สธ.เปิดแผนฉีดวัคซีน 2 ล้านโดสแรก 10 จว. เริ่มก.พ.-เม.ย.
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย
นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ชนิดไวรัลเวกเตอร์ จากบริษัทแอสตราเซเนกา ถือเป็นเทคโนโลยีกลางๆ ไม่ได้ใหม่สุด แต่มีความมั่นใจด้านความปลอดภัย และชนิดเชื้อตาย จากบริษัทซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเก่า จึงมั่นใคชจความปลอดภัย ทั้งนี้ หลังฉีดก็อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ไม่มีผลรุนแรง ส่วนประสิทธิภาพวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีผลที่น่าพอใจในการลดไม่ให้เกิดโรค ลดการป่วยและสูญเสีย ขณะนี้ เริ่มมีข้อมูลจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้มากขึ้นเรื่องลดการแพร่โรค แนวโน้มไปในทางที่ดี บางประเทศระบุว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกา สามารถลดการแพร่โรคได้ถึงร้อยละ 50-60
นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า นโยบายการให้วัคซีน คือทุกคนในประเทศไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมายของการให้วัคซีน คือ 1.ลดการป่วยและการเสียชีวิต จึงฉีดให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 2.ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมถึง ฝ่ายความมั่นคง อสม. และ 3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
การให้วัคซีนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 วัคซีนมีจำกัด เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต ในพื้นที่เป้าหมาย คือ สมุทรสาคร ตาก กทม.และปริมณฑล ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าทำงานป้องกันโควิด ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
ระยะที่ 2 เมื่อคุมโรคได้และมีวัคซีนเพียงพอ ในช่วง มิ.ย. มุ่งเป้าเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม คือ ผู้มีอาชีพการท่องเที่ยว ให้บริการสาธารณะ ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ อีกกลุ่มคือ นักการทูต เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายการฉีดในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือนก.พ. – เม.ย. กระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน ได้แก่ สมุทรสาคร 10 แห่ง กทม. 62 แห่ง สมุทรปราการ 30 แห่ง นนทบุรี 21 แห่ง ปทุมธานี 22 แห่ง ระยอง 13 แห่ง ชลบุรี 32 แห่ง จันทบุรี 14 แห่ง ตราด 8 แห่งและตาก 11 แห่ง แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในประเทศไทย แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น โดย 1 คนจะฉีด 2 เข็ม ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย 1.สมุทรสาคร 8.2 แสนโดส จำนวน 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
2.กทม. 8 แสนโดส จำนวน 4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1 แสน คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6แสนคน 3.นนทบุรี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 4.ปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
5.สมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน 6.ระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
7. ชลบุรี 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 8.จันทบุรี 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน
9.ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน 10.ตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน
“รวม 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดสสำหรับ 33,000 คนนั้นจะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ” นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวว่า ระยะที่ 2 จำนวน 61 ล้านโดส จะดำเนินการกระจายในช่วงเดือนมิ.ย.และให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในรพ.ที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง วันละ 500 โดส 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้นอาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำล(รพ.สต.)บางแห่งที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากการที่กรมควบคุมโรค ดำเนินการสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชน เมื่อ 26 ม.ค.-8 ก.พ. จำนวน 2,879 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนโดยตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ตอบว่าควรให้บุคลากรทางการแพทย์ 70% ผู้สูงอายุ 40% ทุกคนควรได้รับ 35% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33% และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22% ทั้งนี้ ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่ใช่กลุ่มเป้ามายเพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉินไม่ได้มีการทดลองใน 2 กลุ่มนี้ นอกจากนี้ หากไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน พบว่า ยังต้องการมาก ปานกลางและน้อย รวมประมาณ 70% ไม่ต้องการฉีด18 % และไม่แน่ใจ 12%