‘รบ.’ ชวนร่วมประกวด ผ้าลายพระราชทาน ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ นายกฯ แนะเพิ่มตลาดออนไลน์

‘รบ.’ ชวนร่วมประกวด ผ้าลายพระราชทาน ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ นายกฯ แนะเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.)และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อประชาสัมพันธ์การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ภายใต้พระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้คณะรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยให้มีชีวิต สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย โดยก่อนเริ่มการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้น้อมนำสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และได้มีการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 รณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดินกับจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติและกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การรณรงค์กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าทอ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจะก่อให้เกิดกระจายรายได้ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดที่ร่วมรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพและผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ถูกใจของประชาชน โดยผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาจากท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าทอมือของกลุ่มอาชีพจากทั่วทุกภูมิภาคที่ได้นำมาจัดนิทรรศการในวันนี้ และขอเชิญชวนคนไทยทุกท่านร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ด้วยการนำลายพระราชทานมาประยุกต์บนผืนผ้าให้เกิดความประณีต รักษาอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นไว้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ให้คำแนะนำว่า เราควรมีการพัฒนารูปแบบผืนผ้าให้มีความหลากหลาย ทันสมัย นำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมอาชีพ พร้อมเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ช่วยผลักดันให้ความต้องการใช้ผ้าไทยของพี่น้องประชาชน มีเพิ่มมากขึ้น สร้างมูลค่า เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความเข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสู่การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้เป็นที่นิยมสู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส และได้พระราชทานแบบลายผ้า”ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พี่น้องประชาชน เพื่อเป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้าและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น ชุดถ้วยกาแฟ ศิลาดล ผ้าคลุมฮิญาบ เป็นต้น จากการรับมอบลายผ้าพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด มีการนำลายผ้า ไปต่อยอดจำนวน 1,042 กลุ่ม จำนวนสมาชิกกลุ่ม 10,168 คน มียอดจำหน่าย 6,856,740 บาท และยอดสั่งจอง จำนวน 303,000 บาท มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 8,511,653,145 บาท (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) และปัจจุบันเรามีศูนย์กลางนครชัยบุรินทร์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรวบรวมเส้นไหมของดีและมีคุณภาพ ร่วมกับกลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ในการขับเคลื่อนกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ ที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมไว้ ณ ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จากผลสำเร็จดังกล่าว กรมการพัฒนาชุมชน คาดหวังว่าเป็นโอกาสที่ดีแสดงให้ชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ร่วมสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยโดยมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ทุกคนสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน นับเป็นการสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย และทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่ มาพัฒนาเป็นอาชีพก่อให้เกิดรายได้แก่ราษฎรและให้สตรีในชนบทมีรายได้สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว รวมทั้งเป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ท่านในการส่งเสริมศิลปาชีพ โดยเฉพาะผ้าไทย ดังจะเห็นจากการทรงงานหนัก พระราชทานแบบลายผ้าขอเจ้าสิริวัณณวรีฯ ด้วยมีพระประสงค์ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นเมืองให้เป็นที่รู้จัก และสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายได้มากขึ้น สภาสตรีแห่งชาติฯ จะร่วมขับเคลื่อนด้วยการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพื่อให้มั่นใจว่าผ้าไทยจะอยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเรื่อง การอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จัก และการประกวดลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ นี้ถือเป็นการ kick off ในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอด โดยการส่งเสริมศิลปินคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการทำงานทักทอผ้า ต้องไม่ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามกติกาที่ได้วางไว้ สุนทรียศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ส่งต่อบรรพบุรุษดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนารูปแบบความต้องการในยุคปัจจุบัน เพื่อต้องการยกระดับ คุณภาพลายผ้าไทย เส้นใย และสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่อง ผ้า โดยไม่จำกัดอายุ โดยการประกวดครั้งนี้ แบ่งเป็น 15 ประเภท ตามเทคนิคเอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้นๆ แบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับภูมิภาค ในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2564 และระดับประเทศ ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2564 ระดับภาค กำหนดพื้นที่ดำเนินการในระดับภาค 4 ภาค 4 จุด ประกอบด้วย

-ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2564
-ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2564
-ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2564
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2564
โดยนำผ้าที่ได้รับการเข้ารอบในระดับภูมิภาคสู่การประกวดในระดับประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพของผ้าไทยต่อไป ซึ่งได้มีการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทานแยกตามชนิด คัดเลือก The Best of Best รางวัลเดียวจาก 15 ประเภท คัดเลือก The Best โดยนำที่ 1 ของ 15 ประเภท มาเรียงลำดับที่ 1 – 3 และคัดเลือก Top 10 ของ 15 ประเภท เป็นรางวัลชมเชย อย่างไรก็ตาม ในการประกวดรอบสุดท้ายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พระองค์ท่านจะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินในระดับประเทศด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งรางวัลพิเศษ the best of the best ในการนำผ้าที่ชนะเลิศไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ ใส่ไปงาน OTOP Midyear 2021 ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประกวดที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินต่อไป

Advertisement

“ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่ เป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชน รวมถึงปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล พร้อมดึงรายได้สู่ชุมชนอันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดฯ ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือทาง Facebook กรมการพัฒนาชุมชน หรือติดต่อเบอร์ 02 -141- 6179 รวมถึงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั่วประเทศ” อธิบดี พช.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image