ผลพ่วงรัฐเติมเงินใช้จ่าย ภาคผลิต-วัสดุก่อสร้าง เกี่ยวก้อยขยับราคา

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.1% กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 12 เดือน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ขยายตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงยังคงขยายตัวได้ดี ที่ 3.9% ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

นายภูสิตกล่าวต่อว่า ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการปรับสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มะนาว พริกสด กลุ่มพืชยืนต้น ได้แก่ ลำไย ผลปาล์มสด ยางพารา กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้เแก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 0.3% ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และปริมาณผลผลิตสินค้าบางรายการลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงมือยาง กลุ่มเครื่องดื่ม คือ สุรากลั่น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน คือ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ คือ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู/นอต กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คือ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง

สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี คือ เม็ดพลาสติก เนื่องจากอุปทานลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงาน ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ คือ รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ คือ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 15.1% คือ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติตามภาวะราคาในตลาดโลก ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้น 0.5% และเฉลี่ย 2 เดือน ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.2%

นายภูสิตกล่าวต่อว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 4.3% สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา โดยเดือนนี้สูงขึ้น 21% ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ตามความต้องการและราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 2% ได้แก่ บานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว

Advertisement

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น 1.6% ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 0.6% คือ ยางมะตอย หมวดกระเบื้อง สูงขึ้น 0.3% คือ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ขณะที่บางหมวดสินค้าราคาปรับลดลงเนื่องจากภาคการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา และการแข่งขันสูง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลง 2.7% คือ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 0.7% ได้แก่ กระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลง 0.5% ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลง 0.1% ได้แก่ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง ซิลิโคน ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้น 0.4% และเฉลี่ย 2 เดือน ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 4.0%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image