การคุ้มกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา โดย นายวีระชัย คล้ายทอง อดีตอัยการอาวุโส

การคุ้มกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา โดย นายวีระชัย คล้ายทอง อดีตอัยการอาวุโส

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีชุมนุมของ กปปส. ให้ลงโทษจำคุกจำเลยหลายคนซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยลงโทษจำคุก นายชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี นายอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน นายถาวร เสนเนียม 5 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน ทั้งนี้ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล จุลใส นายอิสระ สมชัย และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นเวลา 5 ปี

กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ราย นายชุมพล นายอิสระ และนายณัฏฐพล ที่ศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นที่ชัดแจ้งว่าขาดจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2564 กรณีให้นายเทพไท เสนพงษ์ พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

ต่อมา กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของแกนนำกปปส. ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเช่นนี้ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หลังจากที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตนายนวัธ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา นายนวัธ จึงเป็นบุคคลถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) และสิ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

Advertisement

จากการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีนายนวัธ หากจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร แล้ว นักวิชาการ อัยการ ผู้พิพากษา และตุลาการทั้งหลายมีความเห็นแตกต่างกันออกเป็นสองแนวทาง

แนวทางแรก มีความเห็นว่า กรณีที่นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้ลงโทษจำคุกและถูกขุมขังไว้ ตั้งแต่วันที่ 24 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างรอการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นกรณีต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) เช่นเดียวกับ นายนวัธ แล้ว จึงส่งผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับกรณีของนายนวัธ ความเห็นในแนวทางนี้จะพิจารณาข้อเท็จจริงจากการถูกคุมขัง โดยไม่ได้พิจารณาจากบริบทด้านอื่นๆ ประกอบ จึงเป็นการตีความกฎหมายอย่างแคบซึ่งไม่เป็นคุณกับจำเลย

แนวทางที่สอง มีความเห็นว่า แม้การถูกคุมขังจะเกิดขึ้นแล้ว แต่นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ยังไม่พ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้

Advertisement

1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 25บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้” เมื่อพิจารณาประกอบ มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” กอปรกับวรรคสาม ได้บัญญัติว่า “การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” กรณี นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 จึงต้องถือเป็นเพียงกระบวนการควบคุมตัวไว้ระหว่างรอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น มิอาจถือได้ว่า เป็นการถูกนำตัวไปคุมขังเพื่อบังคับโทษทางอาญา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา98 (6) แต่อย่างใด

2. รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร นั้น ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุคคลทั้งสองมิได้มีคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว

ดังนั้น ที่ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและคุมขังโดยหมายของศาลที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การที่ กกต.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของบุคคลทั้งสอง โดยอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) จึงมิอาจต้องด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเพราะเหตุที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกไว้ 2 กรณีเท่านั้น คือ กรณีตามมาตรา 101(6) ที่ยึดโยงกับมาตรา 98 (6) ซึ่งบัญญัติว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” และ กรณีตามมาตรา 101(13) บัญญัติว่า “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ” จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์กำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) มีเจตนารมณ์กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในเชิงป้องกัน ไม่ให้ผู้สมัครปกปิดคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98(6) ไว้ หากปรากฏพบข้อเท็จจริงอันเป็นลักษณะต้องห้ามในภายหลังการสมัครรับเลือกตั้ง ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมสิ้นสุดลง

ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 101(13) นั้น มีเจตนารมณ์ห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมลทินมัวหมองที่มีสภาพร้ายแรงจากการที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแม้จะมีการรอการลงโทษไว้ก็ตาม หากพิจารณาถึงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญให้ตัวแทนแห่งตนสามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวนานตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร การตีความให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะถูกดำเนินคดีทางอาญา จึงควรต้องตีความอย่างแคบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

เมื่อคำพิพากษาของศาลอาญายังไม่ถึงที่สุด จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่อาจถือได้ว่านายพุทธิพงษ์ และนายถาวร มีมลทินมัวหมองต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อสันนิษฐานของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น การตีความกรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ที่ถูกคุมขังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แล้วต้องพ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการตีความให้การถูกคุมขังชั่วคราวมีความร้ายแรงยิ่งกว่าคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 (กรณีนายนวัธ) ที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล จึงแตกต่างกับกรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ที่ถูกคุมขังอยู่ 2 วัน เพื่อรอการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและต่อมาศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หากต้องตีความจากเหตุที่แตกต่างกันแต่เกิดผลอย่างเดียวกัน ก็ทำให้การใช้กฎหมายเกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม

4. รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุม” ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้มีเจตนารมณ์กำหนดความสัมพันธ์ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ และเป็นบทบัญญัติที่มุ่งต่อการคุ้มครองสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีความมั่นคง ไม่ต้องเกรงกลัวต่อการที่ตนได้ถูกดำเนินคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการต่อรองเอาผลทางคดีแลกกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้

จึงมีเจตนารมณ์ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก การจะคุมขัง นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ระหว่างสมัยประชุมจะได้รับการคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคแรก ได้บัญญัติว่า “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด” นั้น ย่อมมีความหมายถึงว่า ส.ส. ไม่อาจถูกคุมขังได้ เพราะคำว่า “คุมขัง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) หมายถึง คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก

ฉะนั้น นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร จึงไม่อาจถูกคุมขังในระหว่างสมัยประชุมได้

5. การนัดฟังคำพิพากษา ศาลอาญาได้ทราบผลของคำพิพากษาอยู่ก่อนแล้ว ย่อมคาดหมายได้ว่า การอ่านคำพิพากษาต้องกระทบสิทธิและเสรีภาพของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลอาญาควรเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปจนพ้นสมัยประชุม แต่ศาลอาญากลับอ่านคำพิพากษาตามนัด ส่งผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องถูกคุมขังในวันที่ 24 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้บุคคลทั้งสองไม่สามารถเข้าประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา (1) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) และ (2) ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ… ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ การคุมขังจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การคุมขังดังกล่าวแม้จะได้เกิดขึ้นจริง จึงไม่มีผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image