ให้ข้าวให้ชีวิต ‘ไก่แจ้support’ เดินหน้ามอบข้าวสาร6มูลนิธิ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

จนถึงวันนี้ประชาชนคนไทยทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว พร้อมกับการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูเหมือนสถานการณ์ภายในประเทศโดยภาพรวมค่อยๆ คลายปมที่รัดแน่นมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

กระนั้นยังคงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอยู่อีกมากมาย

โครงการ “ข้าวไก่แจ้ Support ปี 2” #kaijaesupport ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 มอบข้าวสารแก่บุคลากรทางการแพทย์ใน 10 โรงพยาบาล ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ ล่าสุด ยังคงเดินหน้ามอบข้าวสารตราไก่แจ้ให้กับอีก 6 มูลนิธิ แบ่งเบาภาระขององค์กรที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์

ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัดผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงแบรนด์ “ไก่แจ้” เปิดใจหลังเสร็จสิ้นการมอบข้าวตราไก่แจ้แก่ 6 มูลนิธิ ตามโครงการ “ข้าวไก่แจ้ Support ปี 2” เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงการจัดทำโครงการ “ข้าวไก่แจ้ Support” ว่า…

Advertisement

ข้าวตราไก่แจ้มีการทำซีเอสอาร์มาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความที่อยากทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ใน 2 ปีที่ผ่านมา จึงเปิดโครงการ “ไก่แจ้ Support” เพื่อช่วยเหลือและทำในเรื่องซีเอสอาร์ให้กับคนภายนอก โดยเริ่มขึ้นในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกๆ ในโรงพยาบาลเกิดการขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ข้าวตราไก่แจ้อยู่ในธุรกิจข้าวสารมองว่าน่าจะเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ให้กับทุกที่ จึงมอบข้าวสารให้กับ 10 โรงพยาบาล ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทุกคนนำข้าวไปหุงกิน ขณะเดียวกันเงินที่เหลือสามารถนำไปใช้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ที่ขณะนั้นกำลังขาดแคลนได้

เช่นเดียวกับการมอบข้าวสารช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือร้านอาหารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่การค้าขายลำบากมาก ลูกค้าก็น้อย เรามองว่าอย่างน้อยผู้ประกอบการที่รับมอบข้าวตราไก่แจ้ฟรีไม่ต้องเจียดเงินซื้อข้าว และยังสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบช่วยลดต้นทุนได้ ช่วยให้สถานการณ์ที่ยาก
ลำบากนั้นดีขึ้น ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน สามารถค้าขายต่อไปได้

ธีรินทร์ยืนยันว่า โครงการ “ไก่แจ้ Support” ไม่ใช่โครงการเฉพาะกิจ และจะทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครึ่งปีหลังนี้จะมีการให้ความช่วยเหลือต่อไปอีกแน่นอน แต่กำลังพิจารณาว่ากลุ่มไหนที่ยังต้องการความช่วยเหลือตรงนี้ เราจะให้ข้าวตราไก่แจ้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดภาระ และช่วยเหลือเขาให้ดีขึ้น

Advertisement

“ผมมองว่า ตรงนี้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ และมองว่าข้าวเป็นส่วนสำคัญ ข้าว 1 ถังสามารถเลี้ยงคนได้เป็นร้อยคน ฉะนั้นสิ่งที่เราให้อาจจะไม่ได้มาก แต่สามารถช่วยเหลือคนได้เยอะ ตอบโจทย์โครงการ “ไก่แจ้ Support” ที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน หรือหน่วยงานที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะอย่างไรทุกคนก็ต้องกินข้าว มันสามารถตอบโจทย์และช่วยเหลือตรงนี้ได้ เป็นสิ่งที่บริษัทสุนทรธัญทรัพย์ดีใจ”

ธีรินทร์ยังแบ่งปันประสบการณ์การบริหารจัดการกระทั่งข้าวตราไก่แจ้เป็นหนึ่งในองค์กรที่รอดพ้นจากสึนามิทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า มาจากการเรียนรู้ที่จะปรับตัวตลอดเวลา

“เราไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ มองที่ความต้องการของตลาด เราปรับตัว ปรับองค์กร ไม่ได้ปรับแค่สินค้า แต่พนักงานผู้บริหารทุกคนต้องปรับตัว มีการทำออนไลน์ เราเริ่มนโยบายนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด มองที่ประสิทธิภาพในการทำงานเป็นหลัก ฉะนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดไม่สามารถเดินทางได้ เราแทบไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อมีมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา เรามูฟเร็ว ทำให้ที่ผ่านมาสามารถเติบโต และไม่มีผลกระทบ”

ในยุคที่ผู้บริโภคหันไปจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่า “ข้าวตราไก่แจ้” กระโดดเข้าสู่การตลาดออนไลน์มาก่อนหน้านี้เช่นกัน โดยเน้นการทำประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ สร้างแบรนด์ มีการรับจ้างผลิต และเริ่มผลักดันไปสู่ตลาดนานาชาติมากขึ้นภายใต้แบรนด์ตราไก่แจ้ ส่วนใหญ่เป็นยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ ขณะที่ในส่วนของการต่อยอดนวัตกรรมก็มี เช่น การทำ “ข้าวต้มมัดแม่นภาพร้อมทาน” ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นการต่อยอดจากการขายข้าวสารข้าวเหนียว

อย่างไรก็ตาม ธีรินทร์บอกว่า ตลาดการค้าข้าวหลังมีวัคซีนโควิดน่าจะดีขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะเป็นมาตรการ
การช่วยเหลือจากภาครัฐ โค-เพย์เมนต์ เราเที่ยวด้วยกัน ธงฟ้าราคาประหยัด การเติมเงินให้กับประชาชนในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น และลงไปถึงฐานรากลงไปถึงชุมชนอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตและดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลแค่กับสินค้าข้าวสาร แต่ภาพรวมของสินค้าต่างๆ จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำหรับการมอบข้าวสารให้กับ 6 มูลนิธิในครั้งนี้ ประกอบด้วย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า มูลนิธิร่วมกตัญญู (หงี่เต็กตึ้ง) มูลนิธิดวงประทีป และ โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา หรือ บ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขากรุงเทพมหานคร ธีรินทร์ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ บอกว่า ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นมูลนิธิไหน แต่พิจารณาว่าที่ไหนที่มีความต้องการ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือ

“เราเลือกจากความต้องการในแต่ละพื้นที่ก่อน เราไม่ได้ดูว่ามูลนิธิไหน อาจจะเป็นมูลนิธิที่ไม่ค่อยมีคนไปบริจาคหรือมีความเดือดร้อน เราอยากไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ อย่างน้อยไปแบ่งเบาภาระของเขาได้”

จากผู้ใหญ่ใจดีมาฟังเสียงสะท้อนจากตัวแทนมูลนิธิทั้ง 6 แห่ง ประภา เมืองคำมูล เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิดวงประทีป รับมอบข้าวสารตราไก่แจ้แทน ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เล่าว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ชาวคลองเตย ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากการรับจ้างรายวันเป็นผู้ใช้แรงงาน ได้รับผล
กระทบตกงานเป็นจำนวนมาก เริ่มเข้ามาขอข้าวขออาหารที่มูลนิธิ ซึ่งมูลนิธิเองจากที่เคยได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา รวมทั้งผู้บริจาคจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาร่วมทำกิจกรรมในโครงการต่างๆ ก็หายไป เพราะต้องเว้นระยะห่าง และด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เราจึงติดต่อขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อบริจาคให้กับผู้ป่วยติดเตียงภายในชุมชนแออัดคลองเตยก่อน รวมทั้งช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิดวงประทีป

สำหรับข้าวตราไก่แจ้ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ ประภา บอกว่า เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมูลนิธิ “ข้าว 1 กระสอบ ถ้าหุงข้าวเลี้ยงเด็กๆ เฉพาะในศูนย์เด็กเล็กซึ่งมี 165 คน ครบ 3 มื้อ ได้ถึง 2 วัน และยังเป็นอาหารกลางวันให้กับผู้สูงอายุที่จะมาร่วมทำกิจกรรมในทุกวันพุธประมาณ 120-130 คน ได้ 1 มื้อ ดีใจและขอบคุณข้าวตราไก่แจ้ที่มอบข้าวสารให้กับทางมูลนิธิ”

ทางด้าน ทัศนีย์ รัตนะ ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขากรุงเทพมหานคร และผู้จัดการโรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา หรือบ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน บอกว่า โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทราปัจจุบันมีนักเรียน 76 คน อายุ 3-16 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กตาบอดพิการซ้อน คือเด็กตาบอดและมีความพิการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ตาบอดและมีปัญหาด้านการได้ยิน สมอง ร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นเด็กประจำ มาจากทั่วประเทศ เพราะเด็กพิการซ้ำซ้อนจะหาที่เรียนค่อนข้างยาก ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค และจากภาครัฐ โดยเด็กๆ จะได้ค่าหัวนักเรียนปีละ 31,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คนต่อปีประมาณ 1 แสนบาท

สำหรับข้าวสารที่ได้รับมอบในครั้งนี้ ผอ.ทัศนีย์บอกว่า ช่วยบรรเทาภาระในส่วนของการหุงข้าวให้กับเด็กๆ ซึ่งปกติจะรับประทานอาหารที่นี่ 3 มื้ออยู่แล้ว รวมทั้งบุคลากรที่มีประมาณ 40 คน

มูลนิธิกระจกเงา เป็นอีกองค์กรที่เข้ามารับมอบข้าวตราไก่แจ้ในครั้งนี้ วีราภรณ์ ประสบรัตนสุข หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและระดมทุน เล่าถึงภาพรวมของการทำงานของมูลนิธิว่า มีการทำงานกับหลายภาคส่วน เรามีกระบวนการอาสาสมัครดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมทางสังคม และออกแบบกิจกรรมเหล่านั้นให้สอดคล้องกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นและเอาสิ่งเหล่านั้นไปพัฒนาสังคมอีกที

ในส่วนของข้าวสารอาหารแห้งที่ได้รับบริจาคนั้นมูลนิธิจะนำไปใช้ในโครงการอาสาบ้านเยี่ยม ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ยากไร้ โดยหลักการของเรา ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยตรง แต่ดูแลผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไปเยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา เพื่อดูแลเขาให้เขารู้ว่าเขามีกัลยาณมิตรมีเพื่อนที่จะอยู่เคียงข้างกับเขา เราเปิดรับข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ยารักษาโรค รวมทั้งอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง แล้วเอาไปเยี่ยมตามบ้าน ฉะนั้นอาหารและของอุปโภคบริโภคที่ได้รับมาเราจะส่งต่อ เรามีกลุ่มคนเหล่านี้ที่รอรับการช่วยเหลือประมาณ 1,000 กว่าครอบครัวทั่วประเทศ

“เราได้รับการสนับสนุนจากข้าวตราไก่แจ้ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เราคุ้นเคยเวียนเข้าเวียนออกอยู่ในมูลนิธิเราอยู่เสมอๆ ขอขอบคุณสำหรับการส่งต่อความช่วยเหลือ ซึ่งมันจะเป็นกำลังใจต่อผู้ที่เดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ขอบคุณค่ะ”

นาวิน แสงสันต์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ บอกว่า ข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถือเป็นของบริจาคที่มีค่ามาก

มูลนิธิมี 5 ศูนย์ แต่ศูนย์ที่ผมดูแลอยู่มีคนประมาณ 50 คน ข้าวที่ได้รับมอบ 1 กระสอบสามารถเลี้ยงได้ 3 วัน เพราะเราหุงให้กับคนที่ศูนย์ฯ ครบทั้ง 3 มื้อ

“ดีใจมากที่สุด เพราะข้าวเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ขอบคุณข้าวตราไก่แจ้จริงๆ” นาวินบอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image