สุทธิพงษ์ จุลเจริญ นำ พช.เดินหน้า ‘โคก หนอง นา-ผ้าไทย’ หนุนคนไทยพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ นำ พช.เดินหน้า ‘โคก หนอง นา-ผ้าไทย’ หนุนคนไทยพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
อธิบดี พช.และภาพวาดฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 10 พร้อมด้วยแปลงจำลอง “โคก หนอง นา โมเดล”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อในโมงยามที่คนไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ซัดเป็นระลอก ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วยาวมาถึงปีนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง และมีพระราชประสงค์จะช่วยให้ประชาชนคนไทยสามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งในโครงการที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

โครงการนี้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี พช. ที่น้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข สามารถพัฒนากระบวนการทำงานจากหน่วยเล็กระดับครัวเรือนไปสู่การบริหารจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

นอกจาก “โคก หนอง นา โมเดล” ยังมีเรื่องการอนุรักษ์และส่งเสริม “ผ้าไทย” ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ พช.ขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ในยุคที่โควิด-19 ยังไม่ห่างหายจากสังคมไทยไปง่ายๆ

ลงพื้นที่ดูงานกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย จ.สกลนคร เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาผ้าไทย

ลุย ‘โคก หนอง นา โมเดล’ สู้โควิด

“เรื่องใหญ่ของการขับเคลื่อนงานที่รัฐบาลมอบหมายให้ พช.รับผิดชอบคือ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการดูแลตัวเองและครอบครัวได้ รวมถึงมีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง

“เมื่อเป้าหมายหลักอยู่ตรงนั้น เราจึงพยายามขับเคลื่อนกระบวนงานผ่านโครงการต่างๆ ที่เป็นเสมือนเครื่องมือทำให้คนตื่นตัว ถ้าดูผิวเผินก็เหมือน พช.ช่วยให้เขาขายของได้ แต่จริงๆ แล้ว เราเน้นสร้างฐานคิดและทัศนคติที่ดีในการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนมากกว่า” อธิบดี พช.ย้ำเป้าหมายการดำเนินงานแต่ละโครงการ

หลายปีมานี้ หนึ่งในโครงการที่ พช.รับผิดชอบและเดินหน้าอย่างเต็มที่ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการที่ พช.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 4,787 ล้านบาท ให้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมทั่วไทย 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากรากฐานสังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรม เป็นการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม เน้นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ

ไม่เพียงให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและชุมชนด้วยอีกทาง ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกรในท้องถิ่น บัณฑิตจบใหม่ และแรงงานที่เดินทางกลับบ้านเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

อธิบดี พช.อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานในโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้เข้าใจคร่าวๆ ว่า เริ่มจากการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ แล้วค่อยกลับไปทำที่บ้าน ซึ่งในการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติจะมีเครือข่ายเชื่อมถึงกัน เพื่อให้คำปรึกษาระหว่างกันได้

“โคก หนอง นา โมเดล” น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้มาเป็นแนวทาง แล้วพี่น้องชาวไทยก็โชคดีอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการชัดเจนว่าจะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ในการทำให้ราษฎรมีความสุข

“พระองค์พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ หลายภาพ และทรงลงมือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ทั้งหมดเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นพลังให้ทุกภาคส่วนเครือข่ายได้ช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ไปสู่วิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคน”

“โคก หนอง นา โมเดล” ยังเกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างใกล้ชิด ที่เห็นได้ชัดก็เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ หรือการปลูกไม้ต่างๆ ที่สามารถเก็บพืชผลกินได้ตลอดทั้งปี เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” แก่พสกนิกร มาขยายผลต่อยอดใน “โคก หนอง นา โมเดล” ได้อย่างสอดคล้องลงตัว

แม้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับโควิด-19 แต่อธิบดี พช.ก็บอกว่า “โคก หนอง นา โมเดล” สามารถเดินหน้าได้อย่างดี แม้จะติดขัดบ้าง แต่เมื่อพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพในทิศทางเดียวกันแล้ว ก็ทำให้การปฏิบัติงานราบรื่นขึ้น

สุทธิพงษ์ขณะลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น “โคก หนอง นา โมเดล”

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ให้ความสนใจมากขึ้น ทั้งในแง่การนำพื้นที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเป็นบุคลากรในโครงการ เห็นได้จากการเปิดรับสมัครลูกจ้างเหมาบริการ ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 9,188 อัตรา ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินเดือน 9,000 บาท นับจากวันที่จ้างจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ก็มีผู้สนใจสมัครกว่า 29,000 ราย

ปี 2564 นั้น อธิบดี พช.กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า “โคก หนอง นา โมเดล” จะไปต่อได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิมแน่นอน โดยเฉพาะจำนวนครัวเรือนต้นแบบที่เดิมมีเกือบ 25,000 ครัวเรือน ก็จะขึ้นไปแตะ 30,000 ครัวเรือน ซึ่ง พช.ตั้งเป้าให้ครัวเรือนเหล่านี้เป็นศูนย์เรียนรู้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อกระจายองค์ความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้พี่น้องประชาชนได้นำไปดำเนินการ

ความสำเร็จของ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ปรากฏชัด ยังทำให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีที่ดินจำนวนมากอยู่ในครอบครอง ติดต่อมาหา พช.เพื่อนำที่ดินดังกล่าวไปทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้ยากไร้

พช.ยังลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในการดำเนินโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองได้หลังจากพ้นโทษ ขณะนี้มีผู้เข้าร่วม 50 คน เป็นลูกจ้างในโครงการ 45 คน และเป็นผู้นำที่ดินมาเข้าโครงการ อีก 5 คน

‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’

อีกหนึ่งโครงการที่ พช.รุกเต็มสูบ โดยผนึกกำลังกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งเป็นการสานต่อพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยด้านการทอผ้า และพัฒนาให้เป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้

อธิบดีสุทธิพงษ์เล่าว่า โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกจังหวัด เพราะผ้าไทยคือ “ของดี” ที่แต่ละพื้นถิ่นส่งต่อองค์ความรู้กันมารุ่นสู่รุ่น และเมื่อกระแสตอบรับดี พช.จึงนำเสนอประเด็นการส่งเสริมผ้าไทยต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

กระทั่งออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่องมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ให้ข้าราชการสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน

ความสวยงามของผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี หนุนให้ยอดการจำหน่ายผ้าไทยระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2563 มีมูลค่ากว่า 8,300 ล้านบาท ซึ่งถ้าคำนวณเม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมผ้าไทยตลอดปีที่ผ่านมาก็แตะหลักหลายหมื่นล้านบาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับโควิด-19

นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งของปวงชนชาวไทย เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นสานต่อภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

อธิบดี พช.ขยายความถึงพระราชกรณียกิจเรื่องผ้าไทยในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ว่า พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนกลุ่มผ้าทอในหลายจังหวัด เพื่อทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ ทรงให้คำแนะนำเรื่องลวดลาย สีสัน และความประณีต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งยังทรงเน้นให้ใช้สีธรรมชาติ ซึ่งดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ยังมีพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย สนุกกับการเลือกสรรผ้าไทยไว้สวมใส่ในทุกโอกาส และพระราชทานหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022” ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทยและแนวโน้มกระแสแฟชั่นระดับโลกในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อช่างทอ นักออกแบบ และผู้เกี่ยวข้องทุกสาขา

พระองค์ยังพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่ชาวไทย เป็นของขวัญปีใหม่ 2564 เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาลายผ้า และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดย พช.ได้น้อมนำพระราชดำริเรื่องผ้าไทยมาดำเนินการ รวมทั้งจัดประกวดลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งจัดประกวดทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เป็นการกระตุ้นให้วงการผ้าไทยคึกคัก สอดรับพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

ลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

“ทันทีที่มีลายผ้าพระราชทาน ก็เกิดปรากฏการณ์คนเข้าคิวรอซื้อ เพราะใครๆ ก็อยากสวมใส่ ซึ่งในช่วง 1-2 เดือน หลังจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานลายผ้า พบว่า ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านแล้วกว่า 23 ล้านบาท

“เพราะฉะนั้น ผ้าไทยก็จะมีพัฒนาการขึ้น มีลวดลายใหม่ๆ และมีการตัดเย็บที่สวยงามประณีตมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้สีธรรมชาติในกระบวนการผลิตผ้าไทยยังเชื่อมโยงกับ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ได้เป็นอย่างดี เพราะพืชพันธุ์ต่างๆ ที่ให้สีสัน ก็สามารถปลูกได้หมดใน โคก หนอง นา โมเดล” อธิบดี พช.บอก

นอกจาก “โคก หนอง นา โมเดล” และเรื่องผ้าไทยแล้ว ในปี 2564 พช.ยังมีอีกหลายภารกิจที่ต้องเดินหน้า

อาทิ โครงการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เช่น โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อให้คนและช้างป่าได้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เกิดเป็นชุมชนนำร่อง “หมู่บ้านคชานุรักษ์” รวมทั้ง โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพื้นที่บ้านไล่โว่-สาละวะ อำเภอสังขละบุรี ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณช่วยเหลือชาวบ้านด้านสาธารณสุข การศึกษา คมนาคม การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image