เศรษฐศาสตร์ ความจน โลก คน และ ‘เรื่องธรรมดา’ 5 เล่ม ‘สะกิด’ กรอบคิดในวิกฤตแห่งศตวรรษ

เศรษฐศาสตร์ ความจน โลก คน และ ‘เรื่องธรรมดา’ 5 เล่ม ‘สะกิด’ กรอบคิดในวิกฤตแห่งศตวรรษ

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นำพาโรคระบาดแห่งศตวรรษมาจดจารไว้ในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

วิกฤตที่ตามมา ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพ หากแต่รวมถึงปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนชีวิต สังคม ประเทศ และโลกใบนี้ นั่นคือ เศรษฐกิจการค้า

แม้คำว่า ‘เศรษฐศาสตร์’ จะมอบความรู้สึกเสมือนสิ่งเข้าใจยาก และอยู่ไกลแสนไกลออกไปจากชีวิตจริงของปุถุชน

ทว่า แท้จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่

Advertisement

ต่อไปนี้ คือ 5 เล่มน่าอ่าน ชวนอ่าน และต้องอ่าน เพื่อสบตากับศาสตร์แห่งเศรษฐกิจที่อยู่รายรอบตัวเรา

โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros

ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และมลภาวะเป็นโจทย์ท้าทายที่สุดของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 และอาจจะเป็นศตวรรษสุดท้ายของเราหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที กระนั้น การใช้กำลังเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาระบบนิเวศก็ไม่ใช่ทางออก และการรอคอยให้ระบบทุนนิยมเปลี่ยนแปลงตัวเองก็อาจจะช้าไป

มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ออกแบบธนาคารเพื่อคนจน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ จึงนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ไม่เน้นการสั่งสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล หรือการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ในนาม ‘ธุรกิจเชิงสังคม’ คือ ธุรกิจที่ไม่เน้นความร่ำรวยล้นพ้นเพื่อสร้างโลกที่ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์

Advertisement

ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างสละสลวย เข้าใจง่าย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ผลงานคุณภาพของสำนักพิมพ์คุณภาพ อย่าง ‘มติชน’

‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ ปลายปากกาเจ้าของรางวัลโนเบล

มายาคติมากมายที่ครอบความคิดเราที่มีต่อ ‘ความจน’ และ ‘คนจน’ ว่าคนจนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนจนไม่มีทางเลือก คนจนไม่คิดถึงอนาคต คนจนทำอะไรไม่มีเหตุผล ฯลฯ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนจน ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการมองคนจนจากบนลงล่าง ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเท่าที่ควร

แล้วทำเราจะทำอย่างไรให้คนจนสามารถก้าวผ่านความจนไปได้?

อภิชิต เบเนอร์จี และ เอสแตร์ ดูโฟล สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2019 ที่ได้ลงพื้นที่ไปทำงานกับคนจนทั่วโลก นำงานวิจัยทั้งของพวกเขาเองและของนักวิจัยคนอื่นๆ มาร้อยเรียงเป็นหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ ผ่านการคิดวิเคราะห์ หลักฐานเชิงประจักษ์ และการทดลองที่รัดกุม เพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่เรื่องแรงจูงใจ พฤติกรรม ไปจนถึงการตัดสินใจของคนจนต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการเลือกอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องการออมเงิน และอีกมากมายใน ทุกๆ มิติทางสังคมที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นเรื่องราวทั่วไปที่ทุกคนต้องพบเจอในชีวิต ยิ่งตอกย้ำทำให้เห็นชัดเจนว่า เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คนจนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเงื่อนไขและปัจจัยที่เราต้องเจอนั้นแตกต่างกัน ทำให้เราตัดสินใจต่างกันเท่านั้นเอง

และไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ดำเนินนโยบาย เป็นนักการเมือง หรือเป็นคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจใดเลยก็ตาม บทเรียนจากทั่วโลกโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนี้ จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจวิธีคิด วิธีมองโลกของคนจนมากขึ้น และจะไม่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม คนจนขี้เกียจ โง่จนเจ็บ ไม่มีมายาคติที่บังตาเกี่ยวกับความจนและคนจนอีกต่อไป

เนื้อหาเข้มข้นมากมายอัดแน่นในผลงานแปลของ ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ สำนักพิมพ์ Saltread

ประวัติศาสตร์มีชีวิตของพัฒนาการความคิด ‘เศรษฐศาสตร์’

หากใครเคยคิดว่าไม่มีวันที่ตำราเศรษฐศาสตร์จะอ่านสนุก ต้องขอท้าลองด้วยหนังสือเล่มนี้ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘เศรษฐศาสตร์ : ประวัติศาสตร์มีชีวิตของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์’ ซึ่งไม่มีทั้งกราฟและสมการ แต่มี เพลโต, เช เกวารา, ฟองตีน, จอร์จ โซรอส, วลาดิมีร์, เลนิน และ ดร.สเตรนจ์เลิฟ ร่วมเป็นตัวละคร

ผลงานของ ไนล์ คิชเทนี นักเขียนและอาจารย์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์ สำนักพิมพ์ Bookscape ที่ทลายคอกกั้น นำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กลับคืนสู่สายธารแห่งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็ฟื้นกลับมามีชีวิตและจิตวิญญาณ หนังสือเล่มนี้เปลี่ยน ‘ศาสตร์แห่งความหดหู่และสิ้นหวัง’ ให้กลายเป็น ‘ศาสตร์ที่ใช้สมองอันเยือกเย็น หัวใจที่อบอุ่น และสายตาที่พร้อมวิจารณ์ตัวเอง’ ผ่านการเรียนรู้พัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์โดยนักคิดคนสำคัญ ภายใต้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแต่ละยุคสมัย

จากยุคกรีก-โรมัน ยุคเศรษฐกิจของพระเจ้า ยุคพาณิชยนิยม ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จนถึงยุคปฏิวัติ ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก ยุคสงครามเย็น ยุคเสรีนิยมใหม่ และยุคแห่งความเหลื่อมล้ำ

จากแนวคิดเศรษฐศาสตร์เขย่าโลกอย่างมือที่มองไม่เห็น ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน การทำลายอย่างสร้างสรรค์ ทางเลือกสาธารณะ การคาดการณ์ตามเหตุผล จนถึงความล้มเหลวของตลาด ทฤษฎีชนชั้นเจ้าสำราญ ทฤษฎีพึ่งพิง การออกแบบตลาด เศรษฐศาสตร์แนวสตรีนิยม และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เรื่องราวรอบโลกเหล่านั้นถูกเล่าอย่างเข้าใจง่ายแบบไม่ต้องรู้เศรษฐศาสตร์มาก่อน พร้อมแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์และเรื่องลับของเหล่านักคิดที่จะทำให้ตื่นตะลึงและอดอมยิ้มไม่ได้

ออกแบบเพื่อเท่าเทียม : ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

โค้กซีโร่เกี่ยวอะไรกับการเชิดชูอัตลักษณ์เพศชาย

คำประกาศรับสมัครงานแบบใดที่จะไม่เป็นการกีดกันทางเพศ

ภาพบุคคลบนผนังห้องประชุมช่วยเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศได้จริงหรือ

เราจะอุดช่องโหว่เรื่อง ‘เด็กชายอ่อนภาษา เด็กหญิงอ่อนคณิตศาสตร์’ ได้อย่างไร

ไอริส โบห์เน็ต นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพาคุณไปสำรวจ ‘อคติทางเพศ’ ที่แฝงอยู่ใต้โต๊ะทำงาน ซ่อนอยู่หลังห้องเรียน พรางตัวอยู่ในครอบครัว หรือกระทั่งฝังรากลึกในสมองของเราโดยไม่รู้ตัว พร้อมทำความรู้จักวิธีลดความเหลื่อมล้ำทางเพศด้วยเครื่องมืออย่าง ‘การออกแบบอิงพฤติกรรม’ ผ่านงานวิจัยอ่านสนุกและกรณีศึกษาชวนทึ่งมากมาย เช่น กลยุทธ์ของกูเกิลที่ช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานหญิง การยกเครื่องข้อสอบ SAT เพื่อให้เด็กหญิงทำข้อสอบได้ทัดเทียมกับเด็กชาย อิทธิพลของฮอร์โมนผู้หญิงในตลาดหุ้นวอลล์สตรีต ฯลฯ

ความรู้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในหนังสือเล่มนี้ที่แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์ สำนักพิมพ์ Bookscape

จะช่วย ‘สะกิด’ ให้เราค่อยๆ ขยับกรอบคิดและสลัดอคติทางเพศที่ครอบงำ ทั้งยังเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำ ลงมือทำได้รวดเร็ว และประยุกต์ใช้ได้หลากหลายบริบท เพื่อสร้าง ‘สนามแข่งที่เท่าเทียม’ ที่เอื้อให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเปลี่ยนสังคมให้น่าอยู่ขึ้น โดยไม่ต้องถูกจำกัดด้วยเพศสภาพอีกต่อไป

‘เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน’ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 33

หลายคนให้ความสำคัญกับ ‘เรื่องใหญ่ๆ’ ในชีวิต เพราะคิดว่าเป็น ‘เรื่องไม่ธรรมดา’ ที่ควรค่าแก่ความสนใจ จนอาจลืมไปว่าชีวิตของเรานั้น ต้องเจอ ‘เรื่องเล็กๆ’ ที่เป็น ‘เรื่องธรรมดา’ ทุกวัน แค่พลิกมุมคิด บางทีเรื่องธรรมดาอาจกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาไปก็ได้

‘หนุ่มเมืองจันท์’ และฟาสต์ฟู้ดธุรกิจลำดับที่ 33 มาพร้อมเรื่องราวสุดแสนธรรมดาจากการดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นโซเชียลมีเดีย สนทนากับผู้คน จนถึงการเล่นคลับเฮาส์ที่ผ่านการตกตะกอนทางความคิดมาเล่าสู่กันฟัง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องไม่ธรรมดาที่ผู้เขียนกลายเป็นหนึ่งในตัวละครเสียเอง

 และเมื่อผู้เขียนเป็นคนแนะนำหนังสือตัวเอง หนุ่มเมืองจันท์ ระบุไว้บนหน้ากระดาษของ ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ตอนหนึ่งว่า

‘ถ้าหนังสือชุดนี้เป็นการเดินทาง ก็คงเป็นการเดินทางไกลที่ยังไม่รู้ว่าจุดหมายจะอยู่ที่ไหน

พราะตอนที่เดินก้าวแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะยาวไกลขนาดนี้

เดินไปเรื่อยๆ ยิ่งเดินยิ่งไกล

แต่มีความสุขกับระหว่างทางมาก และคิดว่าคนที่ร่วมทางก็คงมีความสุขด้วย

เป็น เวลา ที่มีความหมายจริงๆ

หนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจของผมทั้ง 32 เล่ม ส่วนใหญ่จะพูดถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของผู้คน

ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่หอมหวาน

ไม่มีใครไม่อยากประสบความสำเร็จ

เรื่องราวความสำเร็จ วิธีคิด หรือที่มาของคนที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากเรียนรู้

เช่นเดียวกับ ความล้มเหลว

ไม่มีใครอยากล้มเหลว บทเรียนจากความล้มเหลวจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากศึกษา

เพื่อป้องกันไม่ให้เราเดินไปสู่หุบเหวของความล้มเหลว

2 เรื่องนี้เล่ากี่ครั้งก็น่าสนใจ

แต่เมื่อตั้งคำถามว่า เวลา ที่ ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว เกิดขึ้นกับตัวเรานั้น

เป็น เวลา ส่วนใหญ่ของเราหรือเปล่า

คำตอบที่ได้ก็คือ ถ้าเทียบกับเวลาในชีวิตทั้งหมด

เจ้าความสำเร็จและความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่เราจะรู้สึกมากๆ ระดับจำฝังใจจะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง

เราใช้เวลากับ 2 เรื่องนี้น้อยมาก

แล้วอะไรที่กัดกินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา

ผมคิด-คิด-คิด

แฮ่ม…ประมาณ 1 นาที

คำตอบก็คือ เรื่องธรรมดา ที่แสนจะเรียบง่าย

นอนหลับ ตื่นนอน เข้าห้องน้ำ กินข้าว ดูหนัง อ่านหนังสือ ทำงาน คุยกับคน ออกกำลังกาย ฯลฯ

การใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแบบนี้ที่เรามักมองผ่าน

คุ้นเคยจนไม่เห็นค่า

แต่ถ้าเราลองมองเรื่องราวต่างๆ ที่สุดแสนจะธรรมดาในมุมใหม่

ทุกเรื่องล้วนมีมุมคิดและคุณค่า’

MATICHON ReadAlert! อ่านเอาเรื่อง

เทศกาลช้อปหนังสือออนไลน์ ที่ www.matichonbook.com
เอาใจนักอ่าน ด้วยการยกหนังสือใหม่ หนังสือไฮไลต์
พร้อมโปรโมชั่นโดนใจ และของสมนาคุณสุดเซอร์ไพรส์
ส่งไวถึงมือคุณ

ถึงแม้งานสัปดาห์หนังสือฯ จะเลื่อน
แต่คนรักหนังสือไม่ต้องเศร้า

สั่งซื้อ ONLINE ตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 พฤษภาคมนี้ ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image