Livable Japan ออกแบบ‘เมือง’ดีไซน์‘ชีวิต’ สู่ญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน

เป็นประเด็นที่ได้รับความชื่นชมเสมอมา ว่าคนญี่ปุ่นนั้น ช่างมีระเบียบและวินัย โดยนำไปสู่คำถามที่ว่า เพราะเหตุใด ผู้คน จนถึง ‘บ้านเมือง’ จึงมีระเบียบเรียบร้อย สะดวกสบาย ได้รับการ ‘ออกแบบ’ อย่าง ‘ใส่ใจ’ ไว้ในแทบทุกตารางนิ้ว

Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง ผลงาน ปริพนธ์ นำพบสันติ โดย สำนักพิมพ์ broccoli คือหน้ากระดาษที่จะพาให้ผู้อ่านเดินทางไปถึงคำตอบ โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เจ้าตัวได้ร่วมพูดคุยในรายการ Book Talk ผ่านเฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์มติชน เปิดประเด็นจากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น กระทั่งถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้อย่างเข้าใจง่าย ทว่า มากมายด้วยข้อมูลหนักแน่น

ต่อไปนี้ คือบางช่วงบางตอนของบทสนทนาที่สะกิดให้ต้องหาผลงานมาเปิดอ่านทุกบรรทัด

Advertisement

ออกแบบเมือง ดีไซน์‘ชีวิต’ โครงสร้างดี คนก็ดีตาม
“มีหลายเรื่องที่น่าสนใจในญี่ปุ่น ที่มาในการได้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือผมมีจังหวะที่ดี ตอนนั้น
ที่ไปญี่ปุ่นครั้งแรก เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ใสๆ เลยครับ และผมก็โชคดีที่เดินทางไปแล้วเจอเรื่องราวดีๆ จากนั้นก็มีโอกาสได้กลับไปบ่อยๆ ทุกปี กลายเป็นว่าเรามีความชอบเป็นทุนเดิม พอเราชอบเราก็เกิดการโฟกัส สังเกตสิ่งต่างๆ สิ่งแวดล้อม จากนั้นพอโตขึ้นเราก็เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมของเมืองที่อยู่หลังจากสังเกตมากขึ้น ก็นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไม ?” ปริพนธ์เกริ่นนำถึงความสนใจต่อประเทศญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่เป็น ‘เฟรชชี่’ ในรั้วมหาวิทยาลัย

คำถามที่ฟังดูไม่ซับซ้อน อย่าง ‘ทำไมฟุตปาธญี่ปุ่นเดินสบายจัง ทำไมทางม้าลายมันเดินข้ามง่าย’ นำไปสู่การอยากหาคำตอบ ค้นคว้าข้อมูล และเรียบเรียง ลงรายละเอียด จนกลายเป็นหนังสือเล่มนี้มา
แน่นอนว่า ‘จิตสำนึก’ คือคำตอบที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง คือ ‘ภาพจำ’ ที่คนไทยมีต่อคนญี่ปุ่น ว่าเป็นมนุษย์ที่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปริพนธ์ มีคำตอบที่เป็น ‘รูปธรรม’ ยิ่งไปกว่านั้น นั้นคือเหตุผลด้าน ‘ดีไซน์’ หรือกลไกการออกแบบซึ่งส่งผลต่อ ‘การใช้ชีวิต’

“สำหรับผม ผมว่าคนญี่ปุ่นเขาก็เหมือนคนไทยเรานี่แหละ จริงอยู่ที่เรื่องจิตสำนึกเขาก็ต้องมีมาก แต่มันก็เกี่ยวข้องกับกลไกการออกแบบด้วย อย่างคนไทยส่วนมาก ไปที่ประเทศไหนก็สามารถปฏิบัติตัวได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ แต่พอคนไทยกลับมาที่บ้านตัวเองกลับทำไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันมาจากดีไซน์ของการใช้ชีวิตที่ผ่านมาจากการออกแบบเมืองส่วนหนึ่ง ดังนั้น ในญี่ปุ่นที่เขาต้องปฏิบัติตามก็เพราะการออกแบบเมืองมาแล้วที่มันบังคับให้ต้องทำโดยปริยาย เราอยู่ภายใต้โครงสร้าง ถ้าโครงสร้างมันดีคนเราก็มีแนวโน้มที่จะดีตาม”

Advertisement

สแกนฟุตปาธ ส่องถนน‘รูพรุน’ ที่มากประสิทธิภาพ
เมื่อพูดถึง ‘โครงสร้าง’ ปริพนธ์ บอกด้วยว่า ต้องคุยใน ‘ภาพใหญ่’ ก่อนค่อยๆ โฟกัสถึงสิ่งเล็กๆ ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องเล็ก เช่น ถนน ฟุตปาธ และทางม้าลาย ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต

“อยากชวนให้คิดเรื่องฟุตปาธทางม้าลาย เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องเดียวกัน ในประเทศไทยเรา เรื่องฟุตปาธเราก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าปัญหาเยอะมาก มันเรื้อรังมานานแล้ว ในทางกลับกันฟุตปาธที่ญี่ปุ่นเขาทำไว้
ดีมาก และเบื้องหลังทั้งด้านแนวคิด ด้านกฎหมาย ด้านวิศวกรรม หลายเรื่องเต็มไปหมด ถ้าเอามาปรับใช้กับบ้านเรา มันจะเป็นการก้าวกระโดดเลย เรื่องพวกนี้ต้องคุยเป็นภาพใหญ่ เชิงโครงสร้าง ถ้าเราไม่เปลี่ยนโครงสร้างก็คงยาก ก็ต้องย้อนกลับมาที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คนที่ใช้จริงๆ ต้องมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิด”

นอกจากนี้ ประเด็นของท้องถนนในญี่ปุ่น ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นับแต่เจ้าตัวมีข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อฝนตก น้ำไม่เจิ่งนอง ไม่กระเด็น ทั้งยังไม่ค่อยมีเสียงรบกวนใดๆ

“ที่ย่านสถานีโตเกียวสเตชั่น ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมือง ตอนนั้นฝนก็ตก ผมสังเกตเห็นว่าทำไมรถแล่นแล้วน้ำไม่ค่อยกระเด็น ทำไมเสียงมันเงียบกว่าปกติ เลยลองมาดูพื้นผิวถนน และตามข้างทางซึ่งมันจะพอสังเกตได้ ทั้งเสียง ปริมาณน้ำ ผมเอาเรื่องนี้มาศึกษาต่อและเรียบเรียงขึ้น ซึ่งในหนังสือจะบอกเล่าถึงถนน
รูพรุนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นถนนที่มีประสิทธิภาพคำว่ารูพรุนในที่นี้คือรูที่เล็กมากๆ ไม่ใช่รูใหญ่ๆ แบบหลุมในประเทศไทยบ้านเรานะครับ และต้องบอกว่าที่ญี่ปุ่นตอนนี้ถนนสายสำคัญ เขาทยอยเปลี่ยนใหม่เป็นถนนที่มีรูเล็กๆ แบบนี้ เพราะถนนแบบนี้มันจะช่วยเวลารถแล่น ทำให้เสียงมันเล็ดลอดลงไปได้ เวลาที่ขับรถผ่านเรา
จะรู้สึกว่าเหมือนเสียงมันเบา และเวลาฝนตกน้ำมันก็สามารถไหลลงใต้ดินได้ พื้นถนนเวลาขับรถก็จะไม่ลื่น” ปริพนธ์อธิบาย

เมื่อการ‘เดิน’คือเรื่องของคนส่วนใหญ่
ต่อคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับฟุตปาธ หรือทางเท้าอย่างมาก คำตอบง่ายๆ แต่อธิบายได้แจ่มชัด ก็คือ การ ‘เดิน’ คือส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนที่นั่น

“คนเราเกิดมาเพื่อเคลื่อนไหวใช่ถูกเคลื่อนย้าย การเดินอยู่คู่กับวิวัฒนาการมนุษย์มากว่าล้านปี เมืองที่เอื้อให้เราเดินอย่างสบายใจอย่างที่ควร จึงกลายเป็นสาเหตุของความสุขที่หลายคนคาดไม่ถึง คนญี่ปุ่นใช้การเดินเป็นหลักในชีวิตประจำวัน เขาเลยต้องทำให้มันรองรับคนได้ทุกรูปแบบ เรื่องฟุตปาธเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ว่าจะรวยจะจนก็สามารถใช้ได้ทุกคน เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถทำให้มันพิเศษขึ้นมาได้ เหมือนว่าญี่ปุ่นเขาให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากเพราะสำคัญต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ

ในหนังสือที่ผมเขียนทุกๆ บท ผมตั้งใจกับมันมาก ชอบทุกบท แต่ถ้าจะให้เลือกบทเดียวที่อยากจะนำเสนอก็คือ โลกกว้างข้างทางเท้า หน้า 251 ผมให้ความสำคัญกับเรื่องฟุตปาธมาก ผมชอบเดิน และมองว่าฟุตปาธเป็นเรื่องพื้นฐานมากของเรื่องเมือง ถ้าพื้นฐานดีมันก็ต่อยอดทำอะไรได้ง่าย”

นอกจากฟุตปาธ ยังมีเรื่องของ ‘ทางม้าลาย’ ที่ผู้เขียนนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าพร้อมภาพประกอบที่ชวนอมยิ้มเบาๆ

“มีตอนหนึ่งที่ยังกระทบมาถึงผมในทุกวันนี้ก็คือความสะอาดของฟุตปาธที่ญี่ปุ่นครั้งนั้นผมไปเจอทางม้าลายขาวสะอาดมากที่นาโกย่า ลงไปนอนยังได้เลยครับ ภาพนี้ผมใส่ไว้ในหนังสือเช่นกัน”

มีส่วนร่วม เชื่อใจรัฐ ‘จัดรูปที่ดิน’ สู่‘ญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน’
บทสนทนาดำเนินมาถึงตรงนี้ ได้เวลามองภาพกว้างใหญ่ไปกว่านั้น นั่นคือ การ ‘จัดรูป’ ที่ดิน ซึ่งต้องใช้ความเชื่อใจในรัฐของตัวเอง

“การจัดรูปที่ดิน มันเหมือนการเอาที่ดินที่มีอยู่แบบสะเปะสะปะ นำมาเปลี่ยนแปลงใหม่
อาจจะมีการเพิ่มถนนเข้าไป ยกตัวอย่าง คือที่ดินของคุณอาจจะน้อยลงแต่ความเจริญมันจะเข้าถึงได้มากขึ้น การทำแบบนี้ทำให้ญี่ปุ่นแทบจะไม่มีซอยตันเลย ซอยจะเชื่อมถึงกันหมด สุดท้ายแล้วในภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น การจัดการขนส่งมวลชนให้เข้าถึง จึงสามารถทำได้ง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน

ปริพนธ์ บอกว่า กว่าจะเป็น ‘ญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน’ การมีส่วนร่วมคือปัจจัยสำคัญ

“ส่วนร่วมของคนที่ใช้จริง ทำให้มันเกิดเป็นญี่ปุ่นปัจจุบัน มันคล้ายๆ เชิงการตลาด ซึ่งต้องทำ Market Research ต้องไปสอบถามผู้บริโภคว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ในญี่ปุ่น การหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เขาจะถามประชาชนผู้ใช้งานก่อนที่จะมีการสร้าง ดูที่พฤติกรรมคนก่อน แต่ประเทศไทยเราหลายๆ ครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นคือสร้างก่อนแล้วค่อยมาถาม ผลก็คือใช้งานไม่ได้เเล้วก็เกิดการรื้อถอน

อย่างเรื่องทางเท้า ญี่ปุ่นมี DPI Japan คือกลุ่มผู้พิการที่รวมตัวกัน กว่า 20-30 ปีมาแล้ว เพื่อเรียกร้องประเด็น สาธารณูปโภค มีการออกความคิดเห็นในฐานะผู้ใช้งานโดยตรง เช่น ทางเดินผู้พิการควรจะเป็นแบบนี้ เพื่อให้งานที่ออกแบบมาสามารถใช้ได้จริง เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก ประชาชนต้องมีส่วนร่วม”

ทุกเมืองมีปัญหา ไม่ว่า‘สมบูรณ์แบบ’แค่ไหน
ปิดท้ายด้วยมุมมองชวนคิด อย่างความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ของเมือง ซึ่ง ปริพนธ์ บอกว่า ไม่ว่าญี่ปุ่นจะสมบูรณ์แบบแค่ไหนในเรื่องการออกแบบเมือง แต่ก็ย่อมมีปัญหาของตัวเองอยู่ดี

“ผมว่าทุกคนที่เคยไปญี่ปุ่นต้องเคยโดนจักรยานเฉี่ยวไม่มากก็น้อย เพราะเขาปั่นกันเร็วมาก แล้วบางที่ก็มีบีบแตร กริ๊งๆ อย่างวัยรุ่นญี่ปุ่น คนหนึ่งเดินคนหนึ่งปั่นจักรยาน ปั่นไปเดินคุยไปบนทางเท้า ซึ่งก็มีความพยายามออกกฎหมายต่างๆ มาควบคุมแต่ก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เพราะมันขัดกับวิถีชีวิต คนญี่ปุ่นอาจจะคุยกันเรื่องนี้บ้างแต่พูดในเชิงมุขตลกมากกว่า อย่างเมืองไทยเองก็ชอบคุยเรื่องมอเตอร์ไซค์ว่าขี่บนทางเท้าแล้วก็บีบแตรใส่เรา

ความพยายามของญี่ปุ่นที่เป็นมา ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบแค่ไหน แต่ก็ย่อมมีปัญหาของมัน เพียงแต่ว่า เมื่อเจอปัญหาแล้ว เมืองนั้นหรือรัฐบาลนั้น หาทางแก้ปัญหาอย่างไร”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image