ทองหล่อ มาจากไหน? ย้อนที่มาชื่อซอย ย่านสุขุมวิท สู่คลัสเตอร์ใหม่โควิด

ทองหล่อ มาจากไหน? ย้อนที่มาชื่อซอย ย่านสุขุมวิท สู่คลัสเตอร์ใหม่โควิด

คลัสเตอร์ทองหล่อ ทำโควิดระลอก 3 ระบาดรอบใหม่ลามไปทั่วประเทศ

พบชื่อคนติดเชื้อรอบนี้ มีตั้งแต่คนระดับ รัฐมนตรี บิ๊กธุรกิจ บิ๊กข้าราชการ ยันชาวบ้านธรรมดาๆทั่วไป

ชื่อซ.ทองหล่อ ปรากฏขึ้นสื่อควบคู่กับข่าวโควิด ในฐานะถนนสายธุรกิจ ที่อยู่สุดหรู ศูนย์รวมวัยรุ่น เต็มไปด้วยผับ บาร์ เลานจ์ ร้านอาหาร ตลอด 2 ข้างทาง จากปากทางซอยสุขุมวิท 55 ไปอีกฟากข้ามคลองแสนแสบ ทะลุที่ถนนเพชรบุรี นี่ยังไม่นับซอยเล็กซอยน้อย สามารถเข้าเอกมัย ออกพร้อมพงษ์ได้อีกด้วย

แม้จะอยู่ในซ.สุขุมวิท 55 แต่คนติดปากเรียกซ.ทองหล่อ จนหลายคนไม่รู้ว่ามันคือชื่อเรียกของซ.สุขุมวิท 55

Advertisement
REUTERS/Jorge Silva

ถามว่า ชื่อทองหล่อ คำติดปากนี้ มาจากไหน  ? 

เว็บไซต์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้เปิดแหล่งข้อมูลที่บ่งชี้ที่มาของ “ซอยทองหล่อ” ที่ปรากฏมาถึงปัจจุบัน นั่นมีที่มา อยู่ 2 แหล่ง

แหล่งแรก มาจาก “อนุสรณ์งานศพ” ของนายทหารเรือสายคณะราษฎร กับ อีกแหล่ง เป็นข้อมูลจาก “อนุสรณ์งานศพ” เช่นกัน แต่เป็นนักธุรกิจสายอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อทองหล่อในช่วงยุคเดียวกัน

Advertisement

คำว่า “ทองหล่อ” ปรากฏในสายทหารเรือ โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร เขียนอธิบายไว้ในบทความ “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2560 ว่า อนุสรณ์งานศพสายทหารเรือมีเล่มเด่นที่ต้องอ่านคือ อนุสรณ์งานศพของ หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ในอนุสรณ์งานศพของท่านปรากฏเรื่องเล่าในช่วงชีวิตของท่าน ข้อมูลไปสิ้นสุดที่ความล้มเหลวในความพยายามก่อการ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “กบฏวังหลวง”

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งอีกส่วนคือ คำไว้อาลัยของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแทบจะไม่พบในอนุสรณ์งานศพสมาชิกรุ่นๆ เดียวกันท่านอื่นๆ (ปีนั้นท่านดำรงชีวิตในฝรั่งเศส) ย่อหน้าหนึ่งของเนื้อหาในนั้น อาจารย์ปรีดี อธิบายหลักการการทำงานของคณะราษฎร ดังนี้

“ข้าพเจ้ารู้จักอุดมคติเพื่อชาติของคุณหลวงสังวรก่อนที่รู้จักตัวท่านผู้นี้ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะระเบียบ และวินัยของคณะราษฎร์มีอยู่ว่า เฉพาะผู้รับผิดชอบในศูนย์กลางของคณะเท่านั้น จึงสามารถรู้ชื่อสมาชิกที่สำคัญของสายต่างๆ ได้

แม้กระนั้นเพื่อความปลอดภัยก็จะต้องไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัว คงปล่อยให้เป็นหน้าที่หัวหน้าสายและหัวหน้าหน่วยที่จำแนกย่อยลงไปเป็นผู้ทำความรู้จักกันตัวต่อตัวโดยเฉพาะ งานของแต่ละหน่วยจึงไม่ก้าวก่ายกัน ไม่มีสมาชิกคนใดที่จะไปสอดรู้งานของหน่วยอื่น การประสานงานอยู่ที่ศูนย์กลางจำนวนน้อยเท่านั้น สายใหญ่มีสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน คุณหลวงสังวรฯ สังกัดสายทหารเรือ ซึ่งนาวาตรีหลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นหัวหน้าสาย”

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งยังบอกเล่าเหตุการณ์ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน โดยแสดงถึงสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของหนึ่งในผู้ก่อการ เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้

“…พอตอนค่ำ 2 ทุ่ม (พูดกับน้องชายให้ช่วยดูแลทหารและนำเขาไปรวมพวกที่เรือตอนเช้ามืดด้วยแล้ว) เราก็ไปกราบพระขอสวัสดีมีชัยในห้องบิดา และกราบบิดาด้วย บิดามอบพระกริ่งให้ เรากราบท่านแล้วรับใส่กระเป๋า เข้าไปในห้องเก็บศพมารดาก้มกราบท่านแล้วใจคอเบิกบาน ออกมาสั่งเมียและจูบลูก ลงเรือจ้างนั่งใจลอยคิดอะไรมาเรื่อย รู้สึกเป็นห่วงกิจการด้านคุณกุหลาบ ทองหล่อ ผ่านทุกวัดตรงโบสถ์เรายกมือไหว้ขอพรพระ ขึ้นท่าช้างวังหน้าขึ้นรถเจ๊กมาลงเรือที่บางลำภู ระหว่างทางผ่านพระแก้วมรกตยกมือนมัสการขอพรท่าน…”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เขียนไว้ในบทความอีกว่า เมื่อกล่าวถึงหลวงสังวรฯ อีกหนึ่งคณะราษฎรที่ทำงานเคียงข้างดุจเงาตามตัว ก็คือ “ทองหล่อ (ทหาร) ขำหิรัญ” ในบทไว้อาลัยเล่มของหลวงสังวรยุทธกิจ (หลวงสังวรฯ มีศักดิ์เป็นน้าชาย) ทหาร ขำหิรัญ เขียนบทไว้อาลัยกล่าวถึงเหตุที่เข้าร่วมก่อการไว้ว่า

“คุณหลวงไปพบที่สนามฝึกทหารด้านหลังกรมทหารเรือ ปรารภถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองชวนให้ร่วมมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย พิจารณาคำชักชวนเห็นว่ามีเหตุผลข้าพเจ้าก็ปลงใจด้วย สรวงสวรรค์เป็นใจดลบันดาลให้การร้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีผลสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคให้เกิดความเสียหายอย่างใด”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ชีวิตนายทหารร่างเล็กผู้นี้ถือว่า มีสีสันและยืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ในการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือปรีดีในการหลบภัยรัฐประหาร ณ สัตหีบ จนภายหลังจากนั้น ตัวท่านเองก็ประสบมรสุมการเมืองในข้อหา “กบฏ” ตลอดช่วงยุคสมัยที่ 2 ของ จอมพล ป. แม้ล่วงเข้ายุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะท่านดำรงสถานะผู้แทนราษฎรครั้งเยือนจีน ยังโดนยัดเยียดข้อหา “คอมมิวนิสต์” จนต้องสิ้นอิสรภาพทันทีที่กลับมาเหยียบดอนเมือง!

เมื่อพ้นช่วงวิบาก ท่านได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาหลายสมัย จวบกระทั่งเข้าสู่ปัจฉิมวัย พลเรือตรี ทหารสมาทานตนเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด “…นอกจากวันธรรมสวนะ ท่านยังเจียดเวลาไปเรียนธรรมที่วัดมหาธาตุฯ อย่างสม่ำเสมอ ท่านชอบศึกษาธรรมของท่านพุทธทาส…”

และท้ายสุดได้อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” ให้กับโรงพยาบาลศิริราช จบชีวิตในวัย 81 ปี อนุสรณ์งานศพถูกจัดพิมพ์ร่วมกับผู้บริจาคร่างท่านอื่นๆ ตามธรรมเนียมของโรงพยาบาล

นามเดิมของผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินคนแรกนี้ “…ได้กลายมาเป็นชื่อ ‘ซอยทองหล่อ’ ถนนสุขุมวิท หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ เพราะย่านนี้ในสมัยสงครามเคยมีบาร์ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เขตรับผิดชอบของทหารเรือ”

ส่วนข้อมูลอีกด้าน กล่าวถึงที่มาของชื่อ “ซอยทองหล่อ” อันเป็นข้อมูลที่เล่าแตกต่างจากข้อมูลข้างต้น โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าไว้ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ The People ว่า ชื่อซอยทองหล่อมาจาก “คุณทองหล่อ ทองบุญรอด” เกิดเมื่อพ.ศ. 2439 เสียชีวิตเมื่อพ.ศ. 2515 มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทหาร ขำหิรัญ (ทองหล่อ ขำหิรัญ) ข้อมูลส่วนนี้ปรากฏในหนังสืองานศพว่า ท่านมาจัดสรรที่ดิน ทำอสังหาริมทรัพย์ จนเป็นที่รู้จักว่าชื่อทองหล่อ

ที่มาจากเว็บไซค์ศิลปวัฒนธรรม 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image