“11 มีนาคม” ของทุกปี ย้อนดู ไอเดียชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ถูกแชร์ซ้ำๆต่อเนื่อง นานกว่า 7 ปี

“11 มีนาคม” ของทุกปี ย้อนดู สเตตัสของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ถูกแชร์ซ้ำๆ

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ กรณีวันที่ 12 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ ร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ โดย ระบุว่า ร่างกฎฎหมายตราขึ้นไม่ถูกต้อง ขัดวินัยการเงินการคลัง พร้อมระบุว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้

คำพิพากษาดังกล่าว ดับฝันนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาลในขณะนั้น จากความฝันที่จะผลักดันให้ภายในปี 2020 ไทยจะมี รถไฟความเร็วสูงทุกภาค รถไฟฟ้าครอบคลุม มีรถไฟทางคู่ ทั่วประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ก็มีการโชว์วิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยในปี 2020 เช่นกัน

ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ได้โพสต์ข้อความ สรุป ประเด็นนโยบายที่รัฐบาลเตรียมผลักดันจากการใช้เงิน 2 ล้านล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าโครงการดังกล่าว ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ในทุกวัรที่ 11 มีนาคม ก็จะมีการระลึกถึงความเห็นดังกล่าว พร้อมกับแชร์สเตตัสของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซ้ำ นับถึงวันนี้ นับเป็นเวลามากกว่า 7 ปี โพสต์ของนายชัชชาติ ถูกกดไลค์ 6.3 หมื่นครั้ง คอมเมนต์กว่า 6 พันข้อความ แชร์ต่อ 3.5 หมื่นครั้ง

Advertisement

สำหรับโครงการของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เล่ารายระเอียดไว้ดังนี้

สร้างอนาคตไทย 2020 พลิกโฉมประเทศอย่างไร

ผมขออธิบายรายละเอียดโครงการต่างๆในแต่ละยุทธศาสตร์ที่ทางกระทรวงคมนาคม เตรียมไว้ซึ่งมีดังนี้ครับ

Advertisement

– รถไฟความเร็วสูง 783,553 ล้านบาท คิดเป็น 39.2%
– รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท คิดเป็น 22.8%
– ถนนทางหลวง 241,080 ล้านบาท คิดเป็น 12.1%
– ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท คิดเป็น 1.7%
– สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท คิดเป็น 0.7%
– ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท คิดเป็น 1.5%
– ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.6%
– ปรับปรุงระบบรถไฟ (เพิ่มเครื่องกั้น ซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย) 23,236 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%
– รถไฟทางคู่ และทางคู่เส้นทางใหม่ 383,891 ล้านบาท คิดเป็น 19.2%
– ค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ความผันผวนราคาวัสดุ การติดตามและประเมินผล) 21,050 ล้านบาท คิดเป็น 1.0%

จะเห็นได้ว่า โครงการใน พ.ร.บ.สร้างอนาคตประเทศนี้ ไม่ได้มีแต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยกระจายอยู่ในทุกๆด้าน และ อยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ของประเทศ

โครงการเหล่านี้ ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ แต่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) หัวข้อ 5.3.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ การปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งในเมือง และ เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ทั้งในส่วนของ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในกทมและปริมณฑล โครงการท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน และ ฝั่งอ่าวไทย การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งการเสนอโครงการต่างๆใน พ.ร.บ.นี้ เป็นการปฏิบัติตามนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่ได้แถลงเป็นพันธสัญญากับรัฐสภา อย่างครบถ้วน

สำหรับสิ่งที่จะได้จากโครงการนี้ ที่ทางรัฐบาลคาดหวังไว้คือ

1. ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากปัจจุบัน (ที่ 15.2%) ไม่น้อยกว่า 2%
2. สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ลดลงจาก 59% เหลือ 40%
3. ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 39 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และขบวนรถโดยสาร เพิ่มขึ้นจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม.
4. สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5%
5. สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 18%
6. ความสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี
7. สัดส่วนการเดินทางโดยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 30%
8. ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 5%
9. ปริมาณผู้โดยสารรถไฟ เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/เที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านคน/เที่ยว/ปี
10. ลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม. ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กม. รอบกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง

หากเมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2556 นายชัชชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในขณะที่ตนนั้นกำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในวันนั้น นายชัชชาติ กำลังจะอภิปรายพ.ร.บ.สร้างอนาคตไทย ในสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ที่จะนำเงินมาสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยกระจายอยู่ในทุกๆ ด้าน และอยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยตอนหนึ่งที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร นายชัชชาติได้ระบุว่า

“พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่กู้ทีเดียวทั้งหมด แต่ทยอยใช้ในระยะเวลา 7 ปี ในสัดส่วนที่เหมาะสม และการคมนาคมต้องทำในภาพรวม รถไฟทำทีละท่อนไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ส่วนเรื่องการสร้างหนี้ เราต้องพิจารณาเรื่องมิติของเวลาด้วย การที่เราไม่ทำมา 20 ปี แล้วมาทำตอนนี้ อันนี้คือการที่คนในอดีตมาสร้างหนี้มาให้เราหรือเปล่า?

ในปี 2536 เราอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ เวลานั้นใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท มาวันนี้เราต้องใช้เงิน 400,000 ล้านบาท และถ้าเราไม่ทำวันนี้ นักเรียนที่มานั่งฟังในสภาที่ต้องทำในอนาคต อาจจะต้องจ่าย 2 ล้านล้านแล้วทำได้แค่รถไฟทางคู่ก็ได้

“เวลามีมูลค่า”

โดยในปัจจุบัน นายชัชชาติยังคงมีบทบาททางการเมืองจากการประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลังเพิ่งลาออกจากการทำงานกับพรรคเพื่อไทย โดยลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเตียมรับการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image