สงกรานต์‘วิถีใหม่’คือย้อนไป‘วิถีเก่า’ นับถอยหลังจุลศักราช1383 รากษสเทวีในปีที่คนไทยไม่สาดน้ำ

และแล้วก็ถึงเวลา ‘โคราคะเทวี’ นางสงกรานต์ 63 ส่งไม้ต่อให้ ‘รากษสเทวี’ นางสงกรานต์ 64 ซึ่งยังคงเป็นอีกปีในชีวิต‘นิวนอร์มอล’

สงกรานต์ ‘วิถีใหม่’ ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปีก่อน ในห้วงเวลาที่ถูกยั่วล้อด้วยอารมณ์ขันแบบ ‘ไทยๆ’ ว่านางสงกรานต์ตัวจริงนั้นไซร้ คือ ‘โควิดเทวี’ ต่างหาก

สำหรับปีนี้ รัฐบาลโปรโมต ‘สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย’ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชมกิจกรรมรณรงค์ ทั้งการสรงน้ำพระพุทธรูป ดื่มด่ำการแสดงทางวัฒนธรรมและการสาธิตการทำชุดรดน้ำ 4 ภาค

Advertisement

“สงกรานต์วิถีใหม่ เป็นการจัดงานตามแนวทางการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เช่น งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและมีการสัมผัสใกล้ชิด งดกิจกรรมรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ งดประแป้ง งดเล่นปาร์ตี้โฟมและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และสืบสาน ส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ตามแบบแผนที่ดีงาม เช่น สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมทั้งรณรงค์เชิญชวนการแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่นหรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมกิจกรรม” รมว.วัฒนธรรมกล่าว

สรุปแบบง่ายๆ คือ สงกรานต์วิถีใหม่ ไม่มีพาเหรดรถกระบะพร้อมถังน้ำ งดเว้นปาร์ตี้โฟม ไม่สาดน้ำกันโครมๆ ไร้อีเวนต์ตามถนนสายสำคัญ ซึ่งสรุปให้ง่ายไปกว่านั้นคือ กลับคืนสู่ ‘วิถีเก่า’ ครั้งยังไม่ใช่มหกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว

Advertisement

หากไม่นับว่าต้องยึดหลัก Social Distancing หรือ Physical Distancing เพื่อรักษาระยะห่างทางร่างกาย หลีกไกลเชื้อไวรัส ก็คล้ายจะเป็นการย้อนคืนสู่สงกรานต์ยุคเก่าที่คนไทยส่วนใหญ่ในยุคร่วมสมัยไม่คุ้นเคย

พุทธศักราช 2564 คำนวณและอธิบายแบบรวบรัด ตรงกับจุลศักราช 1383 โดยจะเข้าสู่ศักราชใหม่ในวันที่ 16 เมษายนนี้

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ผู้ผลักดันเน้นย้ำความเป็น วัฒนธรรมร่วม ในอุษาคเนย์ของสงกรานต์เป็นประจำทุกปี เผยข้อมูลบ่งชี้ว่า สงกรานต์แต่เดิมนั้นเป็นเพียงกิจกรรมในวงแคบๆ ในหมู่ชนชั้นนำ อย่างในยุคอยุธยาก็ทำกันในวัดหลวงสำคัญๆ มีการทำบุญ เลี้ยงพระ ก่อพระเจดีย์ทราย ไม่ได้เป็นอีเวนต์ใหญ่โต
โอฬารแนวมหรสพปาร์ตี้ที่ขยับสู่การเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา

“สงกรานต์ เป็นประเพณี เพิ่งสร้าง ไม่นานนัก และไม่ได้สร้างคราวเดียว แต่มีลักษณะพัฒนาการนานมากกว่าจะพบว่ามีกิจกรรมพิลึกกึกก้องทั่วประเทศถึงนานาประเทศ

สงกรานต์นอกกรุงเทพฯ ราว 60 ปีที่แล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.2500 มีกิจกรรมในวงจำกัดเฉพาะในลานวัดหมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน ไม่มีกิจกรรมรวมศูนย์ที่ใดที่หนึ่งของจังหวัดหรือของอำเภอ

สงกรานต์เป็นกิจกรรมแคบๆ ในกลุ่มคนชั้นนำ ถ้าย้อนยุคกลับลึกไปถึงสมัยอยุธยา ล้วนทำในวัดหลวงสำคัญๆ ของราชอาณาจักรซึ่งมีไม่มาก เพราะเป็นของนอก รับจากอินเดีย แล้วปฏิบัติกันเองในหมู่ผู้ดีมีตระกูลเท่านั้น เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ ก่อพระทราย มวลชนคนส่วนมากสมัยอยุธยาไม่รู้จักสงกรานต์ เพราะไม่ใช่ประเพณีของคนพื้นเมือง แต่ในเวลาหน้าแล้งช่วงเดือน 5 เดียวกันนั้น ชาวบ้านทั้งมวลล้วนมีประเพณีเลี้ยงผีบรรพชนเพื่อขอฝน เตรียมทำนาในเดือนต่อๆ ไป” สุจิตต์ระบุ

สำหรับการสาดน้ำสุดมันส์ เพิ่งมีกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสนองตลาดท่องเที่ยวซึ่งได้ผลมาก ทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ก่อนหน้านั้น เป็นการ ‘ประพรม’ เบาๆ พอเป็นพิธี คล้ายคลึงสโลแกนอีเวนต์สงกรานต์ปี 64 ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ว่า ‘ริน รด พรม (ใส่หน้ากาก) ไม่สาดน้ำ’ ซึ่งเดิมประกาศจัดขึ้น
ระหว่าง 13-15 เมษายน ที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน ก่อนต้องยกเลิกเพราะโควิดระลอกใหม่ ที่เล่นหนักจัดใหญ่ก่อนเทศกาลเพียงไม่กี่วัน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีบ่งชี้ถึงประเพณีสงกรานต์โดยไม่เอื้อนเอ่ยถึงการสาดน้ำ ไม่ว่าจะเป็น โคลงทวาทศมาส สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา และ กาพย์ห่อโคลง ของเจ้าฟ้ากุ้ง ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ล่วงมาถึงยุคกรุงธนบุรี กระทั่งรัตนโกสินทร์ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เรื่องนางนพมาศ ซึ่งแต่งขึ้นในแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 พรรณนาพระราชพิธีเดือนห้า มี ‘ขึ้นปีใหม่’ แต่ไม่มีสาดน้ำ มีเพียงการ ‘รดน้ำ’ ที่ปรากฏใน นิราศเดือน ของเสมียนมี

“สาดน้ำสงกรานต์ในไทย น่าจะมีหลัง ร.3 เพราะนิราศเดือน แต่งโดยเสมีอนมี กวีแผ่นดิน ร.3 พรรณนากิจกรรมสงกรานต์เดือน 5 มีหลายอย่างต่างๆ นานา เช่น เล่นพนัน, เล่นเซ็กซ์ ฯลฯ รวมทั้งมีรดน้ำ แต่ไม่มีสาดน้ำ ถ้ามีสาดน้ำอึกทึกครึกโครมเปียกโชกทั้งสาวหนุ่ม เสมียนมีคงไม่ลืมบันทึกไว้ แต่นี่กลับไม่บันทึกเลย” สุจิตต์กล่าว

ความในนิราศเดือน เดือนห้า ของเสมียนมี มีดังนี้

โอ้ฤดูเดือนห้าน่าคิมหันต์
พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน      ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์
ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส        อภิวาทพุทธรูปในวิหาร
ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์   ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย

ที่เฒ่าแก่แม่ม่ายมิใคร่เที่ยว     สู้อดเปรี้ยวกินหวานลูกหลานหลาย
ที่กำดัดซัดสีสวยทั้งกาย       เที่ยวถวายน้ำหอมพร้อมศรัทธา
บ้างก็มีที่สวาทมาดพระสงฆ์     ต่างจำนงนึกกำดัดขัดสิกขา

บ้างฉุดมือยื้อผ้าด่ากันเปิง      ที่รู้เชิงทำแปดเก้าเป็นเจ้ามือ
เขาตัดไพ่ตายแพ้เหลือแต่ผ้า     สิ้นปัญญาบ่นพลางครางหือๆ
นั่งเสียใจเต็มทีต้องหนีมือ       ไม่สัตย์ซื่อทำไพ่ตายเขาเอง
ดูเขาเล่นเป็นฤดูไม่รู้ขาด       นุชนาฏพึ่งกะเตาะขึ้นเหมาะเหม็ง
บ้างก็หลงเลยเล่นเป็นนักเลง     ฉันนี้เกรงกลัวนักไม่รักเลย

ทั้งหนุ่มสาวฉาวฉานด้วยการเล่น    บ้างซุ่มเป็นผัวเมียกันเสียเฉย
แต่ตัวเราเปล่าไปมิได้เชย        โอ้อกเอ๋ยคิดไปแล้วใจตรม
ให้เจ็บจุกทุกข์เท่าคีรีศรี         ด้วยไม่มีคู่ชิดสนิทสนม
ทุกวันนี้ใครมีซึ่งคู่ชม          สำราญรมย์เริงจิตเป็นนิจกาล
เมื่อไรเล่าเรานี้จะมีบ้าง         จะได้ว่างเว้นทุกข์สนุกสนาน
แต่นึกตรองปองหามาช้านาน     ทอดสะพานเข้าที่ไหนไม่ได้เลย

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านก็มีประเพณีสงกรานต์เฉกเช่นเดียวกัน และเป็นที่รู้กันกว้างขวางขึ้นมากในช่วงหลัง จึงแทบไม่มีวิวาทะยื้อแย่งประเพณีสงกรานต์เหมือนที่เคย

ส่วนหลักฐานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีภาพถ่ายแพร่หลาย นักปราชญ์ไทยอย่าง เสฐียรโกเศศ อ้างถึงบันทึกของ พันโท ไซมส์ทูตอังกฤษซึ่งเดินทางไปยังกรุงอังวะ ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘ประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาล’ ว่าทูตอังกฤษได้รับเชิญไปร่วมงานวันสิ้นปีเก่าเริ่มปีใหม่ในกรุงอังวะเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2338 และร่วมเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในกรุงอังวะ โดยเป็นช่วงเวลาหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเพียง 18 ปี ตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ความว่า

‘เวลาเย็นไปถึงบ้านเจ้าเมืองอังวะ เขาเตรียมน้ำใส่ตุ่มไว้ และมีขันสำหรับจ้วงตัก พันโท ไซมส์ กับพวกมีน้ำดอกไม้เทศไปด้วยคนละขวด และเทน้ำดอกไม้เทศลงบนฝ่ามือเจ้าเมืองคนละนิด เจ้าเมืองก็เอาประพรมตามเสื้อผ้าของตน แล้วมีเด็กหญิงเล็กๆ เป็นบุตรสาวเจ้าเมือง เทน้ำดอกไม้เทศปนกับผงไม้จันทน์ลงบนฝ่ามือของเจ้าเมือง แล้วก็หยดเทบนฝ่ามือฝรั่งทุกคน เสร็จแล้วก็เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานเปียกโชกไปหมดจนเหนื่อยจึงเลิกกัน’

กลับมาที่ปี 2564 ศักราชใหม่นี้ ตรงกับปีฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) ตรีศก จุลศักราช 1383 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 40 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมราภักษาหาร โลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1383

ปีนี้ วันอาทิตย์ เป็น ธงชัย, วันจันทร์ เป็น อธิบดี, วันเสาร์ เป็น อุบาทว์, วันพุธ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันเสาร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 6 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

นี่คือสงกรานต์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกจดจารไว้อีกปี

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image