ยอดจัดเก็บรายได้รัฐ5 เดือนฮวบ ติดลบ1แสนล้าน

ยอดจัดเก็บรายได้รัฐ5 เดือนฮวบ ติดลบ1แสนล้าน

เมื่อวันที่ 1 เมษายน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ที่ต่ำกว่าประมาณการนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาหรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้รายได้ภาษีบางส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการย้ายไปชำระในเดือนมีนาคม 2564 แทน โดยเฉพาะรายได้ของกรมสรรพากร

น.ส.กุลยา กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 -กุมภาพันธ์2564) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 926,770 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,406,827 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 386,810 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 516,229ล้านบาท

รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564) จัดเก็บได้ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือ 14.7% โดยยอดจัดเก็บรายได้ติดลบทุกรายการ ทั้งจาก 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 868,556 ล้านบาท ลดลง 112,639 ล้านบาท จากปีก่อน และต่ำกว่าเป้าหมาย 93,510 ล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ปีนี้คาดว่าจะติดลบ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวลว่าจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณ และเป็นไปได้ว่าอาจต้องมีการกู้เพิ่มเติมมาใช้ปิดหีบด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image