สัพเพเหระคดี : ระวัง! รถเข็นขายโรตี

คุณจำฮาเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ไทยได้ชั่วคราว แต่ครบกำหนดแล้วคุณจำฮาก็หากลับออกไปไม่ ยังคงเข็นรถขายโรตีในไทยเรื่อยไป (หรือไปเรื่อย)

เช้าจนสายจนบ่ายจนเย็น กระทั่งถึงค่ำ เข็นขายไปด้วยความขยันขันแข็งและขาแข็ง

รถเข็นขายโรตีก็หาได้ติดดวงไฟ ไม่ติดโคมไฟกันละ อยู่ได้สบายใจในไทยแลนด์แดนสไมล์

จนดึกของคืนหนึ่งของวันหนึ่ง ขายเสร็จเข็นรถไปมืดๆ กลับที่พัก รถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับตามหลังมา ไม่เห็นว่ามีรถเข็นโรตีของคุณจำฮาอยู่ข้างหน้าจึงชนท้ายเข้าอย่างจัง รถเขาเสียหาย คนขับถึงกับคอหักตายเลยทีเดียว

Advertisement

คุณจำฮาอาศัยความมืดโขยกเขยกเร้นกายหายไปไม่ช่วยเหลือ ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่

ทว่าหลบไม่พ้นหนีไม่รอด จึงถูกจับกุมได้ในเวลาต่อมา

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษคุณจำฮา ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (กระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย)

คุณจำฮาให้การรับสารภาพฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด ส่วนข้อหาอื่นปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คุณจำฮามีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ มาตรา 81 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78, 160 ยกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

อัยการโจทก์อุทธรณ์คดี

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ อีกข้อหาหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

อัยการโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คุณจำฮามีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 78, 160 หรือไม่

เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 4 (15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง กับตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” และ “พาหนะ” ไว้ โดยคำว่า “ยาน” คือ เครื่องนำไป พาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ” คือ เครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่างๆ มีรถและเรือ เป็นต้น เรียกว่า ยานพาหนะ กับกำหนดความหมายของคำว่า “ขับ” คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ

ดังนี้ จะเห็นได้ว่ารถเข็นของคุณจำฮาเป็นเพียงวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ใช้ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงไม่ใช่ “รถ” ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 78 เช่นกัน ที่ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 78, 160 ชอบแล้ว

ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

เป็นอันว่า คุณจำฮาเจอโทษเพียงอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดเท่านั้น

ส่วนความรับผิดชอบทางแพ่งถ้าผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายกับผู้ตายจะฟ้องเรียกนั้น เป็นอีกเรื่องต่างหาก

แต่ถึงแม้จะฟ้องชนะคดี การที่จะได้รับชดใช้นั้นคงเป็นอีกเรื่องเช่นกัน

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2543)

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อตำรวจที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัวชื่อสกุลและที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขับขี่หรือผู้ควบคุมสัตว์หลบหนีไป หรือไม่แสดงตัวต่อตำรวจ ณสถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่า เป็นผู้กระทำความผิด และให้ตำรวจมีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อตำรวจภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุให้ถือว่า รถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการ กระทำความผิด และให้ตกเป็นของรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image