ปรับ ครม.-แก้ รธน. โอกาส บิ๊กตู่ โอกาส ประเทศ

ปรับ ครม.-แก้ รธน. โอกาส บิ๊กตู่ โอกาส ประเทศ

ศาลอาญาตัดสินลงโทษ คดี กปปส. ในข้อหามากมายในช่วงเหตุการณ์เมื่อปี 2556-2557

อาทิ ข้อหายุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

ผลการตัดสินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก กลุ่มที่มีโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี 2.นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน 3.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี 4.นายอิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน 5.นายถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี 6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน

Advertisement

7.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำคุก 3 ปี 8.พระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ จำคุก 4 ปี 8 เดือน 9.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน 10.นายคมสัน ทองศิริ จำคุก 2 ปี 11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำคุก 2 ปี 12.นายสุริยะใส กตะศิลา จำคุก 2 ปี 13.นายสำราญ รอดเพชร จำคุก 2 ปี 16 เดือน 14.นายอมร อมรรัตนานนท์ จำคุก 20 เดือน

กลุ่มที่สอง กลุ่มที่มีโทษจำคุก แต่รอลงอาญา ประกอบด้วย 1.นายวิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี เเละปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 2.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำคุก 1 ปีปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 3.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 4.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 5.นายถนอม อ่อนเกตุพล จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี

6.นายสาธิต เซกัลป์ จำคุก 2 ปี ปรับ 26,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี 7.พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 8.พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 9.นายมั่นแม่น กะการดี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 10.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี 11.นายกิตติชัย ใสสะอาด จำคุก 4 เดือน ปรับ 6,666 รอลงอาญา 2 ปี 12.นางทยา ทีปสุวรรณ จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 รอลงอาญา 2 ปี

กลุ่มที่สาม ศาลยกฟ้อง มีทั้งสิ้น 12 คน

ผลจากคำพิพากษาทำให้ นายณัฏฐพล นายพุทธิพงษ์ และ นายถาวร พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ต้องปรับ ครม.

การปรับ ครม.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องพบกับความยุ่งยากในการตัดสินใจ

ประการแรก เกิดความยุ่งยากภายในพรรคพลังประชารัฐ เพราะการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด ยังมีผู้ข้องใจเกี่ยวกับตำแหน่ง อาทิ นายอนุชา นาคาศัย ที่เป็นถึงเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แต่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการ

ขณะที่มีสมาชิกอีกหลายคนมองว่าตัวเองน่าจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เช่นเดียวกับคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยก็อยากจะนั่งรัฐมนตรีว่าการ

อาทิ กลุ่ม ส.ส.พรรค พปชร.ทางภาคใต้ เริ่มส่งสัญญาณขอโควต้าเก้าอี้อีกครั้ง

ประการที่สอง เกิดความยุ่งยากระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมว่างลง ก็บังเกิดคำถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังจะได้โควต้าเก้าอี้ตัวนี้อีกหรือไม่

การที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แวะไปพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

ประการที่สาม พรรคเล็กที่ “ผู้ใหญ่” เคยรับปากเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ต้อง “อกหัก” หลายต่อหลายครั้ง คราวนี้ย่อมต้องออกมาเคลื่อนไหวอีก

แม้เสียงพรรคเล็กจะแผ่วลงไป แต่การขัดคอในสภาด้วยเสียงโหวต ย่อมส่งผลให้รัฐบาลระคายเคือง

อย่างไรก็ตาม หาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ปรับปรุงจัดทัพรัฐบาลเสียใหม่ ย่อมเป็น “โอกาส” ที่ดีของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้เพราะขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และมีกำหนดฉีดให้กลุ่มเป้าหมายวันที่ 1 มีนาคมนี้

โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมฉีดเข็มแรก

คาดว่า หลังจากนี้วัคซีนจะทยอยเข้ามาในประเทศ และฉีดให้คนไทยมากขึ้นจนครบจำนวนที่ต้องการ

ทำให้ขวัญกำลังใจคนไทยดีขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความหวัง

เช่นเดียวกับวัคซีนในโลก และการฉีดที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น

ณ เวลาเช่นนี้ หากประเทศไทยสามารถเตรียมตัวเองได้พร้อม การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบโควิด-19 ได้เร็วย่อมสามารถทำได้

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรี รวม 10 คนเพิ่งผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมา และรัฐบาลเองก็ได้บริหารราชการแผ่นดินมาครบเวลาที่สมควรจะประเมินผล

ดังนั้น การปรับ ครม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารประเทศ จึงเป็น “โอกาส” ในการบริหาร

เพียงแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้โอกาสนี้ ปรับปรุง ครม.ตัวเองอย่างไร

มองไปที่รัฐสภา การประชุมช่วงท้ายสมัยประชุม รัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2

เนื้อหาการแก้ไขที่คณะกรรมาธิการหารือกัน เอื้อต่อการยกร่างกฎกติกาใหม่ร่วมกัน

ในวาระ 2 ที่ประชุม เห็นชอบให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การให้ ส.ส.ร.เลือกตั้งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ความหวังที่จะลดความขัดแย้ง

หากรัฐสภาผ่านวาระ 3 ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุน เท่ากับว่ารัฐสภาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เปิดทางให้ประชาชนร่างกติกาประเทศ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด

นั่นคือ ลดความขัดแย้ง

ขณะนี้ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้บ้านเมืองคืนกลับสู่มาตรฐานเดิม

ต้องการเห็นประเทศชาติพัฒนา

ถ้าแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นไปตามกำหนด สามารถยับยั้งการระบาด และสร้างความเชื่อมั่นได้ ประเทศไทยก็ถึงเวลาที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า

การขับเคลื่อนย่อมต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความพร้อม การปรับ ครม. จึงเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะจัดทีมงานให้เหมาะสม

เช่นเดียวกับรัฐสภาที่กำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลต่อการลดความขัดแย้ง

หากกลไกทั้งมวลดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย

รัฐบาลควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ฉีดวัคซีนได้ตามกำหนด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทีม ครม.ที่พร้อมรุก รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3

ประเทศไทยย่อมมีโอกาสพัฒนา

แต่ถ้าทุกอย่างล้มเหลว ประเทศยังต้อง “ล็อก” เพื่อสู้กับโรคระบาด ถ้า ครม.แตกแยก ขับเคลื่อนงานไม่ได้ผล หรือถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงฝั่ง กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง

โอกาสที่ประชาชนอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง คืนกลับสู่มาตรฐานประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นยาก

สถานการณ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะทำให้ทุกอย่างสงบ และขับเคลื่อนไปข้างหน้า

สถานการณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสของประเทศ ที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image