ปธ.อนุกมธ.ปรับปรุงระบบราชการฯ ขอบคุณ ‘บิ๊กตู่’ สั่งชะลอเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข 305 ชั้น 3 อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบราชการเพื่อปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุมอนุกมธ.ฯ ได้หารือเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ แล้วที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับ การเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุ จากหน่วยงานราชการ ซึ่งตนได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวไปหลายครั้งถึงความยากลำบากของผู้สูงอายุในยามที่มีเหตุการณ์โควิด-19 นี้ และไม่ใช่ความผิดของผู้สูงอายุแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีตนขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและมอบนโยบายให้สั่งชะลอการเรียกคืนหรือฟ้องร้องกับคนชราเอาไว้ก่อน

นายวิระศักดิ์ ฮาดดา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบราชการเพื่อปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นว่า ด้วยเหตุการณ์การจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ แต่เดิม ได้ให้ ท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย ซึ่งระเบียบอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และท้องถิ่นก็ไม่มีฐานข้อมูลที่แท้จริงว่า ใครรับเงินจากที่ไหนบ้าง ซึ่งการรับเงินจากหลายทางนั้น ในทางปฏิบัติจะเห็นว่าหลายหน่วยงานราชการก็สามารถรับเงินได้หลายทาง แต่พอมาเป็นคนชรา กลับรับเงินหลายทางไม่ได้ ข้อนี้จึงต้องไปดูระเบียบของหน่วยงานราชการว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยทางคณะอนุกรรมาธิการฯ จะเสนอคณะกรรมาธิการใหญ่ เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง มาหารือในทางออกที่ถูกต้องในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์ถัดไป

นายณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบราชการเพื่อปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ที่ได้รับโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยชอบธรรม หากจะพิจารณาในแง่กฎหมาย จะมีข้อกฎหมายที่มีหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มาตรา 11 (12) การจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
มาตรา 12 การเรียกร้องสิทธิหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น

2.ระเบียบกระทรวงมหาดไทย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ.2552 ข้อ 6 (4) จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ เช่น ผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าลำดับกฎหมายจะลำดับตาม 1) รัฐธรรมนูญ 2) พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย 3) พระราชกฤษฎีกา 4) กฎกระทรวง หากจะพิจารณาไปแล้วกฎกระทรวงจะมีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำสุด ตนไม่ขอตัดสินใครผิดถูกแต่เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สิ่งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้ช่วยกันหาทางออกร่วมกันยามที่ประเทศเกิดภัยโควิด-19 เราคงต้องร่วมมือกันแก้ไขทั้งข้อกฎหมายและฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ รวมถึงระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image