ศาลยกคำร้อง นักข่าวส่งทนายยื่นฟ้อง ตร. ขอศาลคุ้มครองสื่อ-ผู้ชุมนุม

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้สื่อข่าวสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากกรณีได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนยางจากเหตุการณ์สลายชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โจทก์ได้ยื่นคำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง รวม 4 ข้อ สรุปได้ว่า 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยดำเนินการปิดกั้นทางสัญจรหรือสถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหีบเพลง หรือวัสดุอื่นใดในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยปฏิบัติการสลายการชุมนุม ห้ามข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน ห้ามจำกัดพื้นที่หรือกีดกันสื่อมวลชน 3.ให้จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าพนักงานตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อลงโทษทางวินัย และห้ามมิให้ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีกจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงพฤติกรรม 4.ให้จำเลยร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนโจทก์

น.ส.จันทร์จิรา เปิดเผยว่าโจทก์เป็นหนึ่งในนักข่าวที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน ถ้าตร.ไม่กำชับสั่งการให้ปฏิบัติต่อนักข่าวและผู้ชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ความรุนแรงก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ไม่มีการแยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมและนักข่าว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองผู้สื่อข่าวให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ถูกผลักดัน และคุ้มครองผู้ชุมนุม เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางยิงโดยไม่แยกแยะ นักข่าวมีโอกาสได้รับอันตรายด้วย ขอให้ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง ดำเนินการโดยเฉพาะกับผู้ก่อความวุ่นวาย คุ้มครองเสรีภาพของผู้อื่น

น.ส.จันทร์จิรา ระบุถึงเหตุการณ์ขณะนำตัวผู้สื่อข่าวไปโรงพยาบาลว่าไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้ เพราะถูกปิดกั้นเส้นทาง ทำให้ต้องไปโรงพยาบาลอื่น จึงขอให้ตำรวจไม่ปิดกั้นเส้นทางสัญจรในการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่สำคัญอื่น สำหรับพยานที่จะนำเข้าไต่สวนนั้น คือโจทก์และผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เห็นโจทก์ถูกยิง ขณะนี้ยังไม่เรียกค่าเสียหาย ต้องการให้มีการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและการชุมนุม เนื่องจากจะมีการชุมนุมในเย็นวันนี้ (24 มี.ค.) ขอให้ศาลไต่สวนคุ้มครอง คาดว่าน่าจะมีคำสั่งในวันนี้

Advertisement

ภายหลังยื่นฟ้องศาลเเพ่งมีคำสั่ง เวลา 18.50 น.ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องดังนี้

(1) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปิดกั้นทางสัญจรหรือสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ลวดหีบเพลงรถยนต์รั้วเหล็กหรือวัสดุเครื่องมืออื่นใดในทำนองเดียวกันในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม

(2) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุมห้ามใช้แก๊สน้ำตาหรือสารเคมีห้ามฉีดน้ำและใช้กระสุนยางในการควบคุมผู้ชุมนุมห้ามข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงกับโจทก์และสื่อมวลชนอื่นห้าม จำกัด พื้นที่หรือกีดกันโจทก์และสื่อมวลชนอื่นออกจากพื้นที่ที่สื่อมวลชนกำลังปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนห้าม จำกัด เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนหรือเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ทุกครั้งที่มีการชุมนุมและ

Advertisement

(3) ให้จำเลยทั้งสองตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งระดับผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่สั่งการและในระดับปฏิบัติเพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีกจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชนรวมทั้งก่ออันตรายแก่เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

พิเคราะห์แล้วสำหรับคำขอท้ายฟ้องข้อ1เเละ2เห็นว่าแม้โจทก์ฟ้องคดีโดยบรรยายฟ้องถึงเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20มี.ค. 64ก็ตาม แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งข้อ1,2 กลับเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ 1 กระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ในเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกครั้งที่จะมีการชุมนุมซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์กับที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 20 มี.ค.64

กรณีจึงเป็นการขอให้บังคับเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตทั้งสิ้นศาลจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องทั้งสองข้อนี้ได้

สำหรับคำขอท้ายฟ้องข้อ (3) เห็นว่าการตั้งกรรมสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะปรับปรุงพฤติกรรมเป็นกระบวนการทางวินัยซึ่งเป็นอำนาจบริหารงานบุคคลภายในหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายศาลจึงยังไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้งสองตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ข้อ(3) พิพากษายกฟ้อง

โดยน.ส.จันทร์จิรา กล่าวว่าหลังจากนี้จะไปปรึกษากับโจทก์เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนคดีอาญาต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image