในการบรรยายสาธารณะต่อเนื่องหลายครั้งทั้งในเมืองไทยและที่อื่นๆ ในช่วงหลายปีหลัง ได้แก่ :

– “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 26 มกราคม 2554

– “The Paradox of Overseas : The Strange Politics of Different Chinese Clan Groups in Thailand” ณ วิทยาลัยนโยบายและการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยซิงหัว กรุงปักกิ่ง มีนาคม 2557

– “คุยเรื่องวาทกรรม “ลูกจีน” ที่หายไปกับเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน” รายการ Divas Cafe ทาง Voice TV 7 เมษายน 2557 และ

– “Questions about Speech Group Political Outlooks” ณ สยามสมาคม กรุงเทพฯ 17 มีนาคม 2557

โดยที่ความเรียงในวารสาร New Left Review ชิ้นนี้อิงตามบทปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยซิงหัว กรุงปักกิ่ง

ครูเบ็นถกเถียงไว้ในงานชิ้นนี้ว่าเนื่องจากพัฒนาการต่างๆ ของประวัติศาสตร์โลกที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกและจีนจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แบบแผนการอพยพของคนจีนเข้าสู่สยามจึงได้เปลี่ยนไป ส่งผลให้การกระจายตัวของจีนอพยพไปยังพื้นที่ภูมิภาคและเข้าสู่อาชีพต่างๆ มีลักษณะสอดรับลงตัวกับกลุ่มคนจีนสำเนียงภาษาต่างๆ ที่เข้ามาในสังคมเศรษฐกิจไทย อาทิ

กลุ่มจีนสำเนียงแต้จิ๋วจะรวมศูนย์และครอบงำบางกอกอันเป็นเมืองหลวง อีกทั้งมีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงราชสำนักและอำนาจรัฐส่วนกลาง

ขณะที่กลุ่มจีนสำเนียงฮกเกี้ยนและไหหลำจะเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้และครอบงำเศรษฐกิจท้องถิ่นที่นั่น

ส่วนกลุ่มจีนสำเนียงแคะและไหหลำอีกบางส่วนจะเดินทางตามทางรถไฟสร้างใหม่ไปตั้งถิ่นฐานทางเหนือ

นอกจากนี้ ระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ตั้งขึ้นในสยามเพื่อตอบรับระบอบการค้าเสรีที่สถาปนาขึ้นโดยสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทางการอังกฤษในปี พ.ศ.2398 ก็ส่งผลให้เจ้าภาษีนายอากรจีนแต้จิ๋วจำนวนมากมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น รวมทั้งก่อเกิดประเพณีอันยืนนานในการรวมตัวจัดตั้งในรูปแบบสมาคมอั้งยี่และแนวโน้มใช้ความรุนแรงตัดสินข้อพิพาทกันในบรรดาชุมชนจีนทั้งหลายในท้องถิ่น

จากนี้ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ นานัปการด้วยกัน ได้แก่ :

1) การที่กลุ่มจีนต่างสำเนียงภาษาทั้งสี่เข้าถึงอำนาจรัฐและกระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ อย่างไม่สม่ำเสมอเท่าเทียมกัน

2) ประเพณีอันยืนนานของการจัดตั้งกันเป็นสมาคมอั้งยี่และความโน้มเอียงที่จะใช้ความรุนแรงตัดสินข้อพิพาททางอิทธิพลและผลประโยชน์ในชุมชนคนจีน และ

3) ความจริงที่ว่าขบวนการหลักทั้งสองขบวนการอันเป็นร่างทรงของจิตสำนึกชนชั้นล่างและความเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยแบบชาตินิยมของประชาชนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อันได้แก่ ขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธใต้การนำของคอมมิวนิสต์ในชนบท และขบวนการนักศึกษาที่มุ่งพลิกเปลี่ยนสังคมอย่างขุดรากถอนโคนในเขตเมือง ซึ่งดึงดูดคนงานและนักศึกษาปัญญาชนลูกเจ๊กเข้าไปร่วมด้วยจำนวนมาก ต่างก็ประสบความปราชัยทางการเมืองและล่มสลายทางการจัดตั้งด้วยกันทั้งคู่ในพุทธทศวรรษที่ 2520 ฯลฯ

ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ จึงเป็นการปูทางเปิดฉากให้แก่การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจรัฐ สมบัติของหลวงและอำนาจนำแห่งชาติกันระหว่างกลุ่มเจ๊กต่างสำเนียงภาษาทั้งสี่ในระยะหลังแห่งรัชกาลปัจจุบัน โดยมีแกนนำตัวแทนกลุ่ม ได้แก่ :

– อดีตนายกฯ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย) แห่งกลุ่มจีนแคะ

– อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) แห่งกลุ่มจีนฮกเกี้ยน

– สนธิ ลิ้มทองกุล (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) แห่งกลุ่มจีนไหหลำ

– อำมาตย์ราชการใหญ่ (สังกัดสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย) แห่งกลุ่มจีนแต้จิ๋ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจึงหาใช่ความขัดแย้งระหว่าง [เสื้อเหลืองกระฎุมพีเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย] กับ [เสื้อแดงรากหญ้าประชาธิปไตยที่ไม่เสรีนิยม] ดังที่นักวิชาการบางคนตีความไม่

หากโดยแก่นแท้แล้ว มันเป็นความขัดแย้งระหว่าง [อำนาจสถาปนาตกค้างมาแต่เดิมของพวกคณาธิปไตยเจ๊กแต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยน-ไหหลำที่รวมศูนย์อยู่ที่ใจกลางของเครือข่ายผู้จงรักภักดีในกรุงเทพฯ และภาคใต้] กับ [อำนาจสถาปนามักใหญ่ใฝ่สูงของพวกคณาธิปไตยเจ๊กแคะภายใต้การนำของทักษิณในภาคเหนือและภาคอีสาน]

ปมเงื่อนแห่ง “ปริศนาเหลืองแดง” ของการเมืองไทยร่วมสมัยก็มีแค่นี้เอง ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ ดังที่ครูเบ็นกล่าวติเตือนไว้ห้วนๆ ตอนท้ายความเรียงหน้า 20 ว่า :

อย่าได้หลอกตัวเองว่าการประชันขันแข่งทางการเมืองในเมืองไทยเป็นเรื่องประชาธิปไตยหรืออะไรทำนองนั้นเลย มันเป็นแค่เรื่องที่ว่าพวกแต้จิ๋วจะได้กุมตำแหน่งตั้วเหี่ยสุดยอดไว้ต่อไป หรือมันจะเป็นทีของพวกแคะหรือไหหลำบ้างต่างหาก

(ต่อสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image