ค้านใช้ ‘หน.สถานศึกษา’ แทน ‘ผอ.’ องค์กรครูโอดลดศักดิ์ศรี-สถานะทางสังคม

ค้านใช้ ‘หน.สถานศึกษา’ แทน ‘ผอ.’ องค์กรครูโอดลดศักดิ์ศรี-สถานะทางสังคม สคคท.แจง ‘กม.’ ยังไม่ยุติ แนะดูข้อดีข้อเสีย

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ ว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ครูใหญ่” และไม่ใช้คำว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” แต่ในกฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่าจะเรียกเป็นชื่ออื่นก็ได้ตามประกาศ หรือข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกำหนดใหม่ว่า ให้ครูเป็น “ผู้มีฐานะอันสูงส่ง” ไม่ใช่ “วิชาชีพชั้นสูง” เพราะเป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และเปลี่ยนจาก “ใบรับรองความเป็นครู” ซึ่งถูกคัดค้าน มาเป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” นั้น ส.ค.ท.และองค์กรครู ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนคำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหัวหน้าสถานศึกษา

“ที่ผ่านมา องค์กรครูคัดค้านการเปลี่ยนชื่อเรียกมาตลอด ตั้งแต่เปลี่ยนคำเรียกเป็นครูใหญ่ เพราะถือเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดสถานะทางสังคมอย่างมาก แม้จะเปิดช่องให้เปลี่ยนคำเรียกอื่นได้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นกฎหมายแม่กำหนดให้เรียกหัวหน้าสถานศึกษา กฎหมายลูกจะต้องออกมาคล้อยตามกฏหมายแม่ จะกำหนดนิยามศัพท์ที่ให้คุณค่ามากกว่ากฎหมายแม่ไม่ได้” นายวีรบูล กล่าว
นายวีรบูลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ องค์กรครูไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้ใบอนุญาตฯ มาเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู โดยให้คงใบอนุญาตฯ ไว้ให้เหมือนวิชาชีพอื่น ถ้าใช้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู อาจเปิดช่องให้ใครก็ได้เข้ามาเป็นครู โดยไม่ต้องจบศึกษาศาสตร์/ ครุศาสตร์โดยตรง แล้วคนเหล่านี้จะมีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ผู้ปกครอง และนักเรียน ขาดความเชื่อมั่นต่อครูในอนาคต

“วันนี้ครูทั้งประเทศมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจ และตั้งธงที่จะลดคุณค่าความเป็นครูลง ส.ค.ท.และองค์กรครูจะเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะเสนอความคิดเห็นในฐานะของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฏร ถ้ารัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่รับฟังเสียงครู ครูทั่วประเทศอาจมาเรียกความเป็นธรรมถึงรัฐสภา” นายวีรบูล กล่าว

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชนและสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ตนเป็นตัวแทนของ สคคท.เข้าไปให้ความเห็นในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกับคณะกรรมการกฤษฏีกาด้วย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใจเย็นๆ แม้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว จะผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับจริง จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกับออกแบบ และแสดงความคิดเห็น เพื่อให้กฏหมายการศึกษาออกมามีประโยชน์กับเยาวชน และประเทศชาติมากที่สุด

Advertisement

“ขอให้ทุกฝ่ายศึกษาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบดังกล่าว ให้ละเอียดทุกมาตรา ว่ามีข้อดี ข้อเสีย มีผลกระทบต่อการศึกษาชาติอย่างไร และหากมีส่วนไหนที่ตะขิดตะขวงใจ สามารถแสดงความคิดเห็น และส่งข้อมูลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ เพื่อให้ ส.ส.และ สว.นำข้อมูลที่ได้มาเสนอในชั้นคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฏรได้อีกครั้ง” นายวิสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image