สธ. ชวนคนไทยทำบุญวันมาฆบูชาแบบ ‘รักษ์สุขภาพ รักษ์โลก ลดโรค’

SONY DSC

สธ. ชวนคนไทยทำบุญวันมาฆบูชาแบบ ‘รักษ์สุขภาพ รักษ์โลก ลดโรค’

 

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม “มาฆบูชา วิถีพุทธ ชุมชนเป็นสุข พระสงฆ์สุขภาพดี” ในรูปแบบ”รักษ์สุขภาพ รักษ์โลก ลดโรค” เพื่อร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดใช้พลาสติก และถวายภัตตาหารพระสงฆ์ด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ พร้อมย้ำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในงานกิจกรรม “มาฆบูชา วิถีพุทธ ชุมชนเป็นสุข พระสงฆ์สุขภาพดี” ร่วมกับนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายสุเทพ ภู่รัตนโอภา ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายสำรวย นักการเรียน (รักษาการ) รองอธิบดีกรมการศาสนา ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้หลัก 5 ร. คือ ร่มรื่น ร่มเย็น ร่วมสร้าง ร่วมจิตวิญญาณ และร่วมพัฒนา ซึ่งขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพกว่า 11,314 วัด ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) โดยเริ่มตั้งแต่ 1. การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 2. ขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) 3. จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) หลักสูตร 70 ชั่วโมงและหลักสูตร 35 ชั่วโมง ขณะนี้มีพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรม จำนวน 8,260 รูป และ 4. การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต.

Advertisement

“ทั้งนี้ เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งในปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายให้มีพระคิลานุปัฏฐาก 1 รูป ต่อ 1 ตำบล และขยายผลให้มีพระคิลานุปัฏฐากครอบคลุมทุกวัดทั่วประเทศ โดยจัดให้มีการอบรมในพื้นที่ และอบรมผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) เพื่อพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ต่อไป และสำหรับวัดพุทธปัญญาที่ได้มีการจัดกิจกรรม”มาฆบูชา วิถีพุทธ ชุมชนเป็นสุข พระสงฆ์สุขภาพดี” ถือเป็นวัดที่ได้ประเมินตนเองผ่านเกณฑ์สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย มั่นใจ ห่างไกลโควิด-19 และได้รับมอบป้าย Thai STOP COVID Plus ในครั้งนี้ด้วย” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันมาฆบูชาของทุก ๆ ปี พุทธศาสนิกชนนิยมมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน กรมอนามัยจึงรณรงค์ชวนคนไทยเลือกของที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ ถ้าเป็นอาหารสด ควรเลือกเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม แต่ถ้าเป็นอาหารแห้ง ให้ดูบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่เป็นสนิม มีเครื่องหมายอย.กำกับ และตักบาตรในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนสามารถเลือกใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าไปจ่ายตลาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบทำอาหารหรืออาหารสำเร็จรูปทำบุญ เพื่อตักบาตรแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สำหรับบางวัดที่จัดให้มีโรงทานสำหรับปรุงอาหารให้แก่ผู้ที่มาทำบุญ จึงควรใช้วัสดุธรรมชาติบรรจุอาหารเช่นกัน เพื่อเป็นการลดการใช้พลาสติกหรือโฟม นอกจากนี้ ประชาชนที่มาทำบุญที่วัดขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยต้องสวมหน้ากากทุกครั้งก่อนเข้าวัด หรือบริเวณโรงทาน ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังกินอาหาร ผู้ปรุงอาหาร ต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่และให้เปิดโล่งเพื่อการระบายอากาศที่ดี รวมทั้งจัดให้มีจุดคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล และสิ่งสำคัญคือผู้ที่จะเดินทางไปทำบุญที่วัดควรประเมินตนเองในเบื้องต้น หากมีไข้ ไอ หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง ควรงดออกจากบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19″ อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

 

Advertisement

 

 

SONY DSC
SONY DSC
SONY DSC
SONY DSC
SONY DSC
SONY DSC
SONY DSC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image