‘บิ๊กป้อม’ เร่ง ‘บจธ.’ รับฟังความเห็นปชช. ชงร่างกม.จัดการที่ดินทำกิน อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) (บจธ.) เปิดเผยว่า บจธ. ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และความยากจน ของพี่น้องเกษตรกรโดยให้ส่วนราชการจังหวัดทั่วประเทศร่วมบูรณาการกับ บจธ.ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง และยั่งยืน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เนื่องด้วยบจธ. ถือเป็นหน่วยงานรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่มีภารกิจที่ช่วยเหลือด้านที่ดินทำกิน นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ดำเนินการในพื้นที่ของรัฐอยู่แล้ว โดยบจธ. จะดำเนินการในพื้นที่ของเอกชนในรูปแบบของโฉนด ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบกลุ่ม และยังช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินรายบุคคล ทุกโครงการจะส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรได้พึ่งพาตัวเองได้ ให้ความรู้ในการทำเกษตร ร่วมคิดร่วมทำ โดยน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจขอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นหลักดำเนินการทำเกษตร รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการตลาด เป็นโครงการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนได้อย่างครบวงจร บจธ. ให้ความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินแก่เกษตรกร และผู้ยากจนทั่วประเทศ ได้ดำเนินการโครงการนำร่องโฉนดชุมชนไปแล้ว 5 พื้นที่ ล่าสุดรวมทั้งหมด 5,066 ไร่ เกษตรกรกว่า 1,369 ครัวเรือน และเพื่อให้เกิดกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำ

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดิน พ.ศ. …. ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วขณะนี้อยู่ในการรับฟังความคิดเห็น ( public hearing) โดยขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเริ่มตั้งแต่ วันที่ 7 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 (จำนวน 60 วัน) รูปแบบการรับฟังความคิดเห็น มี 4 รูปแบบ มีดังนี้ รูปแบบที่ 1 การลงพื้นที่แต่ละภาค กำหนดไว้ 7 ภาค ได้แก่ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคเหนือภาคคอีสานตอนบน รูปแบบที่ 2 การรับฟังความคิดเห็นผ่านโปรแกรม ZOOM ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง (ใช้การรวมกลุ่มประชุมย่อยๆ หลายกลุ่มในเวลาเดียวกันผ่าน ZOOM) ภาคใต้ตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนล่าง รูปแบบที่ 3 ได้แก่ การส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานและองค์กรชุมชนต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเครือข่าย บจธ. และนอกเครือข่ายเพื่อให้เกิดความหลากหลาย จำนวนประมาณ 250 ฉบับ (ทุกกระทรวงและทุกจังหวัด) รวมทั้งสิ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ จำนวน 168 หน่วยงาน องค์กรชุมชน 90 องค์กร องค์กรเอกชน 49 องค์กร สถาบันการศึกษา 7 แห่ง รูปแบบที่ 4 การรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์บจธ.

“จากการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. … ทุกภาคส่วนให้ความสนใจและสนับสนุนโดยมีข้อคิดเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนให้เร็วที่สุด เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจที่จะมาช่วยเหลือประชาชนด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มีความครบถ้วนและสามารถแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำด้านที่ดินให้แก่ประชาชนได้อย่างตรงจุดและไม่มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจที่หน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ ภาคประชาชนหนุนเสริมเต็มกำลังและมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน โดยขณะนี้มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 785 คนแล้ว

ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมากที่สุดใน 3 ปะเด็นหลัก ได้แก่ ที่ดินที่นำมาใช้ดำเนินการนอกจากที่ดินเอกชนขอให้มีที่ดินของรัฐด้วยโดยเสนอให้เพิ่มเติมบทบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานสนับสนุนที่ดินเพื่อการดำเนินภารกิจของสถาบันให้ชัดเจน และเห็นด้วยกับการมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้าเป็นคณะกรรมการของสถาบันเพราะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน จึงได้มีสัดส่วนของภาคประชาชน เข้าร่วมในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงเรื่อง ทุนในการดำเนินการ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ มีความแตกต่างกับร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. …. ทุกฉบับ เพราะไม่มีการกำหนดทุนประเดิมไว้ จึงเสนอให้มีการกำหนดจำนวนทุนประเดิมไว้ให้มีความชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานมีทุนในการดำเนินการอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ตัวสถาบันฯ สามารถดำเนินการได้อย่างมีความมั่นคงและไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐต่อไป”ประธานบจธ. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image