ชลประทาน เร่ง9แผนงาน สยบอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ กรมได้มีการประชุมหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ร่วมกับคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโครงการฯ โดยกรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่จะสามารถบรรเทาปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยในส่วนของโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนพระราม 6 ถึง คลองชายทะเล กรมชลประทานมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิมจำนวน 23 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร รวมทั้งได้ก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำรวม 43 อาคาร ซึ่งเมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเล พร้อมเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในคลองได้ 66 ลบ.ม.

นายประพิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย 3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3

4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง

นายประพิศ กล่าวว่า ที่การประชุมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เร่งรัดการเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนต่อการดำเนินงานในส่วนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและตรงตามแผนหลักของตัวโครงการที่ได้วางไว้ ทั้ง 9 แผนงานดังกล่าว ได้รับการอนุมัติเปิดโครงการไปแล้วจากมติคณะรัฐมนตรี โดยกรมจะเร่งดำเนินการรายกิจกรรมในแผน 1 หรือปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ได้แก่ ปรับปรุงคลองระพีพัฒน์ ปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ และคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติโครงการเพื่อก่อสร้างในปี 2566

Advertisement

รายงานข่าวจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า สำหรับปริมาณน้ำใช้การได้ในแหล่งน้ำทุกขนาด 22,615 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 39% ของความจุอ่างฯ แบ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 17,014 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36% ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 12 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ เป็นต้น ส่วนคุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวังน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาความเค็ม จากน้ำทะเลหนุนสูงทุกพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อไม่ให้กระทบน้ำอุปโภค-บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image