เเจงเหตุผลศาลอุทธรณ์ไม่พิมพ์ชื่อผู้พิพากษาในคำสั่งประกัน ชี้ มีระเบียบใช้มายาวนาน

อ่านตรงนี้! เเจงเหตุผลศาลอุทธรณ์ไม่พิมพ์ชื่อผู้พิพากษาในคำสั่งประกัน เผยมีระเบียบใช้มายาวนานตั้งเเต่ศาลสังกัด ก.ยุติธรรม ไม่เฉพาะคดี 4 เเกนนำ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 64 จากกรณีที่มีผู้ออกมาการเเสดงความเห็น เกี่ยวกับคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องครั้งที่2ของ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกอัยการยื่นฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 ม.116 และข้อหาอื่น มีเเต่ลายเซ็นต์เเต่ไม่มีการพิมพ์ชื่อตัวบรรจงผู้พิพากษาที่มีคำสั่งไว้นั้น

เรื่องนี้มีหนังสือ กระทรวงยุติธรรมที่ ยธ.0503/ว 148 นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ ปลัดยุติธรรม ในขณะนั้นได้มีหนังสือเวียนถึงผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537

เรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลฎีกา

Advertisement

โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงยุติธรรมที่ ยธ 0503/ว34ลงวันที่ 11 มีนาคม 2537 โดยเเนบสำเนาแบบคำสั่งคำร้องขอปล่อยปล่อยชั่วคราวของศาลฎีกา

ความว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งเกี่ยวกับคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวในชั้นฎีกาโดยทางโทรสาร พ.ศ.2537 เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวในชั้นฎีกาทางโทรสารซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การดำเนินการทำคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันความแจ้งอยู่แล้วนั้น

บัดนี้ศาลฎีกาได้เปลี่ยนแปลงแบบคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลฎีกาโดยตัดข้อความที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้การสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวดเร็วขึ้น กับกำหนดให้มีการประทับตราศาลฎีกาลงบนลายมือชื่อขององค์คณะผู้พิพากษา เพื่อตัดปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการปลอมแปลงคำสั่งของศาลฎีกาตามสำเนา คำสั่งคำร้องที่ได้แนบมาพร้อมหนังสือนี้ ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบปฏิบัติภายในดังกล่าวที่ไม่ให้การพิมพ์ชื่อตัวบรรจงผู้พิพากษามีเเต่การเซ็นชื่อนั้นมีการใช้ในเฉพาะในศาลสูงซึ่งก็คือ ศาลอุทธรณ์เเละฎีกาเพื่อเหตุผลในการรู้องค์คณะป้องกันการวิ่งคดีเป็นระเบียบที่เขียนไว้ในเชิงป้องปรามเเละมีการใช้ปฏิบัติตามระเบียบนี้มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เป็นเฉพาะกรณีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของ 4 เเกนนำของศาลอุทธรณ์ดังที่กล่าวเท่านั้น

ซึ่งคำสั่งของศาลอุทธรณ์จะเเตกต่างกับคำสั่งประกันในศาลชั้นต้น ที่คู่ความจะรู้องค์คณะอยู่แล้วเพราะมีการสืบพยาน ส่วนคำร้องก็แยกส่วนการสั่งเเล้วเเต่เวรของผู้พิพากษา ทั้งนี้ การมีคำสั่งจะเเตกต่างกับการมีคำพิพากษาที่จะต้องมีลายเซ็นต์พร้อมพิมพ์รายชื่อผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาไว้ด้วย

กรณีการไม่มีการพิมพ์รายชื่อผู้พิพากษาดังกล่าวในคำสั่งของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ใช่การไม่กล้าแสดงตัวเปิดเผยต่อสาธารณชนเนื่องจากเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เเต่เนื่องจากมีระเบียบบัญญัติไว้ให้ปฏิบัติตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image