“กระบวนท่ากบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น” (จบ) โดย เกษียร เตชะพีระ

"กระบวนท่ากบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น" (จบ)

“กระบวนท่ากบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น” (จบ)

ความเรียงเรื่อง “ปริศนาเหลืองแดง” ถือเป็นความพยายามแบบกบกระโดดครั้งสุดท้ายของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ที่เสนอให้มองความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันแหวกออกไปจาก “กะลา” เรื่องชนชั้นและประชาธิปไตยกระแสหลักดังที่เคยเป็นมา แต่หันไปเน้นเหตุปัจจัยที่สังคมการเมืองไทยมองข้ามและไม่เอ่ยถึงกันไปแทน

โดยครูเบ็นเปิดฉากความเรียงดังกล่าวด้วยเรื่องเล่าจูงใจยั่วให้คิดอันมีเสน่ห์ดึงดูดยิ่งว่า :

ตอนเป็นเด็ก ผมทึ่งเชอร์ล็อกโฮมส์มาก (ตัวเอกในนิยายสืบสวนสอบสวนคลาสสิคของอังกฤษ-ผู้เขียน) แน่ละเขาติดยาซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นตกใจ แต่เขาก็ฉลาดยิ่งเหมือนกัน ผมประทับตราตรึงใจกับสิ่งที่เขาพูดกับหมอวอตสันซึ่งเป็นคนค่อนข้างหัวทึ่มว่า : “เวลาคุณค้นหาคำเฉลยต่อปัญหาหนึ่งๆ อย่าไปมองสิ่งที่คุณเห็นได้ แต่จงมองสิ่งที่คุณไม่เห็น” เมื่อผมกลายมาเป็นนักวิชาการและครูสอนหนังสือ สิ่งแรกที่ผมบอกนักศึกษาก็คือ : “จงมองสิ่งที่อยู่ต่อหน้าคุณ แต่คิดถึงสิ่งที่ขาดหายไป” แล้วเรื่องสนุกยิ่งบางอย่างก็จะเริ่มเกิดขึ้น ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจการเมืองในประเทศไทยระหว่างพวกเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองซึ่งดำเนินต่อกันมาถึงสิบห้าปีแล้ว และนับวันยิ่งร้อนแรงและรุนแรงขึ้นทุกที มีทั้งการรณรงค์มวลชนขนานใหญ่และคำปราศรัยอันเผ็ดร้อนนั้น ผมสังเกตเห็นว่ามีบางอย่างขาดหายไป…

และสิ่งที่ครูเห็นว่าขาดหายไปอันท่านสันนิษฐานว่าเป็นแม่กุญแจไขความเข้าใจปริศนาเรื่องนี้ก็ได้แก่ ความเป็นเจ๊กต่างกลุ่มสำเนียงภาษาของบรรดาแก๊งคณาธิปไตยที่ทำสงครามแย่งชิงอำนาจนำทางการเมืองกันอยู่นั่นเอง!

Advertisement

แต่กระนั้นก็ตาม ผมยังเห็นว่ากระบวนท่ากบกระโดดล่าสุดในยามโพล้เพล้ของครูเบ็นเข้าไปในเมืองลับแลตกสำรวจก็ยังมีช่องโหว่วิ่นแหว่งจำนวนหนึ่ง

กล่าวคือ :

ประการแรกสุดและชัดเจนที่สุด ครูเบ็นไม่ได้เอ่ยถึงและเชื่อมโยงภาคอีสานเข้ากับกลุ่มเจ๊กสำเนียงภาษาใดที่ครอบงำเป็นใหญ่ในท้องถิ่นอย่างเฉพาะเจาะจงเลย

Advertisement

ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ อีสานเป็นภาคที่มีสัดส่วนประชากรมากที่สุด (ราวหนึ่งในสามของทั้งประเทศ)

มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทเขตเลือกตั้งมากที่สุด (126 คนจากจำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งสิ้น 375 คนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2554)

และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนชาติพันธุ์ลาวและเขมร

คำถามคาใจที่ครูเบ็นยังไม่ได้อธิบายด้วยปัจจัยสงครามเจ๊กก็คือทำไมอีสานจึง “แดง” เถือกนักเล่าในความขัดแย้งแดงเหลือง?

ประการที่สอง ลูกเจ๊กรุ่นปัจจุบันไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มสำเนียงภาษาใดส่วนใหญ่พากันลืมสำเนียงภาษาดั้งเดิมของกลุ่มตัวไปแล้วเพราะไม่ค่อยได้ใช้สม่ำเสมอ

ปกติพวกเขาพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน และถ้าเรียนหนังสือจีนก็จะศึกษาภาษาจีนกลาง (หรือนัยหนึ่งแมนดารินอันเป็นภาษาจีนสากลโลกาภิวัตน์) แทนที่จะเรียนสำเนียงภาษาจีนท้องถิ่นอื่นใดเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเพื่อฟื้นฟูความเป็นจีนหรือเชื่อมต่อใหม่เข้ากับรากเหง้าทางภาษา/วัฒนธรรมของตนสำหรับทำธุรกิจการงานหรือสนองความสนใจใคร่รู้ส่วนตัว

และเนื่องจากปกติแล้วพวกเขาพูด ด่าทอและฝันเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ในภาษาแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะหรือไหหลำ ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลใดๆ ระหว่างมรดกสำเนียงภาษาเจ๊กของพวกเขากับพฤติกรรมทางการเมืองย่อมจะต้องเกิดขึ้นโดยไร้สำนึก และผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ถูกกำหนดขึ้นในทางประวัติศาสตร์ หากมิใช่ผ่านอัตวิสัยทางวัฒนธรรมที่ได้มาจากการเรียนรู้โดยสำนึก

นั่นหมายความว่าถึงแม้พวกเขาจะเข้าแก่งแย่งช่วงชิงแบบคณาธิปไตยกับเจ๊กด้วยกันที่สังกัดต่างกลุ่มสำเนียงภาษาตามสภาพเงื่อนไขที่กำหนดมาโดยโครงสร้างสังคมจริง แต่พวกเขาก็ทำเช่นนั้นด้วยความรู้สำนึกในฐานะหัวหน้าหรือสมาชิกคณาธิปไตยแก๊งก๊วนต่างๆ หากไม่ใช่ในฐานะเจ๊กแต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, แคะ, หรือไหหลำ

ประการที่สาม ก็แล้วจะเอาอย่างไรกับบรรดาไพร่พลธรรมดาสามัญชนชาวเหลืองกับแดงหลายหมื่นหลายแสนคนที่เผอิญไม่ได้เป็นเจ๊ก แต่เป็นลาว, ไทย, เขมร, ส่วย, คนเมือง, ฝรั่ง, ลูกครึ่งลูกผสม ฯลฯ เล่า?

จะให้เราตีความและประเมินค่าความหมายทางอัตวิสัยในเชิงชนชั้นอุดมการณ์ทางการเมือง ศีลธรรมและศักดิ์ศรีส่วนบุคคลที่พวกเขาทุ่มเทมอบหมายให้แก่การต่อสู้ของตน ซึ่งพวกเขาใช้มันเป็นกรอบไปทำความเข้าใจและเข้าร่วมการต่อสู้ที่ผ่านมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของตัวเองว่าอย่างไร?

จริงอยู่ว่าท้ายที่สุดแล้วนี่ไม่ใช่หลักประกันว่าความหมายทางอัตวิสัยของพวกเขาจะชนะและได้ขึ้นครองกระแสหลัก และพวกเขาอาจลงเอยเป็นแค่เบี้ยหลงผิดของบรรดาแก๊งคณาธิปไตยสีใดสีหนึ่งก็เป็นได้

ทว่า แทนที่จะปิดตายความหมายทางเลือกของพวกเขาด้วยการประกาศิตไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้แบบที่ครูเบ็นทำ ผมใคร่ขอออกนอกครู โดยเปิดปลายการแก่งแย่งช่วงชิงความหมายของการต่อสู้ขัดแย้งแบบไม่เท่าเทียมกันรอบนี้ระหว่าง [การเมืองชาติพันธุ์แบบคณาธิปไตย] กับ [การเมืองชนชั้นแบบประชาธิปไตย] เอาไว้ ให้เราไปรอดูผลลัพธ์บั้นปลายกันในอนาคตมากกว่า

หากจะให้สรุปความเห็นต่างนอกครูในเรื่องนี้ของผม ผมใคร่ขอลองเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องหนึ่งให้ฟังดูบ้าง

สิบกว่าปีก่อน ผมพาเมียและลูกสาวที่ยังเล็กไปดูหนังดังเรื่อง “คนเห็นผี” (The Eye ตอนแรกสุด ลงโรงปี พ.ศ.2545) ของสองพี่น้องตระกูลแปงผู้กำกับฯ และเขียนบทชาวฮ่องกงชื่อดัง

เขาทำหนังได้สนุกตื่นเต้นน่ากลัวดี กล่าวคือ ทุกครั้งก่อนที่ “ผี” จะปรากฏตัวออกมาให้นางเอกในเรื่องที่มีตาพิเศษ “เห็น” ก็จะมีเสียงเพลงประกอบหนังกระหึ่มเร้าชวนขนลุกสยองใจบอกกล่าวเป็นสัญญาณนำมาล่วงหน้า ให้ผู้ชมกลัวผีทั้งหลายพอได้ตั้งตัวเตรียมใจ

วิธีที่ลูกสาวของผมเตรียมตัว “เห็นผี” บนจอก็คือ ทันทีที่ทำนองเพลงสัญญาณเปิดตัวผีดังขึ้น เธอก็จะเอามือปิดหน้า แต่ความที่ใจหนึ่งกลัว แต่อีกใจก็อยากดู จึงแง้มนิ้วออกเป็นช่องเล็กๆ พอให้ตามองลอดออกมาเหลือบชำเลืองดูผีบนจอได้รางๆ โดยพร้อมที่จะขยับนิ้วงับปิดทันทีที่ผีโผล่

พลางถามผมที่นั่งอยู่ติดกันเบาๆ เป็นระยะว่า :

“ป่าป๊า ผีมายัง?” “ป่าป๊า ผีไปยัง?”

ซึ่งผมก็จะตอบลูกประสาซื่อว่า :

“ป่าป๊าก็ไม่รู้เหมือนกัน ป่าป๊าถอดแว่นดูหนังอยู่”

ทำไงได้ล่ะครับ ก็ผมกลัวผีเหมือนกันกับลูกน่ะ แหะๆ

ต่างจากเมียผม เพราะขณะที่ผมกับลูกต่างปิดหน้าปิดตามั่ง ถอดแว่นมั่ง แอบดูผีโผล่บนจอด้วยใจระทึกอยู่นั้น เธอมองไม่เห็นผีเอาเลย เพราะม่อยหลับตลอดเรื่อง เมื่อตื่นมาตอนหนังจบ เธออธิบายว่าที่หลับเพราะแอร์ในโรงมันเย็นดี!

นิทานเรื่องนี้เตือนใจว่าการไม่เห็นผี ไม่ได้แปลว่าผีจะต้องมีจริงเสมอไป ไม่ใช่หรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image