กรมชลประทานย้ำวางมาตรการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนพ.ค.นี้

กรมชลประทาน เดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 64 เต็มพิกัด วางมาตรการเชิงป้องกัน กำหนดพื้นที่   กำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ ลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะสิ้นสุดฤดูแล้ง ก่อนจะปรับเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2564 ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งติดตามสภาพอากาศปัจจุบันและนำสถิติปริมาณฝนในปีที่ผ่านมา มาวิเคราะห์เปรียบเทียบในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น  พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเน้นย้ำให้ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งให้เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมไปถึงเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้สามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำหลากได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากมาตรการเตรียมความพร้อมดังกล่าวแล้ว กรมชลประทาน ยังได้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2564 ด้วยการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน บริหารจัดการน้ำโดยใช้น้ำท่าที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ในลุ่มน้ำยม สามารถตัดยอดน้ำหลากจากทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก(RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์  ใช้อาคารชลประทานในการจัดการจลาจลน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานระดับจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image