ส่องโลก สแกนเมียนมา มองไทย ในปีที่ ‘โควิด’ กับ (สถานการณ์) ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่อาจแยกกัน

ส่องโลก สแกนเมียนมา มองไทย ในปีที่ ‘โควิด’ กับ (สถานการณ์) ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่อาจแยกกัน
ภาครัฐอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินสกัดโควิดหลายครั้งในการเจรจาให้สมาชิกหมู่บ้านทะลุฟ้าแยกย้ายจากถนนพระรามที่ 5 สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล กระทั่งบุกสลายในเช้ามืดวันที่ 28 มีนาคม โดยให้เวลาเก็บของ 3 นาที

เป็นสิ่งอุบัติใหม่ของโลกใบนี้ที่ผู้คนอยากให้สูญสลายไปโดยไว สำหรับไวรัสร้ายแห่งศตวรรษอย่าง ‘โควิด-19’ ซึ่งไม่เพียงก่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บคร่าลมหายใจ หากแต่ส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ในชีวิตอย่างมากมาย แม้กระทั่งประเด็นด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง ‘วัคซีน’ การถูกเลือกปฏิบัติ มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียม คน (ไม่) เท่ากัน รวมถึงการดึงสถานการณ์แพร่ระบาดมาเป็นข้ออ้างปราบชุมนุมทางการเมือง

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากการนำเสนอในงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2563/64 ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก่อนสงกรานต์ไม่กี่วัน จะพบว่าภาพรวมของ 5 ภูมิภาค ใน 149 ประเทศ รวมทั้งระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมียนมา และไทยด้วย นอกเหนือจากประเด็นการบังคับบุคคลสูญหาย การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายความรุนแรงเกี่ยวกับเพศ และอื่นๆ ผลกระทบที่สืบเนื่องจาก ‘โควิด’ กลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

‘ล็อกดาวน์’ ทำผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงเพิ่ม มาตรการสุขภาพย้ำความ ‘ไม่เท่าเทียม’

เริ่มที่ถ้อยแถลงของ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งในตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เผยให้เห็นสถานการณ์ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ของแต่ละสังคม

Advertisement
ส่องโลก สแกนเมียนมา มองไทย ในปีที่ ‘โควิด’ กับ (สถานการณ์) ‘สิทธิมนุษยชน’  ไม่อาจแยกกัน
ในสถานการณ์โลก บุคลากรด้านสาธารณสุขคือกลุ่มแรกที่ต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลายๆ รัฐบาล

ที่น่าสนใจคือ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทยบอกว่า กลุ่มแรกที่ต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติคือ กลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลายๆ รัฐบาล ทั้งยังมีการใช้เครื่องมือออนไลน์สืบสวนโรคและใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ และยังมีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่เดิมก็เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยากลำบากอยู่แล้ว รวมไปถึงจะเห็นมาตรการทางสุขภาพหลายๆ อย่างที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างปฏิบัติต่อคนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติศาสนา

ไม่เพียงเท่านั้น การระบาดของโควิด ยังสืบเนื่องมาจนถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ กล่าวคือ ส่งผลให้ผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว สภาพการล็อกดาวน์ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้วต้องเจอความรุนแรงมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังเห็นพัฒนาการในทางบวกคือ การมีกฎหมายที่ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็กเกิดใหม่ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงการสู้คดีในหลายๆ ประเทศก็มีพัฒนาการในเชิงบวก รวมไปถึงพัฒนาการด้านการผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้งในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศไทยเองก็มีกฎหมายใหม่ที่ดูแลเรื่องการทำแท้งแล้วเช่นกันนี้

อีกหนึ่งประเด็นคือ การปราบปรามคนเห็นต่าง ซึ่งเกิดการเคลื่อนไหวการชุมนุมประท้วงมากมายในโลก ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชน และได้เห็นการปฏิบัติโดยมาตรการของรัฐที่ใช้อาวุธเกือบตลอดเวลา และได้เห็นความพยายามของรัฐในการพยายามฟ้องคดีผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ประเทศเช่นกัน

Advertisement

“แม้จะเห็นความพยายามในความร่วมมือของหลายประเทศทั่วโลกในการจัดหาวัคซีน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเข้าถึงทางสาธารณสุข แต่ก็มีมาตรการของรัฐหลายประการที่ทำให้เกิดการกักตุนมาตรการทางการแพทย์ มีหลายประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือมาตรการเหล่านี้ โดยเราตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวมาตรการความร่วมมือในระดับพหุภาคีเหล่านี้ว่าควรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น……..

ส่องโลก สแกนเมียนมา มองไทย ในปีที่ ‘โควิด’ กับ (สถานการณ์) ‘สิทธิมนุษยชน’  ไม่อาจแยกกัน
วงเสวนา ‘มองสิทธิมนุษยชนในรอบ 1 ปีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ จากซ้าย พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ประเด็นที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดในภูมิภาคนี้คือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโควิด-19 เช่นกัน เช่น มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของโควิด-19 และจะได้เห็นสื่อมวลชนและบุคคลธรรมดาถูกจับ ถูกลงโทษ เชื่อมโยงกับโรคระบาดของโควิด-19 สถานการณ์โรคระบาดมันเน้นย้ำให้เสรีภาพการแสดงออกถูกละเมิด และถูกจำกัดเข้าไปอีก ตลอดจนใช้สถานการณ์โรคระบาดมาเป็นข้ออ้างของความมั่นคงในหลายๆ ประเทศ” ฐิติรัตน์กล่าว

สิ่งเกิดใหม่กับอนาคตภูมิภาค ที่จะ ‘ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’

จากภาพรวมโลก หันมามองให้ลึกขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา และไทย ซึ่งมากมายด้วยสถานการณ์ร้อนระอุทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับการระบาดของโควิดที่กลายเป็นข้อจำกัดด้าน ‘เสรีภาพ’

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วทำให้โลกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ ในเมียนมา และในไทยก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ก้าวต่อไปในอนาคตของภูมิภาคนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นกัน

“ในเมียนมา ความขัดแย้ง อาวุธ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และกองทัพเมียนมาก็ยังมีอยู่ องค์กรด้านมนุษยธรรมก็ยังถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าช่วยเหลือ ซ้ำยังมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมก็ยังจำกัดอยู่ ทั้งยังมีบรรษัท หรือภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง ซ้ำร้าย กฎหมายที่ยังคงสร้างความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศก็ยังมีอยู่ แม้จะยังไม่มีคดีใดๆ เกิดขึ้น แต่ก็สร้างความหวาดกลัวให้ผู้เกี่ยวข้อง การที่เกิดสถานการณ์ต่างๆ มีองค์กรระหว่างประเทศที่แสดงเจตจำนงจะให้ความช่วยเหลือก็โดนปิดกั้น ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย”

ส่องโลก สแกนเมียนมา มองไทย ในปีที่ ‘โควิด’ กับ (สถานการณ์) ‘สิทธิมนุษยชน’  ไม่อาจแยกกัน
การประท้วงต้านรัฐประหารที่ย่างกุ้ง เมียนมา ท่ามกลางการระบาดของโควิด (ภาพเอเอฟพี)

 

สหราชอาณาจักรออก ‘พ.ร.บ.โควิด’ ไทยฉีดยาแรงชื่อ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’

ในงานเดียวกัน นอกจากเปิดตัวรายงานด้านสิทธิมนุษยชนฯ ยังมีวงเสวนาในหัวข้อ “มองสิทธิมนุษยชนในรอบ 1 ปีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยหนึ่งในแง่มุมน่าสนใจมาจากปากคำของ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นที่ว่า

“มีหลายประเทศที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรองรับโควิด-19 เช่นการล็อกดาวน์ ประเทศไทยเองก็มี พ.ร.บ. โรคติดต่อ ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามีอำนาจเพียงพอจะใช้ แต่รัฐบาลประกาศเหตุฉุกเฉินรอไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น ถ้าใช้กลไกกฎหมายปกติก็เพียงพอ”

ดร.พัชร์ มองว่า การใช้โควิด-19 เป็นเหตุในการใช้มาตรการฉุกเฉิน ข้อกังวลคือรัฐอาจใช้โควิด-19 เป็นข้ออ้างเพื่อละเมิดและจำกัดสิทธิผู้คน ทั้งยังมีการใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง เช่น การเก็บข้อมูลมือถือจนล่วงละเมิดไปยังพรมแดนสิทธิส่วนบุคคล หรือใช้โควิด-19 เพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง

“ในประเทศไทย ปัญหาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมี 3 ปัญหาหลักๆ คือ 1.เรื่องระยะเวลาซึ่ง ครม.ก็ต่อเวลาไปเรื่อยๆ 2.เรื่องการรับผิดของเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมทำเกินกว่าเหตุจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ โดยมีศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบ คำถามคือมีประสิทธิภาพแค่ไหน 3.หากมีการเลือกปฏิบัติ ใครเป็นคนตรวจสอบ ตัวละครที่หายไปจากบริบทของไทย เช่นการตรวจสอบโดยรัฐสภาทำได้แค่ไหน เห็นได้ชัดว่าฝ่ายค้านไม่มีบทบาทอะไรมากนักนอกจากขยายประเด็น องค์กรอิสระต่างๆ หายไปไหน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เงียบหายไป ..กฎหมายฉุกเฉินถือเป็นยาแรง ในต่างประเทศอาจมีกรณีที่รัฐบาลประกาศกฎหมายออกมาก่อนแล้วค่อยไปผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือออกกฎหมายใหม่เป็น พ.ร.บ.โควิดอย่างที่พบในสหราชอาณาจักร ซึ่งใช้เวลาพิจารณาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ขณะที่บ้านเราผ่านมาปีหนึ่งแล้วก็ยังไม่มี ทั้งนี้ ยังพบว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.และ พ.ร.ก. นั้นก็มีความแตกต่างกันในเชิงบังคับใช้ด้วย

“พ.ร.บ.โรคติดต่อมีเจตนารมณ์โดยเฉพาะ หากเราใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คนนำคือกระทรวงสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกแบบมาเพื่อความมั่นคง คนนำจึงเป็นสายทหาร หรือสายปกครอง” ดร.พัชร์กล่าว

จากปล้นปืนถึงโควิด ชายแดนใต้ ในเงื้อมเงากฎหมายฉุกเฉิน ‘ซ้อนกัน 2 ฉบับ’

อีกประเด็นน่าร่วมกันขบคิดอย่างยิ่งคือข้อมูลจาก พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งบอกเล่าว่าตอนนี้ในภาคใต้ มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 63 ครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 15 ปี 9 เดือนแล้วไม่มีการเปลี่ยนนโยบายใดๆ รวมทั้งสถานการณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับร้ายแรงที่ต่างจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับโควิด-19 โดยเป็นการใช้เพื่อทดแทนกฎอัยการศึกช่วงปี 2548 เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในปี 2547 เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ก่อนจะโดนรัฐประหารปี 2549 กฎอัยการศึกจึงยังไม่ได้ถูกยกเลิกอย่างจริงจัง และเมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกประกาศใช้หลังร่างขึ้นเป็นครั้งแรกก็ใช้มาอย่างยาวนาน เท่ากับว่าสามจังหวัดภาคใต้มีกฎหมายฉุกเฉินซ้อนกันสองฉบับ

“หลายๆ ครั้งจะพบว่า พัฒนาการของการใช้อำนาจของกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตรวจสอบได้ยากขึ้นเป็นลำดับ ระยะแรกๆ จะเห็นการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมแบบเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น หากเข้าไปเยี่ยมหรือขอพบ จะเห็นบาดแผล ร่องรอย วิธีการแรกๆ ที่ใช้คือจะพาบุคคลที่ถูกจับขึ้นรถกระบะมาให้เห็นว่ายังไม่หายไปไหน แล้วจะถูกห้ามเยี่ยมสามวัน เห็นบุคคลนั้นยืนอยู่บนกระบะ พ่อแม่พี่น้องที่ขอเยี่ยมหรือดุอาว์ หรือคือการให้พร เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมีการพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎห้ามเยี่ยมสามวัน เมื่อได้มา ทุกคนก็ได้เยี่ยมในวันแรก”

ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน การมีกฎหมายซ้อนกันหลายฉบับ สะท้อนความแปลกประหลาดในการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ส่วนกลาง ตั้งแต่ยุค คสช.เกิดการทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้จากการนำมาปรับทัศนคติหรือการเชิญตัว 6 ปี 10 เดือนเราอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมาตลอด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติแต่เราบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เสมือนเป็นปกติ หลังจากหนึ่งปีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วง 1 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังประกาศเมื่อ 25 มีนาคม 2563 ช่วงแรกงดเว้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม

ต่อมามีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลจึงพยายามกลับไปใช้เกณฑ์กฎหมายชุมนุม ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ปัญหาคือเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็มีการดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแทรกเข้ามา พื้นที่กรุงเทพฯ จึงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิดและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงประกาศใช้พร้อมกัน โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่นและสร้างความสับสนพอสมควร

ทนายพูนสุขยกตัวอย่างกรณีวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาบริเวณทำเนียบรัฐบาล กรณีหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ไปชุมนุมตั้งหมู่บ้าน และโดนสลายการชุมนุม

“จะเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรงและใช้เสรีภาพในการชุมนุม แต่ปัญหาคือในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดสิทธิในการชุมนุมได้ แต่คำถามคือเราอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างได้สัดส่วนหรือเปล่า จะพบว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เลยไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการสลายชุมนุมหรือหลักการการใช้กำลังอื่นๆ การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมอาจใช้ความรุนแรงทั้งขว้างหิน ขว้างขวดน้ำ เจ้าหน้าที่ต้องจัดการเฉพาะบุคคลนั้นไม่ใช่มองว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในฐานะทนาย ช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็ทำงานยากลำยาก เช่น มีผู้ถูกนำตัวไปรับทราบที่ ตชด. การที่ตำรวจออกระเบียบ อ้างระเบียบที่จริงๆ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ว่าจะนำไปควบคุมตัวที่ไหนก็ได้ ผู้ถูกคดี จึงสุ่มเสี่ยงจะถูกอุ้มหาย เพราะการคุมตัวที่ ตชด.ทำให้ทนายความเข้าถึงลำบากมาก ทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมายนี้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังตัดอำนาจศาลปกครองไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อผู้เสียหายอย่างยิ่ง”

เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปี 63 ที่ส่งผลผูกพันเชื่อมโยงมาจนถึง พ.ศ.นี้ ที่โควิดยังอยู่ และการละเมิดสิทธิมนุษชนก็ยังอยู่ ไม่แยกจากกันไปไหน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image