‘ศิริกัญญา’ อัดรัฐไร้ทิศทางกู้ศก. เลี่ยงบาลีจ่ายเยียวยา ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ปชช.ลำบาก

“ศิริกัญญา” อัดรัฐ ไร้ทิศทางกู้ศก. ชี้ฝันเฟื่อง เงินฝากคนไทย ดันจีดีพีโต 4%  ถามทำไม ดึงคนรวย ทวนความจำโครงสร้าง รวยกระจุก เศรษฐีเงินล้าน ถึงจะมีเงินฝากทะลุล้าน 

วันนี้ (28 เม.ย.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง [ผ่านไปเกือบเดือนยังไร้วี่แววเยียวยา ไร้ทิศทางกอบกู้เศรษฐกิจ สุพัฒนพงษ์เสนอมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย “รักชาติ อย่าหยุดช็อป”] ผ่านแฟนเพจส่วนตัว โดยระบุว่า

“หลังจากการกลับมาระบาดของโควิดในรอบที่ 3 มาเกือบ 1 เดือนแล้ว รอบนี้เหมือนจะเป็นรอบที่หนักที่สุดที่ประเทศไทยเคยเจอมา รัฐบาลก็ยังแสดงทัศนคติไร้ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ประการสำคัญคือไม่ยอมออกคำสั่งให้มีการล็อกดาวน์ แต่ใช้วิธีโยนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งไปประกาศมาตรการต่าง ๆ กันเอง ผลที่ปรากฏ คือหลายพื้นที่เริ่มล็อกดาวน์ บางแห่งประกาศเคอร์ฟิว ในขณะที่รัฐบาลโดย ศบค.กลับเลี่ยงบาลีเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาก็เท่านั้น

ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังออกมาให้สัมภาษณ์ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาใดๆ

แถมยังตอบอย่างอารมณ์ดี “คิดว่าหากคนไทยช่วยกันก็ยังมีโอกาสที่ GDP ของไทยจะโตขึ้น 4% ได้ เพราะในตอนนี้พบว่าบัญชีเงินฝากของคนไทยสูงขึ้นหลายแสนล้านบาท ดังนั้นหากต้องการให้ GDP สูงขึ้น 4% ก็ขอให้ช่วยนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งหากนำจำนวนเงินฝากจำนวน 5-6 แสนล้านบาท ออกมาใช้ จะเปลี่ยน GDP ได้ถึง 3% หรือหากนำเงินฝากมาใช้เพียงครึ่งหนึ่งก็จะช่วยได้ขยับ GDP ถึง 1% ทั้งนี้ จากการประเมินประเทศไทยจะมี GDP 2.7 % แต่หากได้คนไทย คนรักประเทศ รักชาติ มาช่วยกันใช้จ่าย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือคนที่ด้อยโอกาสกว่า ทุกอย่างก็จะกลับมาได้”

Advertisement

อยากจะฝากไปถึงท่านรองนายกฯ ว่า ขอให้เลิกฝันเฟื่องถึงตัวเลขจีดีพี 4% นั่นได้แล้ว เพราะหลังเกิดการระบาดระลอก 3 นี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารยังประมาณการจีดีพีของประเทศไว้แค่ 1.8% – 2.2% ถึงแม้ว่าท่านจะเรียกร้องให้คนรักชาตินำเงินฝากออกมาใช้จ่ายก็ตาม แต่อาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่ท่านรองนายกฯได้เสนอว่า แค่นำเงินฝาก จำนวน 5-6 แสนล้านเศรษฐกิจก็จะกลับมาโตเพิ่ม 3%

ข้อมูลจากบัญชีประชาชาติที่สภาพัฒน์ได้รวบรวมเอาไว้ พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการออมของครัวเรือนนั้นอยู่ที่ราว 40% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่การออมส่วนใหญ่หรือราว 60% นั้นเป็นของบริษัทเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีเอกชนลงทุนต่ำ รัฐบาลต้องกระตุ้นให้บริษัทนำเงินมาลงทุนถึงจะเป็นการแก้ปัญหาเงินออมล้นธนาคารที่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาแทบไม่เห็นมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชนในประเทศ

ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ก็กระจุกตัวมาก เงินฝากที่เพิ่มขึ้นหลายแสนล้านของท่านรองนายกฯนั้นเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านขึ้นไป ขอเรียกว่า “เศรษฐีเงินล้าน” เศรษฐีเงินล้านนี้มีอยู่เพียง 2% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่กินสัดส่วนเงินฝากไปแล้วเกือบ 80% ของยอดเงินฝากทั้งหมด เรียกได้มีคนแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นที่สามารถแคะกระปุกเงินฝากมาช้อปปิ้งใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั้งประเทศมีเงินออมอื้อซ่าแต่อย่างใด

ดังนั้น แทนที่จะกระตุ้นให้เศรษฐีเงินล้านมาใช้จ่าย ทำไมรัฐบาลไม่ยืมเงินเศรษฐีพวกนี้มาลงทุนแทน ให้รัฐเป็นผู้ใช้เงินแทนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการออกพันธบัตร โดยให้ดอกเบี้ยไม่ต้องแพงมากก็จูงใจกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแล้ว แต่ลืมไปว่ารอบที่แล้วกู้มา 1 ล้านล้าน ยังใช้ไม่หมดเลย

ที่น่าเสียใจคือ โควิดระบาดระลอกใหม่นี้มาร่วมเดือน ยังไม่ได้ยินคำว่าเยียวยาหลุดออกจากปากรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ พูดถึงแต่ “คนละครึ่ง เฟส 3” ที่เหมือนว่ากว่าจะเริ่มก็ตั้งเดือนมิถุนายน

ยังไม่ได้คิดบัญชีรวมกับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากประกาศคำสั่งของรัฐบาล เจ้าประจำที่ถูกปิดทุกระลอก อย่างร้านนวด ร้านอาหาร ร้านสัก ฟิตเนส ผับ บาร์ (ที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข) พวกเขาไม่เคยได้รับการชดเชยโดยตรงใดๆ นอกเสียจากออกมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) กลายเป็นว่าผู้ประกอบการต้องมาเป็นหนี้จากความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ ลองถามตัวเองดูว่า ตั้งแต่โควิดระบาดมาเป็นเวลา 1 ปีนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการปิดร้านรวงต่าง ๆ มาแล้วถึง 3 ครั้ง ท่านได้เคยช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยโดยที่ไม่ต้องให้พวกเขาเป็นหนี้เพิ่มบ้างแล้วหรือยัง?

ถ้าอนุทินเป็น #ทองแท้ไม่กลัวไฟ สุพัฒนพงษ์คงเป็น #ทองไม่รู้ร้อน เข้าคิวให้ประชาชนล่ารายชื่อคนต่อไปเป็นแน่ ขอร้องเถอะค่ะ แค่นี้ประชาชนก็ลำบากมากพออยู่แล้ว” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image