ไทยพบพม่า : รัฐธรรมนูญ 2008 กับรัฐประหารพม่า

ไทยพบพม่า : รัฐธรรมนูญ 2008 กับรัฐประหารพม่า
ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังถ่ายวิดีโอตัวเธอเต้นแอโรบิก ระหว่างกองทัพกำลังทำรัฐประหาร เช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ณ กรุงเนปยีดอ วิดีโอนี้ถูกส่งต่อไปหลายล้านครั้งและกลายเป็นมีมฮิตในชั่วข้ามคืน

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนเริ่มร่างบทความประจำสัปดาห์ในคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” ด้วยความมั่นใจว่าคงไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นในพม่า ด้วยเหตุผลว่ากองทัพไม่มีเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องลงทุนทำรัฐประหาร เพราะดังที่ทราบกันดีว่าแม้อำนาจฝ่ายบริหารจะเป็นของฝ่ายพลเรือนภายใต้การนำของพรรคเอ็นแอลดี และด่อ ออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ แต่ในทางนิตินัย กองทัพพม่ายังมีอำนาจแบบเต็มสูบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของสมาชิกคณะกรรมการ 54 คน ที่รัฐบาลทหารภายใต้ SPDC และพลเอกตาน ฉ่วย แต่งตั้งเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2004

พม่าเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้วเพียง 3 ฉบับ ฉบับแรกนำมาใช้ในปี 1947 ก่อนพม่าได้รับเอกราชเพียงไม่กี่เดือน ฉบับที่ 2 ร่างขึ้นหลังนายพลเน วิน รัฐประหาร นำออกมาใช้ในปี 1974 หลังเกิดเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาล

เน วิน ครั้งใหญ่ในปี 1988 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดในปี 2008 รัฐบาลทหารภายใต้ SLORC และ SPDC ไม่ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 1974 มาใช้ และแม้จะมีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของ SLORC เองมาตั้งแต่ปี 1993 แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการประท้วงจากพรรคเอ็นแอลดีที่มองว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกองทัพและเพื่อกองทัพนั้นไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทหารแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 2004 จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรค NLD จะมีมติบอยคอตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะออกมาอย่างแข็งขัน

การทำประชามติรับรัฐธรรมนูญในปี 2008 เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน เพราะกองทัพฉกฉวยใช้โอกาสหลังพายุไซโคลนนากิสเพิ่งถล่มพม่า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน กองทัพอ้างว่าหลังการทำประชามติ มีประชาชนที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมากถึงร้อยละ 93.82 ข้อวิจารณ์ต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประการแรก การมอบโควต้าร้อยละ 25 ให้กับคนจากกองทัพ โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งและกระบวนการทางรัฐสภาใดๆ ประการที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงกิจการชายแดนต้องเป็นคนจากกองทัพเท่านั้น (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการการเมืองในยุครัฐบาลเอ็นแอลดีคือพลโท เส่ง วิน และพลโท เย อ่อง ตามลำดับ)

Advertisement

และประการที่ 3 มาตรา 59(f) ในรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ผู้ใดที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดีได้ เห็นได้ชัดเจนว่ากองทัพออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2008 ออกมาอย่างประณีต โดยใช้เนติบริกรชั้นดี เพื่ออุดรอยรั่ว ช่องโหว่ใดๆ ที่จะทำให้รัฐบาลพลเรือนของเอ็นแอลดีมีอำนาจเกินกองทัพได้

รัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหักปากกาเซียนและนักวิเคราะห์ทั้งในและนอกพม่า ก่อนหน้านี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากเนปยีดอว่ากองทัพอาจใช้ข้ออ้างเรื่องการเลือกตั้งที่ตนมองว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อรัฐประหาร แต่ก่อนรัฐประหารไม่กี่วัน สำนักงานโฆษกประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกมาแถลงว่ากองทัพจะ “เคารพรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยความพยายามที่จะลดความตึงเครียดทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลและกองทัพ ว่าด้วยข้อขัดแย้งจากการเลือกตั้ง และข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร”

ผู้เขียนถูกถามบ่อยครั้งหลังเกิดรัฐประหารว่าเหตุใดกองทัพจึงดูจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และพุ่งไปที่การโจมตีคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่า และนำมาใช้เป็นข้ออ้างการรัฐประหารได้สำเร็จ (แต่จะมีคนเชื่อหรือไม่เป็นอีกเรื่อง) ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคน เพราะพรรคเอ็นแอลดีกวาดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น มากกว่าการเลือกตั้งในปี 2015 โดยเอ็นแอลดีกวาดที่นั่ง 396 จาก 476 ที่นั่งในสภา เรียกว่าพรรค USDP ที่เป็นพรรคนอมินีของกองทัพพ่ายแพ้ไม่เป็นท่า ได้มาเพียง 33 ที่นั่ง บ้างบอกว่ากองทัพรู้สึกเสียหน้าอย่างแรงจากผลการเลือกตั้งนี้ ด้วยความกลัวและ “นอยด์” สุดขีด กองทัพจึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อปรามและหยุดไม่ให้เอ็นแอลดีมีอิทธิพลมากไปกว่านี้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งกองทัพพยายาม “แหย่” พรรคเอ็นแอลดีหลายครั้ง ครั้งแรกคือการร่อนจดหมายวิจารณ์การทำงานของ กกต.พม่าที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่มีความยุติธรรม และยังเรียกร้องให้เอ็นแอลดีตรวจสอบกรณีการทุจริตการเลือกตั้งที่พรรค USDP เป็นผู้ร้องเรียน หลังพรรค USDP ตรวจสอบแล้วและพบว่ามีความผิดปกติถึง 8.6 ล้านเคส (ค่ะ ฟังไม่ผิดค่ะ!) ใน 314 เมือง

Advertisement

ตรรกะของกองทัพเรื่องการโกงการเลือกตั้งอาจจะฟังดูไม่สมเหตุสมผลนักสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่กองทัพได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าไม่พอใจผลการเลือกตั้ง และอิทธิพลของพรรคเอ็นแอลดีที่มีมากขึ้น และอาจไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2008 ด้วย แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับกองทัพ แต่ด้วยการเมืองพม่าที่เปลี่ยนแปลงไป และเอ็นแอลดีก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่าที่เคย แม้ด่อ ออง ซาน ซูจีจะถูกประณามโดยนานาชาติจากกรณีของโรฮีนจา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความชื่นชอบในตัวเธอและการยกย่องเธอประหนึ่งเป็น “เทพีแห่งเสรีภาพ” ลดหายลงไปเลย

ผู้เขียนมองว่าในยุคสถานการณ์ฉุกเฉินจากนี้ไปอีก 1 ปี กองทัพจะทำตามสิ่งที่ตนได้กล่าวไว้เมื่อมีรัฐประหาร คือ
จะตรวจสอบผลการเลือกตั้งอย่างละเอียด และจะออกมาตรการเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่รัฐบาลพลเรือนได้ทำมา แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ม่านนี้ กองทัพก็คงจะเร่งร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปมีมาตราสกัดกั้นอิทธิพลของรัฐบาลพลเรือนและมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับกองทัพมากขึ้น เพื่อกรุยทางไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอีก 1 ปี++ ข้างหน้า ในระหว่างนี้ประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือภาคประชาสังคมจะมีทีท่าอย่างไรต่อรัฐประหารครั้งนี้ จะมีม็อบที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ขิ่น ซอ วิน (Khin Zaw Win) นักวิเคราะห์การเมืองและอดีตนักโทษการเมืองที่ผู้เขียนเคารพรัก ออกมาเตือนบนเฟซบุ๊กของตนว่าไม่แนะนำให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงกองทัพ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการชุมนุมประท้วงกองทัพพม่าทุกครั้งจบลงพร้อมกับโศกนาฏกรรมและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ไม่ว่ารัฐประหารนี้จะจบลงอย่างไร ผู้เขียนขอส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวเมียนมาทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และภายใต้ยุครัฐบาลทหาร 2021 นี้ไปได้ สำหรับคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” เราคงกลับมาพูดคุยถึงแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐประหารอีกหลายครั้ง ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามมาโดยตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image